ใจเขา ใจเรา ! “อนุทิน ชาญวีรกูล” รมว.มหาดไทย เผยเหตุผล ลดเงื่อนไขให้แรงงาน 3 สัญชาติ “กัมพูชา-ลาว-เมียนมา” กลับบ้านสงกรานต์ โดยไม่ต้องทำเรื่องขออนุญาต “เข้า-ออก” ระหว่าง 1 เม.ย.-15 พ.ค.67 แต่ถ้าเกินกำหนด ต้องทำเรื่องขอใหม่ ตามขั้นตอนปกติ
วันที่ 1 เมษายน 2567 นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ให้สัมภาษณ์ที่ กระทรวงมหาดไทย ถึงกรณีมีการออกกฎหมาย ผ่อนผันให้แรงงาน 3 สัญชาติ สามารถกลับประเทศได้ในช่วงเทศกาลสงกรานต์ ว่า
การผ่อนผันตามประกาศกระทรวงข้างต้น เกิดขึ้นเพื่อ ให้เกิดความผ่อนคลาย ลดความกดดันการทำงานของแรงงาน ที่จากบ้านเกิดมาทำงานไทย ด้วยการให้สามารถกลับบ้านไปใช้เวลาในช่วงเทศกาลกับครอบครัว หรือ คนใกล้ชิดที่บ้านเกิดได้ในช่วงเทศกาลสงกรานต์ที่จะถึงนี้ ให้มีความสะดวกสะบายมากยิ่งขึ้น
“เรื่องแบบนี้ก็ต้องใจเขา ใจเรา ขนาดคนไทยเอง พอถึงเทศกาลสงกรานต์ ก็ยังอยากกลับบ้าน แรงงานต่างด้าวก็เหมือนกัน แต่ทั้งนี้ ก็ต้องขึ้นกับการตกลง ระหว่างผู้ประกอบการกับแรงงานด้วย ส่วนภาครัฐมีหน้าที่อำนวยความสะดวกให้” นายอนุทินกล่าว
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 30 มีนาคม ที่ผ่านมา ได้มีประกาศ ราชกิจจานุเบกษา ผ่อนผันแรงงาน 3 สัญชาติ กัมพูชา ลาว และ เมียนมา สามารถเดินทางกลับประเทศต้นทาง เพื่อร่วมงานประเพณีสงกรานต์ พ.ศ. 2567 เริ่ม 1 เมษายน – 15 พฤษภาคม โดยไม่ต้องดำเนินการยื่นคำขออนุญาตอีก แต่หากเดินทางกลับเข้ามาไทยหลังช่วงเวลาที่กำหนด จะถือว่าการอนุญาตให้อยู่ในประเทศไทย ของแรงงานต่างด้าวผู้นั้นเป็นอันสิ้นสุดลง หากประสงค์เดินทางเข้า จะต้องยื่นคำขออนุญาตเพื่อกลับเข้ามาในราชอาณาจักรอีก (Re-Entry Permit)ตามปกติ
สำหรับแรงงาน กัมพูชา ลาว และ เมียนมา ที่ได้รับการผ่อนผันตามประกาศ กระทรวงมหาดไทย ฉบับนี้ มี 3 กลุ่ม ได้แก่
1.ผู้ซึ่งเข้ามาทำงานในประเทศไทยตามบันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือด้านการจัดการจ้างแรงงานระหว่างรัฐบาลไทยกับรัฐบาลกัมพูชา รัฐบาล สปป.ลาว รัฐบาลเมียนมา ซึ่งถึงหนังสือเดินทาง หรือ เอกสารแทนหนังสือเดินทางซึ่งได้รับการตรวจลงตราประเภทคนอยู่ชั่วคราว รหัส L-A และ ระยะเวลาการอนุญาตให้อยู่ในประเทศไทยยังเหลืออยู่ไม่น้อยกว่าวันที่ 15 พฤษภาคม 2567
2.ผู้ซึ่งได้รับอนุญาตให้ทำงานในเรือประมงและมีหนังสือคนประจำเรือตามกฎหมายว่าด้วยการประมง ซึ่งถือหนังสือเดินทางหรือเอกสารใช้แทนหนังสือเดินทาง ซึ่งได้รับการตรวจลงตราประเภทคนอยู่ชั่วคราว รหัส L-A และระยะเวลาการอนุญาตให้อยู่ในไทยยังเหลือไม่น้อยกว่าวันที่ 15 พฤษภาคม 2567
3. ผู้ซึ่งนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย โดยอนุมัติของ ครม. อนุญาตให้เข้ามาอยู่ในประเทศไทยตามมาตรา 17 (พ.ร.บ.คนเข้าเมือง พ.ศ.2522) ที่ ผ่านการตรวจสัญชาติและมีหนังสือเดินทางหรือเอกสารใช้แทนหนังสือเดินทาง ซึ่งได้รับการการตรวจลงตามประเภทคนอยู่ชั่วคราว รหัส L-A รวมถึงผู้ติดตามซึ่งเป็นบุตรของคนต่างด้าวกังกล่าวที่มีอายุไม่เกิน 18 ปี ได้รับการตรวจลงตราประเภทผู้ติดตามและระยะเวลาการอนุญาตให้อยู่ในประเทศไทยเหลืออยู่ไม่น้อยกว่าวันที่ 15 พฤษภาคม 2567