ศอ.บต. เร่งเยียวยา ผู้ได้รับผลกระทบจากเหตุป่วนใต้ บรรเทาความเดือดร้อนจชต.

เลขาธิการ ศอ.บต. เร่งช่วยเหลือเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบเหตุป่วนใต้ ตามหลักเกณฑ์ของรัฐบาล เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนให้กับประชาชนในพื้นที่ พร้อมกระตุ้นเศรษฐกิจจังหวัดชายแดนใต้

วันที่ 24 มี.ค. 2567 จากกรณีเกิดเหตุคนร้ายลอบวางเพลิงร้านค้า เผาทรัพย์สินกล้องวงจรปิด สายส่งสัญญาณโทรศัพท์ ยานพาหนะ ในพื้นที่จังหวัดนราธิวาส จังหวัดปัตตานี จังหวัดยะลา และจังหวัดสงขลา รวม 25 อำเภอ กว่า 48 จุด เมื่อวันที่ 22 มีนาคม 2567 ที่ผ่านมา นั้น

พ.ต.ท.วรรณพงษ์ คชรักษ์ เลขาธิการ ศอ.บต. กล่าว่า กรณีดังกล่าว ไม่ส่งผลดีต่อพื้นที่เป็นอย่างยิ่ง โดยที่ผ่านมาจะเห็นได้ว่ารัฐบาล ให้ความสำคัญต่อการขับเคลื่อนการแก้ปัญหาในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ มาอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะในมิติของการพัฒนา เห็นได้จากการลงพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ เมื่อวันที่ 27-29 ก.พ.2567 ของ นายเศรษฐา ทวีสิน นายกฯ และ รมว.คลัง ซึ่งให้ความสำคัญกับการสนับสนุนเศรษฐกิจในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ส่งเสริมการท่องเที่ยวในกิจกรรม “เที่ยวใต้ สุดใจ” (ปัตตานี ยะลา นราธิวาส) มุ่งเน้นการยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนทุกระดับ ทุกศาสนา และสะท้อนความมุ่งมั่น ที่จะสร้างภาพจำใหม่ให้คนไทยและชาวต่างชาติเห็นว่า ”พื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ปลอดภัย น่าท่องเที่ยว”

เป็นนายกรัฐมนตรีคนแรกที่ชวนคณะรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาเศรษฐกิจ มาพักค้างคืนและร่วมทำกิจกรรมในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ในรอบ กว่ส 20 ปี ทั้งยังได้สวมเสื้อผ้าลายผ้าอัตลักษณ์ท้องถิ่น 3 วัน 3 แบบ เป็นการส่งเสริม Soft Power รวมถึงนำเสนออาหารการกิน และของใช้ที่หลากหลายรูปแบบจากผู้ประกอบการและกลุ่มวิสาหกิจชุมชน ทำให้ภาพรวมของเศรษฐกิจในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ดีขึ้น ถือว่าประสบความสำเร็จในการโปรโมท “เที่ยวใต้ สุดใจ” และแนวทางการพัฒนาเศรษฐกิจการค้า การท่องเที่ยวตามนโยบายที่ต้องการส่งเสริมเศรษฐกิจในพื้นที่สังคมพหุวัฒนธรรมอย่างเท่าเทียมโดยไม่เลือกปฏิบัติ ถือว่ามาถูกทางและตอบโจทย์ เป็นการสร้างภาพจำให้เห็นว่าพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ เป็นพื้นที่ปลอดภัย น่าท่องเที่ยว ที่ได้รับการยอมรับและเกิดกระแสนิยมจากผู้ประกอบการ และประชาชนในพื้นที่อย่างแพร่หลาย สามารถลดช่องว่าง และเกิดการมีส่วนร่วมของภาคประชาชนอย่างเห็นผล

แต่ทั้งนี้กลุ่มผู้เห็นต่างพยายามที่จะสร้างสถานการณ์ความไม่สงบ ทำให้ประชาชนเกิดความหวาดกลัวจากเหตุการณ์คนร้ายลอบระเบิด วางเพลิงร้านค้า เผากล้องวงจรปิดและทรัพย์สินของทางราชการ และก่อความไม่สงบในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ อาทิเช่น จังหวัดนราธิวาส จังหวัดปัตตานี จังหวัดยะลา และจังหวัดสงขลา ทำให้มุมมองและภาพรวมด้านเศรษฐกิจนั้นดูแย่ลง การเติบโตด้านเศรษฐกิจชะลอลง

จากเหตุการณ์ดังกล่าว ศอ.บต.ได้เตรียมเร่งดำเนินการช่วยเหลือเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ความไม่สงบ ตามหลักเกณฑ์การให้ความช่วยเหลือเยียวยาฯ เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนให้กับพี่น้องประชาชนในพื้นที่ และพร้อมกระตุ้นเศรษฐกิจในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ให้ฟื้นฟูกลับมาและเติบโตอีกครั้ง โดยมีกรอบนโยบายการกระตุ้นเศรษฐกิจดังนี้ 1. เตรียมสนับสนุนให้นกกรงหัวจุกเป็นสัตว์เศรษฐกิจ เพื่อสร้างโอกาสในการเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจ กระตุ้นการท่องเที่ยว ไปพร้อมกับการพัฒนาแนวทางการเลี้ยงนกกรงหัวจุกอย่างยั่งยืน ลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม และสัตว์ป่า 2. การพัฒนาและปรับปรุงแนวการค้าชายแดนให้มีโอกาสเติบโตทางด้านการค้ามากยิ่งขึ้น 3.ส่งเสริมเศรษฐกิจชายแดนใต้ให้เป็นเมืองคู่แฝด (Twin Town) กับประเทศมาเลเซีย

สำหรับการกระทำของกลุ่มผู้เห็นต่าง หรือกลุ่มผู้สร้างสถานการณ์ความไม่สงบในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ที่ก่อให้เกิดความสูญเสียในชีวิตและทรัพย์สินนั้น ไม่ได้เกิดประโยชน์กับฝ่ายใด อีกทั้งยิ่งทำให้มวลชนหันหลังให้และไม่ยอมรับกับแนวทางนี้

รัฐบาลภายใต้การนำของนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังแสดงความจริงใจในการออกนโยบายส่งเสริมเศรษฐกิจและการพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ ผ่าน ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) โดยจะร่วมมือกับทุกภาคส่วน ให้เห็นว่ารัฐบาลจะมุ่งมั่น เดินหน้าพัฒนาเศรษฐกิจการค้าการท่องเที่ยวให้กับจังหวัดชายแดนภาคใต้ ที่จะเกิดประโยชน์อย่างรอบด้านในทุกมิติ ดังนั้น ศอ.บต.พร้อมเปิดพื้นที่ให้ทุกคนหันมาร่วมเป็นพลังในการพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ ให้เป็นพื้นที่ ที่เต็มไปด้วยโอกาสในการได้รับการพัฒนาอย่างเต็มศักยภาพเพื่อประโยชน์ของประชาชนในพื้นที่การประเมิณความเสียหายและงบประมาณที่จะต้องนำไปเยียวยาพี่น้องประชาชนผู้ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ความไม่สงบที่เกิดขึ้นคงมีมุลค่าไม่น้อย แต่ถ้าหากได้นำงบประมาณส่วนนี้ไปใช้กระตุ้นเศรษฐกิจ พัฒนาพื้นที่ คง ทำให้ภาพรวมของเศรษฐกิจโตขึ้นอย่างมาก และส่งผลให้ความเป็นอยู่ของพี่น้องประชาชนทุกคนมีความสุขอย่างยั่งยืนต่อไป