“รัดเกล้า สุวรรณคีรี” รองโฆษกประจำสำนักนายกฯ เผยรัฐบาลยังเดินหน้าพูดคุยเพื่อสร้าง “สันติสุข” ในพื้นที่ชายแดนภาคใต้ ตามแผนและหลักการที่กำหนดไว้ เผยคณะพูดคุยประชุมไปแล้ว 2 ครั้ง มุ่งผลักดันความสงบในพื้นที่ ยืนยัน”รัฐบาลเศรษฐา” ต้องการเห็นพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ปลอดภัย-น่าท่องเที่ยว
วันที่ 24 มีนาคม 2567 นางรัดเกล้า อินทวงศ์ สุวรรณคีรี รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า รัฐบาลที่นำโดยนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรมว.คลัง ให้ความสำคัญกับพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ (จชต.) ซึ่งมุ่งเน้นการยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนในทุกระดับ ทุกศาสนา โดยเมื่อครั้งที่เดินทางมาตรวจราชการในกิจกรรม “เที่ยวใต้ สุดใจ” (ปัตตานี ยะลา นราธิวาส) เมื่อวันที่ 27-29 กุมภาพันธ์ 2567 ที่ผ่านมา สะท้อนความมุ่งมั่นตั้งใจของรัฐบาลอย่างจริงใจที่สุดที่จะสร้างภาพจำใหม่ให้คนไทย และชาวต่างชาติเห็นว่า “พื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ปลอดภัย น่าท่องเที่ยว”
นางรัดเกล้า กล่าวว่า เหตุการณ์การก่อกวนใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ และ จ.สงขลา บางจุด เมื่อวันที่ 22 มีนาคม ที่ผ่านมา เป็นการสร้างสถานการณ์ความไม่สงบในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ในเดือนรอมฎอนที่เป็นเดือนอันประเสริฐของพี่น้องประชาชนที่นับถือศาสนาอิสลาม โดยมุ่งเน้นไปที่การก่อเหตุกับสถานประกอบการภาคธุรกิจ หวังทำลายระบบเศรษฐกิจที่ขับเคลื่อนการสร้างงาน สร้างอาชีพ และรายได้ของประชาชนในพื้นที่ของกลุ่มผู้ก่อเหตุรุนแรง สะท้อนให้เห็นว่ากลุ่มบุคคลเหล่านี้ไม่ได้ให้ความสำคัญหรือมีความห่วงใยในชีวิตและสวัสดิภาพของประชาชนในพื้นที่แต่อย่างใด
ทั้งนี้ เพราะเมื่อเกิดเหตุกับสถานประกอบการ ผู้ที่ได้รับผลกระทบทันที คือ ผู้ประกอบการที่ธุรกิจได้รับความเสียหาย และลูกจ้างที่ต้องหยุดงาน ขาดรายได้ทันทีที่มีเหตุการณ์ความไม่สงบกับสถานประกอบการที่ตนทำงานอยู่ อีกทั้งประชาชนต้องรู้สึกหวาดกลัว หรือหวาดระแวงเมื่อต้องเดินทางออกมาจับจ่ายซื้ออาหารเพื่อละศีลอด รวมทั้งการเดินทางไปประกอบศาสนกิจ เพื่อเก็บเกี่ยวผลบุญในช่วงค่ำคืน ดังนั้นการก่อกวนเช่นนี้ จึงทำให้ประชาชนในพื้นที่ได้รับผลกระทบ แต่คนส่วนใหญ่ ก็ไม่เห็นด้วย
นางรัดเกล้า กล่าวว่า นายฉัตรชัย บางชวด รองเลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ ยอมรับว่า เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเป็นการก่อกวนของบางกลุ่มที่ไม่เห็นด้วยกับการสร้างสันติสุขในพื้นที่ ซึ่งกลุ่มนี้ต้องการแสดงออกบางอย่างเพื่อแสดงตัวตนและให้เห็นถึงความสำคัญ แต่ทั้งนี้การพูดคุยเพื่อสันติสุขยังเดินหน้า โดยที่มีประเทศมาเลเซียเป็นผู้อำนวยความสะดวก และคณะพูดคุยเปิดกว้างในการรับฟังความเห็นต่างๆ แต่ถ้าทุกฝ่ายสร้างบรรยากาศไม่มีความรุนแรง ก็จะเป็นเรื่องที่ดีในการที่จะเปิดช่องรับฟัง
“ขณะนี้ขั้นตอนการพูดคุยหลักการใหญ่เห็นชอบแผนสันติสุขร่วมกันแล้ว รวมถึงเห็นชอบหลักการรายละเอียดของแผน โดยจะมีคณะเทคนิคไปพูดคุยเพื่อทำตามกิจกรรมของแผน ช่วงนี้คณะเทคนิคอยู่ระหว่างการประชุม และในครั้งที่ผ่านมา คณะเทคนิคได้มีการประชุมแล้ว 2 ครั้งโดยรวมอยู่ในขั้นตอนที่คุยกันได้ เพื่อที่จะให้เดินไปข้างหน้า แม้จะมีข้อจำกัดหลายเรื่อง แต่จะใช้ความพยายามในฐานะที่ตนเองเป็นหัวหน้าพูดคุย ต้องขอขอบคุณ อย่างน้อยได้มีการพูดคุยก็เป็นเรื่องที่ดีจึงต้องรักษาไว้” นางรัดเกล้า กล่าว