“เศรษฐา ทวีสิน” นายกรัฐมนตรี ยอมรับสั่งเด้ง ‘บิ๊กต่อ-บิ๊กโจ๊ก’ ยาก-ลำบากใจและไม่สบายใจ แต่ต้องทำ ชี้ผลเกิดจากการกระทำ ไม่รับปาก 60 วันได้กลับมาหรือไม่ ขึ้นอยู่กับผลตรวจสอบ ยันการแก้ปัญหา ขึ้นอยู่กับบริบทของเวลาและผู้นำแต่ละยุค
วันที่ 21 มี.ค.2567 เวลา 08.30 น. ที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ตร.)นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และรมว.คลัง ให้สัมภาษณ์ หลังประชุมมอบนโยบายข้าราชการตำรวจว่า ในการประชุมนายตำรวจชั้นผู้ใหญ่ทั้งหมด ชัดเจนแล้วว่าเหตุการณ์ เมื่อวันที่ 20 มี.ค.ที่เกิดขึ้น ขณะนี้ได้เข้าสู่กระบวนการยุติธรรมแล้ว ไม่อยากให้นายตำรวจชั้นผู้ใหญ่ทุกท่านไปฝักใฝ่กับเรื่องนี้
เรามีภารกิจใหญ่ก็คือการดูแลประชาชน และตนได้มอบนโยบายไปแล้วหลายด้าน ทั้งเรื่องเว็บพนันออนไลน์ ยาเสพติด หนี้นอกระบบ การอำนวยความสะดวกให้กับนักท่องเที่ยว รวมทั้งเรื่องงานของสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง ซึ่งทุกคนก็ทราบดีแล้วว่าเรามีงานหลายด้าน “ขอย้ำเรื่องความสมัครสมานสามัคคี ส่วนเรื่องนี้ไม่ต้องไปฝักใฝ่กับคนใดคนหนึ่ง ขอให้เราเอาประชาชนเป็นที่ตั้ง”
ผู้สื่อข่าวถามว่า 10 ข้อหลักที่ได้มอบนโยบายไป ได้เน้นย้ำเรื่องใดเป็นพิเศษ นายกฯ กล่าวว่า ทุกเรื่องเท่ากันหมด เพราะประชาชนแต่ละพื้นที่มีปัญหาแตกต่างกันไป เมื่อถามว่าหลังเกิดข้อพิพาท นายกฯได้เน้นย้ำอะไรบ้าง นายเศรษฐา กล่าวว่า บอกแล้วว่าต่อไปนี้ ก็ไม่ต้องไป และเชื่อว่าแต่ละคนก็มีสิทธิ์ที่จะรักใครชอบใคร แต่ทุกคนที่มาอยู่ตรงนี้ ก็เพื่อประชาชน ฉะนั้นขอให้เอาความรักเก็บไว้ในใจ และเรื่องการที่เราจะไปก้าวก่ายหรือให้ข่าวต่างๆ ก็ไม่อยากให้มีอีกแล้ว เราไม่มีหน้าที่ให้ข่าวเพื่อสนับสนุนใครคนใด เรามีหน้าที่ดูแลประชาชน
ผู้สื่อข่าวถามว่าการตั้งคณะกรรมการ 3 คนขึ้นมาตรวจสอบ จะมีผลเกี่ยวข้องกับวินัย หรือ บทลงโทษที่จะตามมาภายหลังหรือไม่ นายกฯกล่าวว่า คิดว่าทุกอย่างเรายึดตามกระบวนการยุติธรรม ตามกฎหมาย ชุดนี้เป็นคณะกรรมการเพื่อสืบหาความจริงก่อน
เมื่อถามว่าหลังจากนั้นจะมาผูกพันกับตร. ในเรื่องของวินัยหรือไม่ นายเศรษฐา กล่าวว่า ต้องแล้วแต่ว่าผลจะออกมาเป็นอย่างไร เราอย่าพึ่งพูดไปไกล เพราะทั้ง 2 ท่านยังเป็นผู้บริสุทธิ์อยู่ ต้องให้ให้เกียรติทั้ง 2 ท่านด้วย ซึ่งกรอบเวลาก็ต้องให้เร็วที่สุด ตนไม่แน่ใจว่า 60 วัน แต่ถ้าเร็วกว่านั้นได้ก็ดี เพราะเราต้องให้ความเป็นธรรมกับทั้งสองด้วย ผู้สื่อข่าวถามว่าพายุที่เกิดขึ้นในตร. จะเกิดแรงกระเพื่อมใต้น้ำในการบริหารราชการแผ่นดินหรือไม่ นายกฯ กล่าวว่า ไม่ทราบ เมื่อถามย้ำว่าคิดว่าเอาอยู่ใช่หรือไม่ นายกฯ ไม่ตอบ
ผู้สื่อข่าวถามว่าผลที่ออกมาจะนำมาใช้ทางปฏิบัติได้เลยใช่หรือไม่ นายเศรษฐา กล่าวว่า ต้องดูว่าผลจะออกมาเป็นอย่างไร เราอย่าไปชี้นำกระบวนการยุติธรรม หรือทำให้ฝ่ายที่เกี่ยวข้องไม่สบายใจ “วันนี้เราต้องการให้สังคมมีความสบายใจว่า ตร.เดินไปข้างหน้าได้ ไม่มีฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งไปแทรกแซงกระบวนการยุติธรรม เพื่อให้ประชาชนทุกคนสบายใจว่า ผู้พิทักษ์สันติราษฎร์เองก็ยึดมั่นในกฎหมาย” นายเศรษฐากล่าว
เมื่อถามว่าในฐานะกำกับดูแล ตร. จะสะท้อนภาพความเชื่อมั่นอย่างไร นายกฯ กล่าวว่า เรื่องนี้ต้องให้ประชาชนเป็นคนพูด ตนมีหน้าที่เมื่อมีปัญหาเกิดขึ้น ก็ต้องบริหารจัดการกันไป “วันนี้ผมคิดว่าเราเลือกจบกันได้แล้ว และเดินไปข้างหน้าดีกว่า เราควรโฟกัสในเรื่องที่ควรโฟกัสดีกว่า เพราะทั้ง 2 ท่าน ก็ถูกโยกไปอยู่ในสำนักนายกฯแล้ว ขอให้กระบวนการยุติธรรมเดินไปได้ อย่าไปกดดัน อย่าไปชี้นำ ปล่อยให้เดินไปตามเรื่องของมันดีกว่า เมื่อถึงเวลาเขาจะออกมาชี้แจงกันเอง”
ต่อข้อถามว่า เมื่อวันที่ 20 มี.ค. ที่พูดคุยกับคณะกรรมการตรวจสอบทั้ง 3 ท่าน ได้วางแนวทางในการทำงานและการตรวจสอบอย่างไรบ้าง นายเศรษฐา กล่าวว่า มีการพูดคุยกันนิดเดียว ทั้ง 3 ท่านเป็นผู้อาวุโสในหน้าที่การงานอยู่แล้ว และเคยอยู่ในคณะกรรมการตรวจสอบเรื่องข้อเท็จจริงในหลายเรื่อง ตรงนี้ตนมั่นใจว่าท่านให้ความเป็นธรรมกับทุกฝ่าย ตนได้บอกไปแล้วว่าไม่มีธง และไม่มีอะไรมาแทรกแซง ขอให้ทั้ง 3 ท่านทำงานไปเลย ให้ความเป็นธรรมกับทุกฝ่ายทั้ง 2 ท่าน
เมื่อถามว่าได้แบ่งงานให้กับทั้ง 2 ท่านหรือยัง นายกฯ กล่าวว่า ยังไม่ได้แบ่งงานเพราะยังไม่มีเวลา แต่เดี๋ยวมีเวลาก็จะพูดคุยกันต่อ ผู้สื่อข่าวถามว่าเชื่อว่าปัญหาในลักษณะนี้จะไม่เกิดขึ้นใน ตร.อีกใช่หรือไม่ นายเศรษฐา กล่าวด้วยน้ำเสียงจริงจังว่า “ผมหวังว่าจะไม่เกิดขึ้นอีก”
เมื่อถามว่าคิดว่าจะสร้างภาพลักษณ์ และความศรัทธากลับคืนมายังสำนักงานตำรวจแห่งชาติได้หรือไม่ นายเศรษฐากล่าวว่า คิดว่าคำว่าสร้างภาพเป็นคำพูดที่ผิด เรามาที่นี่ไม่ต้องการสร้างภาพอะไร ภาพที่มันออกไปก็คือการสะท้อนการกระทำ ตนเชื่อว่าตรงนี้ภาพที่ออกไปอย่างไรเวลาก็จะตอบเอง ทุกท่านที่อยู่ในที่นี้ ก็มีหน้าที่ของตัวเอง ภาพที่ออกไปก็ได้จากการกระทำที่พวกเราทำกันเองทั้งนั้นนั่นแหละ
เมื่อถามว่ายากหรือไม่ในการตัดสินใจครั้งนี้ ต้องเซ็นให้ ผบ.ตร.ไปช่วยราชการ นายเศรษฐากล่าวด้วยมีหน้าเคร่งเครียดว่า “ยาก ลำบากใจและไม่สบายใจ แต่ต้องทำ” เมื่อถามว่ามูลเหตุนอกจากเรื่องความขัดแย้งแล้ว มีอย่างอื่นแทรกซ้อนหรือไม่ นายเศรษฐา กล่าวว่า เราพูดกันเยอะมากพอ และส่วนตัวได้ให้ความกระจ่างกับเรื่องนี้ไปเยอะแล้วเหมือนกันและพอแล้ว ไม่อยากกลับไปพูดอีก และเชื่อว่าทุกคนทราบดีอยู่แล้ว
ผู้สื่อข่าวถามว่ายืนยันใช่หรือไม่ว่า นายตำรวจทั้ง 2 ท่านจะกลับมาภายใน 60 วันถ้าผลสอบเสร็จ นายกฯ กล่าวสวนทันทีว่า “ผมยืนยันอะไรไม่ได้ ถ้ายืนยันได้ คงไม่ต้องตั้งคณะกรรมการขึ้นมาตรวจสอบ ต้องรอให้คณะกรรมการได้ดูก่อน สืบหาความจริงทั้ง 2 ท่านก่อน แต่ถ้าเดินหน้าไปแล้ว 30 วัน 60 วัน ถ้าเกิดพิสูจน์แล้ว ไม่มีปัญหาก็กลับมาใหม่ ผมพูดไปสามหนแล้วว่าถ้าเกิดไม่มีปัญหาก็กลับมาใหม่ เพราะท่านเองท่านไม่ได้ถูกลงโทษ”
เมื่อถามว่าจะไม่ถึงขั้นเลวร้าย ต้องเกษียณกันไปข้างหนึ่งใช่หรือไม่ นายเศรษฐาย้ำว่า ตนไม่ทราบ ขึ้นอยู่กับการที่คณะกรรมการ จะได้พิสูจน์ทราบมาว่าผลของการพิสูจน์เป็นอย่างไร ตนถึงได้บอกและย้ำว่าขอทุกท่าน อย่าไปคิดล่วงหน้าว่าถ้าเกิดเป็นอย่างนั้น แล้วจะต้องเป็นอย่างนี้ ขอให้กระบวนการยุติธรรมเดินไปได้ ด้วยความยุติธรรมดีกว่า และให้ความเป็นธรรมกับทุกฝ่ายดีกว่า
ผู้สื่อข่าวถามว่าในอดีตเคยมีการตั้งคณะกรรมการขึ้นมาตรวจสอบในลักษณะนี้ แต่ปรากฏว่าไม่สำเร็จ ต้องกลับต้องมาใช้คำสั่งของคณะกรรมการของ ตร. เป็นผู้พิจารณาใหม่ นายเศรษฐา กล่าวย้อนว่า สื่อใช้คำถูกแล้วว่าเป็นเรื่องในอดีต แต่อันนี้มันปัจจุบัน ผู้นำก็คนละคน