จุฬาราชมนตรี ร่วมเวทีการประชุมอิสลามนานาชาติ ณ นครมักกะห์ ซาอุดิอาระเบีย

จุฬาราชมนตรี และคณะเข้าร่วมการประชุมอิสลามนานาชาติ ภายใต้หัวข้อ “การสร้างสะพานระหว่างกลุ่มนิกายต่าง ๆ ทางศาสนา” The Global Conference For Building Bridges Between Islamic Schools of Thought and Sects

วันที่ 18 มี.ค. 2567 นายอรุณ บุญชม จุฬาราชมนตรี พร้อมด้วย รศ.ดร.อิสมาอีล ลุฏฟี จะปากียา ที่ปรึกษาคณะผู้ทรงคุณวุฒิจุฬาราชมนตรี และ ผศ.ดร.อับดุลเลาะห์ หนุ่มสุข รองประธานคณะผู้ทรงคุณวุฒิจุฬาราชมนตรี ได้รับเชิญจากองค์การสันนิบาตมุสลิมโลก (Muslim World League) หรือ อัรรอบิเฏาะห์ ในการประชุมอิสลามนานาชาติภายใต้หัวข้อ “การสร้างสะพานระหว่างกลุ่มนิกายต่าง ๆ ทางศาสนา” (The Global Conference For Building Bridges Between Islamic Schools of Thought and Sects ) ณ โรงแรมฮิลตัน ญะบัลอุมัร นครมักกะห์ ราชอาณาจักรซาอุดิอาระเบีย ระหว่างวันที่ 17 ถึง 19 มี.ค. พ.ศ. 2567สำหรับการประชุมอิสลามนานาชาติในครั้งนี้ผู้เข้าร่วมประชุมประกอบด้วย นักปราชญ์ ผู้นำศาสนา ผู้นำองค์กรมุสลิม จากทั่วโลก ประมาณ 300 คน พิธีเปิดจัดขึ้นในคืนวันที่ 18 มี.ค.2567หลังละหมาดตะรอเวียะฮ์ กล่าวนำโดย ท่านมุฟตีแห่งราชอาณาจักรซาอุดิอาระเบีย เชคอับดุลอะซีซ บินอับดุลลอฮ์ อาลิชเชค และ กล่าวต้อนรับและเปิดประชุมโดย ดร.มุฮัมมัด บินอับดุลกะรีม อัลอีซา เลขาธิการอัรรอบิเฏาะห์ โดยในพิธีเปิดมีองค์ปาฐกบรรยายจำนวน 10 ท่าน จากองค์กรสำคัญในโลกมุสลิม เป็นการพูดคุยในเรื่องเอกภาพของอุมมะห์อิสลาม และปัญหาการขัดแย้งระหว่างกลุ่มนิกายที่เป็นอุปสรรคในการสร้างเอกภาพเป็นเหตุให้โลกมุสลิมอ่อนแอ ไม่สามารถเผชิญต่อความท้าทายต่าง ๆ ในปัจจุบันได้ จึงจำเป็นที่อุมมะห์อิสลามในปัจจุบันต้องสร้างสะพานเชื่อมโยงระหว่างกันผ่านกิจกรรมต่าง ๆ ที่สร้างสรรค์ การแสวงหาพื้นที่ร่วมกันในการสร้างความร่วมมือด้านต่าง ๆ การสานเสวนาที่มีความเคารพ และให้เกียรติซึ่งกันและกัน การหลีกเลี่ยงการตักฟีร การตัฟซีก และการตับเดี๊ยะ (การกล่าวหาว่าเป็นกาฟิร เป็นฟาซิก เป็นผู้ทำบิดอะห์) และหลีกเลี่ยงทุกสาเหตุที่นำไปสู่การแตกแยกในสังคมมุสลิม องค์ปาฐกหลายท่านได้พูดถึงปัญหาปาเลสไตน์และความเกี่ยวข้องกับความอ่อนแอของโลกมุสลิมที่ขัดแย้งกันการประชุมครั้งนี้ตลอด 2 วันมี 5 เวทีในการนำเสนอและพูดคุยในหัวข้อต่าง ๆ โดยนักวิชาการจากทั่วโลก มีการประกาศปฏิญญามักกะห์ว่าด้วยการสร้างสะพานระหว่างกลุ่มนิกาย (มัซฮับ) ในอิสลาม และการลงนาม (MOU) ระหว่างองค์การอัรรอบิเฏาะฮ์ กับองค์การความร่วมมืออิสลาม (OIC) และระหว่างสภานิติศาสตร์อิสลามขององค์การอัรรอบิเฏาะห์ กับสภานิติศาสตร์อิสลามขององค์การความร่วมมืออิสลาม (OIC)