แนะใช้คดี “ฝรั่งเตะหมอ” ลุยสอบเอกสารสิทธิ์ “ที่ดิน-สิ่งก่อสร้าง”รุกที่สาธารณะ

ยังมีอีกเพียบ! “วสันต์ ภัยหลีกลี้” กก.สิทธิมนุษยชน แนะใช้คดี “ฝรั่งเตะหมอ” เป็นกรณีศึกษา ลุยตรวจสอบเอกสารสิทธิ์ที่ดิน และ สิ่งก่อสร้างรุกที่สาธารณะ เพื่อเพิกถอน คืนให้สาธารณชน

วันที่ 8 มี.ค. 2567 การแถลงข่าวประจำสัปดาห์ของ สำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) นายวสันต์ ภัยหลีกลี้ กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ เปิดเผยว่า ตามที่มีข่าวทำร้ายร่างกายหมอที่ภูเก็ต กสม.ในคราวประชุมด้านการคุ้มครองและส่งเสริมสิทธิมนุษยชน เมื่อวันที่ 5 มีนาคม 2567 เห็นว่าเหตุดังกล่าว นอกจากจะเป็นเรื่องการใช้ความรุนแรงทำร้ายร่างกายผู้อื่นซึ่งไม่ควรเกิดขึ้นแล้ว ยังสะท้อนให้เห็นถึงปัญหาเชิงโครงสร้างในเรื่องการรุกล้ำที่ดินสาธารณะทั้งนี้ ชายหาดและหาดทราย ถือเป็นทรัพย์สินซึ่งเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดิน ที่ไม่สามารถโอนให้แก่กันได้ เว้นแต่อาศัยอำนาจแห่งบทกฎหมายเฉพาะ หรือ พระราชกฤษฎีกา อันเป็นไปตามมาตรา 1305 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ซึ่งที่ผ่านมา กสม. ได้รับเรื่องร้องเรียนเรื่องสิทธิชุมชนและสิทธิในที่ดินจำนวนมาก ซึ่งมีกรณีพิพาทจากการที่ประชาชนไม่สามารถใช้ประโยชน์ในที่สาธารณะอย่างชายหาดได้เพราะเอกชนอ้างสิทธิในการถือครองที่ดินชายหาดและก่อสร้างสิ่งปลูกสร้างรุกล้ำชายหาด ซึ่งปัญหาและความขัดแย้งมักมีความรุนแรงยิ่งขึ้นเมื่อเป็นกรณีพื้นที่สาธารณะในเขตอุตสาหกรรมประมงและการท่องเที่ยวอย่างเช่นจังหวัดภูเก็ต และจังหวัดที่มีชายฝั่งทะเลอื่นๆ

ดังนั้น กสม.เห็นว่า สิทธิในที่ดินมีความสำคัญเชื่อมโยงกับสิทธิชุมชนในการใช้และได้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติอย่างสมดุลและยั่งยืน การที่ประชาชนและชุมชนไม่สามารถมีส่วนร่วมใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมได้ ย่อมไม่สอดคล้องและเป็นไปตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 ที่รับรองและคุ้มครองสิทธิของบุคคลและชุมชนในการมีส่วนร่วม จัดการ บำรุงรักษา และใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติ สิ่งแวดล้อม และความหลากหลายทางชีวภาพอย่างสมดุลและยั่งยืน

“กรณีนี้สะท้อนปัญหาเชิงโครงสร้างเรื่องที่ดินและการใช้ประโยชน์ในพื้นที่สาธารณะ แม้เอกชนเจ้าของวิลล่าที่เป็นข่าวจะเข้ารื้อถอนบันไดและสิ่งปลูกสร้างอื่นๆ ที่รุกหาดยามูซึ่งเป็นที่สาธารณะแล้ว แต่ปัญหาลักษณะเดียวกันนี้ ยังเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องและในหลายพื้นที่ ซึ่งอาจสร้างปัญหาหลายอย่าง เช่น การถูกขัดขวางไม่ให้เข้าถึงพื้นที่สาธารณะ และอาจกระทบต่อพื้นที่ทางวัฒนธรรมและวิถีชีวิตของกลุ่มชาติพันธุ์ชาวเล ชาวประมง ซึ่ง กสม.เห็นว่าหน่วยงานของรัฐ ที่เกี่ยวข้องต้องดำเนินการตรวจสอบการออกเอกสารสิทธิ์ในที่ดินรวมทั้งการก่อสร้างสิ่งปลูกสร้างที่รุกล้ำพื้นที่สาธารณะ หากพบว่าเป็นการดำเนินการโดยมิชอบ ก็ให้เพิกถอนสิทธิดังกล่าว” นายวสันต์ กล่าว