“สมศักดิ์” นำคณะ ลงพื้นที่ ตรวจโครงการก่อสร้าง ป้องกันตลิ่ง “เขื่อนเทพา”

“สมศักดิ์ เทพสุทิน” ลงพื้นที่ ตรวจและติดตามมติ กพต. ในเรื่องการก่อสร้างเขื่อนป้องกันตลิ่ง และ การพัฒนา อ.เทพา จ.สงขลา ให้เป็น “ศูนย์กลางการรวบรวมและกระจายสินค้าทางน้ำจังหวัดชายแดนภาคใต้”

วันที่ 5 มี.ค. 2567 นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รองนายกรัฐมนตรี ลงพื้นที่ ณ ท่าเรือเทพา ทรานซิท เทอร์มินอล อำเภอเทพา จังหวัดสงขลา เพื่อตรวจและติดตาม คณะกรรมการยุทธศาสตร์ด้านการพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ (กพต.) ต่อการก่อสร้างเขื่อนป้องกันตลิ่ง อำเภอเทพา และ ความก้าวหน้าการพัฒนาอำเภอเทพา จังหวัดสงขลา ให้เป็น “ศูนย์กลางการรวบรวมและกระจายสินค้าทางน้ำจังหวัดชายแดนภาคใต้” โดยมี พ.ต.ท.วรรณพงษ์ คชรักษ์ เลขาธิการศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) นายชนธัญ แสงพุ่ม รองเลขาธิการ ศอ.บต. อธิบดีกรมเจ้าท่า ผู้แทนจากกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ผู้อำนวยการกองส่งเสริมและสนับสนุนงานพัฒนาฝ่ายพลเรือน ศอ.บต. หัวหน้าส่วนราชการ ผู้บริหารบริษัท เทพา Transit และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องร่วมให้การต้อนรับ

สำหรับการก่อสร้างเขื่อนป้องกันตลิ่ง อำเภอเทพา เป็นการก่อสร้าง กำแพงป้องกันการกัดเซาะบริเวณปากน้ำเทพา ตำบลปากบาง อำเภอเทพา จังหวัดสงขลา ตามมติ กพต. ตั้งแต่ปีงบประมาณ พ.ศ.2565 เป็นต้นไป โดยนอกจากจะสามารถแก้ไขปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งบริเวณปากน้ำเทพาและการเกิดอุทกภัยในหลายปีที่ผ่านมาแล้ว ยังส่งผลต่อการพัฒนาท่าเรือภายในแม่น้ำเทพา เพื่อรองรับการขนส่งทางทะเลทั้งภายในประเทศและต่างประเทศอีกด้วย ในส่วนของการพัฒนาอำเภอเทพา จังหวัดสงขลา ให้เป็น “ศูนย์กลางการรวบรวมและกระจายสินค้าทางน้ำจังหวัดชายแดนภาคใต้” นั้น เป็นการพัฒนาความสามารถของท่าเรือในจังหวัดสงขลาให้สามารถรองรับเรือที่ใหญ่ขึ้น เกิดความเชื่อมโยงเครือข่ายการขนส่งสินค้าระหว่างตะวันตกและตะวันออกผ่านประเทศไทย โดยไม่ต้องเดินทางอ้อมแหลมมลายูและจะช่วยประหยัดค่าขนส่งและเวลาในการขนส่งสินค้านายสมศักดิ์ เทพสุทิน ให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนว่า ที่ดินบริเวณนี้มีความเกี่ยวข้องกับหลายหน่วยงาน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเขตห้ามล่าสัตว์ จึงจำเป็นต้องขออนุญาตเพิ่มเติมในการก่อสร้างหรือการทำเขื่อนป้องกันตลิ่ง โดยได้รับรายงานจากเจ้าหน้าที่กรมอุทยานว่าขณะนี้ใกล้เสร็จสิ้นแล้ว และการก่อสร้างก็จะเริ่มดำเนินการตามขั้นตอนของทางราชการ ในส่วนของการพัฒนาอำเภอเทพา จังหวัดสงขลา ให้เป็น “ศูนย์กลางการรวบรวมและกระจายสินค้าทางน้ำจังหวัดชายแดนภาคใต้” นั้น ท่าเรือเทพา ทรานซิท ก็จะเป็นที่พึ่งที่หวัง ในเรื่องของเศรษฐกิจภาพรวมของภาคใต้ โดยคำนวนดูจากการขนส่งเปรียบเทียบกันระหว่างรถยนต์กับทางเรือ ทางเรือค่าขนส่งสินค้าบางประเภท 250 บาท แต่หากขนส่งด้วยรถยนต์ ระยะทางประมาณ 1,000 กิโลเมตร จากกรุงเทพมหานคร ราคา ประมาณ 1,000 บาท ซึ่งหากขนส่งทางเรือจะทำให้ค่าขนส่งสินค้าที่มาจากภาคกลางมาใต้ถูกลง และจะลดการใช้เชื้อเพลิงพลังงาน และลดมลพิษได้ อยากให้ทุกฝ่ายช่วยกันเร่งรัดตามแนวทางที่นายกรัฐมนตรีได้ให้ความสนใจกับจังหวัดชายภาคใต้ในส่วนของการพัฒนา การลงทุน