รถไฟความเร็วสูงนำไปสู่การทำลายล้างอยุธยาเมืองมรดกโลกจริงหรือ
ดร.ปกรณ์ ปรียากร อดีตคณบดีคณะรัฐประศาสนศาสตร์ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์(นิด้า) โพสต์แสดงความเห็นกรณีการก่อสร้างสถานีรถไฟความเร็วสูงสถานีพระนครศรีอยุธยาระบถว่า กรณีมีความไม่ลงรอยกัน เกี่ยวกับปัญหาก่อสร้างสถานีอยุธยาของโครงการรถไฟความเร็วสูง โดยมีเรื่องที่น่าแปลกก็คือ คนอยุธยาแท้ ๆ ส่วนใหญ่สนับสนุนให้ก่อสร้าง แต่บรรดาผู้คนที่ไม่ได้เป็นชาวอยุธยา กลับหันมาต่อต้าน ด้วยเหตุผลอันประหลาดยิ่งคือ จะนำไปสู่การทำลายความเป็นเมืองมรดกโลก ที่องค์กร UNESCO ได้ให้การรับรองไว้
สำหรับผมที่ไม่ใช่คนอยุธยาแต่อย่างใด ผมเห็นว่าการสร้างสถานีอยุธยา ณ จุดที่เป็นสถานีปัจจุบัน มีความเหมาะสมอย่างยิ่ง ไม่ได้มีผลต่อการทำลายเมืองโบราณของอยุธยาแต่อย่างใดทั้งสิ้น
ในทางกลับกันการสร้างสถานี ณ จุดนี้จะนำไปสู่ความสะดวกในการเดินทางของผู้คน ลดความแออัดยัดเยียดจากการใช้รถยนตร์ของนักท่องเที่ยว เพื่อเข้ามายังเขตเมืองโบราณอยุธยา ปล่อยควันพิษในเมืองโบราณอย่างมหาศาล เพราะเราไม่มีทางที่จะบังคับให้คนทิ้งรถ เพราะบรรดานักท่องเที่ยวก็อยากจะเข้าถึงเมืองให้ได้ เนื่องจากการบริการด้านการเดินทางในเมือง ถูกเอารัดเอาเปรียบจากบรรดาผู้ประกอบการเดิมอย่างที่เป็นข่าวเมื่อวันสองวันมานี้
ยิ่งไปกว่านั้นผมมีความเชื่อมั่นว่า ผลลัพธ์ของการลงทุนรถไฟความเร็วสูง โดยใช้เส้นทางเดิมของการรถไฟแห่งประเทศไทย จากกรุงเทพมหานครไปยังนครราชสีมา จะเป็นเส้นทางที่ทับกับเส้นทางรถไฟสายแรกของรถไฟความเร็วต่ำในสมัยรัชกาลที่ ๕ คือการนำความเจริญมาสู่ประเทศรวมทั้งชาวอยุธยาเอง มากกว่าที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน
คิดร่วมกันอย่างง่าย ๆ สมมติว่าในปี ๒๕๗๑ พวกเรานั่งรถไฟความเร็วสูงจากสถานีกรุงเทพอภิวัฒน์ เดินทางถึงสถานีพระนครศรีอยุธยา ใช้เวลาเพียงไม่เกินครึ่งชั่วโมง พวกเราจะขับรถไปอยุธยาให้เมื่อยตุ้มทำไม
ผมเบื่อเต็มที่กับการที่ สส.พรรคหัวก้าวหน้าของอยุธยารวมกับเพื่อน สส.พรรคเดียวกัน กระโดดออกมาค้านโครงการนี้ชนิดไร้เหตุผล ไร้ความรอบรู้ ไร้สมรรถนะของการบริหารโครงการสมัยใหม่ โดยคนที่คิดและทำโครงการ (the new projectization paradigm) สมัยนี้ ล้วนแล้วแต่มีความรอบรู้ ประกอบกับการมองรอบด้าน ในเรื่องของการศึกษาความเป็นไปได้และประเมินความเหมาะสม ด้วยการรักษาความสมดุลย์ระหว่างความเจริญรุ่งเรือง ควบคู่กับการอนุรักษ์และพัฒนาอารยธรรมและวัฒนธรรมดั้งเดิม ด้วยความพอดีพอประมาณ สมเหตุสมผล มีภูมิคุ้มกันในตัว ด้วยความรู้และคุณธรรมในการพัฒนาที่ยั่งยืน
ผมเป็นคนรุ่นเก่าที่ไม่เคยเททิ้งของเก่า แต่การที่พวกท่านออกมาโอ้อวดว่าตนเองเป็นคนรุ่นใหม่ ยืนตระโกนด่าคนรุ่นเก่าว่าคิดไม่ออก ทำไม่เป็น ขาดการมองการณ์ไกล แต่ขอประทานโทษเวลาคนรุ่นใหม่อย่างท่าน จะทำอะไรแต่ละอย่าง ไม่เคยมองหน้ามองหลัง ขาดสัมมาคารวะ โดยไม่ระมัดระวังว่าในโลกแห่งความเป็นจริง ผู้คนที่มีสัมมาครวะทั้งหลาย ย่อมให้เกียรติต่อผู้อื่นเสมอ
ถ้าอยากเรียนรู้ว่าคนรุ่นเก่าอย่างพวกผม ทำอะไรเพื่อบ้านเพื่อเมืองมาบ้าง ขอให้มานั่งสานสนทนากันได้ตลอดเวลา
ขอทิ้งท้ายไว้อย่างนี้ก็แล้วกัน อ่านแล้วไปคิดกันเอาเอง ด้วยความรักและห่วงใย
“The reasonable man adapts himself to the world: the unreasonable one persists in trying to adapt the world to himself. Therefore all progress depends on the unreasonable man.”
Source: George Bernard Shaw, Man and Superman