ศิษย์เก่า-ใหม่อุเทนถวาย 2,500 คน รุกสนง.ทรัพย์สินจุฬาฯ-รมว.อว.ค้านออกจากพื้นที่

น.ศ.อุเทนฯ กว่า 2.5 พันคน บุกจุฬาฯ ยื่นหนังสือค้านย้ายออกจากพื้นที่ ชง 9 ข้อเรียกร้อง ออกโฉนดใหม่ยก 21ไร่ ให้เป็นสมบัติแผ่นดิน ใช้ประโยชน์เพื่อการศึกษา ตั้ง กก. 3 ฝ่ายยุติข้อพิพาท จี้จุฬาฯหยุดใช้พื้นที่เชิงพาณิชย์ พร้อมยื่นหนังสือถึงรมว.อว.ให้เร่งแก้ปัญหาด้วย

เวลา 09.00 น. วันที่ 27 กุมภาพันธ์ ที่มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลตะวันออก วิทยาเขตอุเทนถวาย ตัวแทนศิษย์เก่าและศิษย์ปัจจุบัน สมาคมศิษย์เก่าอุเทนถวาย สมาคมผู้ปกครองและครูอุเทนถวาย กว่า 2,500 คน ได้นัดชุมนุมและเคลื่อนขบวนจากหน้าวิทยาเขตอุเทนถวายไปยังสำนักงานจัดการทรัพย์สิน จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เพื่อยื่นหนังสือถึงสำนักงานจัดการทรัพย์สินและ ศ.ดร.บัณฑิต เอื้ออาภรณ์ อธิการบดีจุฬาฯ ขอแสดงความจำนงคัดค้านการย้ายเขตพื้นที่อุเทนถวาย

น.ศ.อุเทนฯ กว่า 2.5 พันคน บุกจุฬาฯ ยื่นหนังสือค้านย้ายออกจากพื้นที่ ชง 9 ข้อเรียกร้อง ออกโฉนดใหม่ยก 21ไร่ ให้เป็นสมบัติแผ่นดิน ใช้ประโยชน์เพื่อการศึกษา ตั้ง กก. 3 ฝ่ายยุติข้อพิพาท จี้จุฬาฯหยุดใช้พื้นที่เชิงพาณิชย์

เวลา 10.00 น. กลุ่มนักศึกษาอุเทนถวายเดินทางถึงบริเวณด้านหน้าสำนักงานจัดการทรัพย์สิน จุฬา ซึ่งมีการปิดประตูทางเข้าและมีรั้วกั้นหน้าประตู โดยตัวแทนนักศึกษากล่าวปราศรัยตอนหนึ่งว่า ปี 2482 มีการโอนที่ดินเป็นของจุฬาฯภายในเวลาเพียงวันเดียว และมีการเปลี่ยนกรรมสิทธิ์ครอบครองในปี 2483 ทั้งที่อุเทนถวายได้รับพระราชทานที่ดินให้ใช้เพื่อการศึกษา ยืนยันว่าอุเทนถวายไม่ได้มีปัญหากับจุฬาฯ แต่มีปัญหากับสำนักงานจัดการทรัพย์สินและผู้บริหารของจุฬาฯเท่านั้น

จากนั้นตัวแทนสโมสรนักศึกษาอุเทนถวาย พร้อมด้วยตัวแทนศิษย์เก่า และศิษย์ปัจจุบัน นำโดยนายทักษิต เรียบร้อย นายกสโมสรนักศึกษา น.ส.อชิรญา ชุวะนุติ ผู้แทนกรรมการสโมสรนักศึกษา วิทยาเขตอุเทนถวาย พร้อมด้วยตัวแทนนักศึกษาปริญญาโท ยื่นหนังสือแสดงเจตจำนงคัดค้านการย้ายอุเทนถวายและข้อเรียกร้องเพื่อเป็นแนวทางยุติข้อพิพาท โดยมีนายภคทัชช พัศภัคชญช์ ผู้อำนวยการสำนักงานจัดการทรัพย์สิน จุฬาฯ เป็นผู้รับเรื่อง โดยมีการยื่นข้อเรียบร้องประกอบด้วย

1.ขอคัดค้านการย้ายอุเทนถวาย และขอให้ธำรงตามพระราชประสงค์พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว เพื่อใช้เฉพาะกิจการการศึกษาวิชาช่าง โดยมีชื่ออุเทนถวายเช่นเดิม

2.ขอให้ทางสภามหาวิทยาลัย อธิการบดี และคณะผู้บริหาร สำนักงานทรัพย์สิน จุฬาฯ น้อมสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว

3.ขอให้ทางสภามหาวิทยาลัย อธิการบดี และคณะผู้บริหาร สำนักงานทรัพย์สิน จุฬาฯ ยึดหลัก บทบัญญัติใน พ.ร.บ.จุฬาฯ ว่า “ให้จุฬาฯ เพื่อเป็นสถานศึกษาและค้นคว้าในศาสตร์ต่างๆ และเพื่อจะส่งเสริมวิชาชีพชั้นสูง และทำนุบำรุงวัฒนธรรมแห่งชาติสืบไป”

4.ขอให้ทางสภามหาวิทยาลัย อธิการบดี และคณะผู้บริหาร สำนักงานทรัพย์สิน จุฬาฯ ยึดหลักเชิดชูการศึกษาเป็นที่ตั้ง

5.ขอเรียกร้องให้ทางสภามหาวิทยาลัย อธิการบดี และคณะผู้บริหาร สำนักงานทรัพย์สิน จุฬาฯ หยุดปรับเปลี่ยนการพัฒนาพื้นที่ โดยมุ่งเป็นการรักษาและพัฒนาการอยู่ร่วมกันของพื้นที่เพื่อการศึกษาที่ควรเป็นสาธารณสมบัติของชาติ เพื่อเป็นประโยชน์แก่ประชาชน แต่มิควรอ้างแค่เพียงกรรมสิทธิ์ในที่ดิน
6.ชาวอุเทนถวายได้ทำการร้องขอความเป็นธรรมให้พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลปัจจุบันทรงมีพระบรมราชวินิจฉัยในประเด็นนี้ด้วย อนึ่ง เพื่อเป็นการบรรเทาพระราชภาระของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ชาวอุเทนถวายขอให้สภามหาวิทยาลัย อธิการบดี และคณะผู้บริหาร สำนักงานทรัพย์สิน จุฬาฯ ทำข้อยุติปัญหาการนำที่ดินพิพาทด้วยการจดทะเบียนโฉนดที่ดินพิพาทเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดิน สำหรับประชาชนใช้ร่วมกันเป็นที่ตั้งสถานศึกษาเท่านั้น และออกหนังสือสำคัญสำหรับที่หลวงและจัดทำทะเบียนที่ดินสาธารณประโยชน์ตามกฎหมายกำหนด

7.ขอให้ทำการจารึก พันธสัญญา ข้อตกลงที่จะรักษาและทำนุบำรุงพื้นที่เพื่อการศึกษา ทางด้านวิชาชีพชั้นสูง ในชื่อทางด้านประวัติศาสตร์ “อุเทนถวาย” เพื่อประกาศให้เป็นพื้นที่สาธารณสมบัติ โดยมิอาจเปลี่ยนแปลง ยุบ ย้าย ได้อีกต่อไป ขอให้มุ่งเรื่องนิติธรรมเป็นที่ตั้ง

8.ขอให้มีการออกหนังสือแต่งตั้งคณะกรรมการขับเคลื่อนการดำเนินการและปฏิบัติให้เป็นไปตามข้อเรียกร้อง โดยแต่งตั้งคณะกรรมการทั้งสองฝ่ายในสัดส่วนเท่ากัน มีประธานและคณะกรรมการฝ่ายที่สามที่มาจากบุคคลภายนอกที่ไม่มีส่วนเกี่ยวข้อง เป็นกลางจากรัฐ หรือผู้มีส่วนเกี่ยวข้องทางการศึกษา โดยขอให้ระบุกำหนดการแล้วเสร็จอย่างเป็นรูปธรรม

9.กรณีที่ทางสำนักทรัพย์สิน จุฬาฯ ได้ให้ข้อมูลแก่หน่วยงานรัฐ เรื่องอุเทนถวายได้เซ็นข้อตกลงยินยอมคืนพื้นที่และชำระค่าเช่าที่ดิน ทำข้อตกลง วันที่ 11 มีนาคม 2547 จนเป็นเหตุให้เกิดข้อพิพาท นำไปสู่การฟ้องร้องขับไล่ไปที่อัยการสูงสุดเพื่อชี้ขาด ข้องเท็จจริงนั้นสำนักงานทรัพย์สิน จุฬาฯ ไม่เคยชี้แจงเอกสารยกเลิกบันทึกข้อตกลง วันที่ 10 มิถุนายน 2548 ซึ่งนำยื่นโดยนักศึกษากว่า 300 คน

เวลา 14.00 น. าศิษย์อุเทนถวาย ได้เดินทางไปยังกระทรวงอว. เพื่อยื่นหนังสือถึง น.ส.ศุภมาส อิศรภักดี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.)ให้แก้ป้ญหา โดยน.ส.ศุภมาส อิศรภักดี รมว.กระทรวง อว. เดินทางมารับข้อเรียกร้องของศิษย์ปัจจุบัน ศิษย์เก่า สมาคมศิษย์เก่าอุเทนถวาย สมาคมผู้ปกครองและครูอุเทนถวายพร้อมกับ น.ส.สุชาดา แทนทรัพย์ เลขานุการ รมว.อว., น.ส.เพชรดาว โต๊ะมีนา ที่ปรึกษา รมว.อว., นายบุญจง วงศ์ไตรรัตน์ กรรมการผู้ช่วยรัฐมนตรี (นายอนุทิน ชาญวีรกุล), นางกรณิศ งามสุคนธ์รัตน์ ประธานคณะทำงาน รมว.อว., นายเพิ่มสุข สัจจาภิวัฒน์ ปลัด ก.อว., ศ.ดร.ศุภชัย ปทุมนากุล รองปลัด ก.อว. โดยมีตัวแทนนักศึกษาปัจจุบันและศิษย์เก่ามหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล(มทร.) ตะวันออก วิทยาเขตอุเทนถวาย จำนวน 5 คนนำโดยนายศุภชัย ลิ้มพิพิฒน์โสภณ นายกสมาคมศิษย์เก่า นายคูณแสน โควศวนนท์ นายกสโมสรนักศึกษา เข้ายื่นข้อเรียกร้อง จำนวน 6 ข้อ

อาทิ ขอคัดค้านการย้ายอุเทนถวายออกจากที่ดินพิพาท ขอให้มีการออกหนังสือแต่งตั้งคณะกรรมการขับเคลื่อนการดำเนินการและปฏิบัติให้เป็นไปตามข้อเรียกร้อง โดยแต่งตั้งคณะกรรมการ 3 ฝ่าย สัดส่วนเท่ากัน ขอให้อุเทนถวายมีเอกสิทธิในการบริหารจัดการด้านการเรียนการสอนและพัฒนาสถานที่เพื่อรองรับการศึกษาได้เป็นเอกเทศ เป็นต้น โดยใช้เวลาประมาณ 15 นาที

.
จากนั้น น.ส.ศุภมาส แถลงข่าวว่า ตนตั้งใจมารับข้อเรียกร้องด้วยตัวเอง โดยจากข้อเรียกร้องทั้งหมด กระทรวง อว.จะรับประเด็นไว้เพื่อให้ทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องได้ใช้เป็นข้อมูลประกอบการพิจารณาเพื่อหาทางคลี่คลายปัญหาโดยเร็วที่สุด ซึ่งในบางเรื่องก็อยู่ระหว่างการพูดคุยหารือหาทางออกร่วมกัน เพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบต่อการจัดการเรียนการสอนของนักศึกษาและบุคลากรที่เกี่ยวข้อง และเพื่อให้เกิดความรอบคอบในการแก้ไขปัญหา แต่อย่างไรก็ตามการแก้ไขปัญหาจะต้องเคารพและยึดหลักของกฎหมาย โดยคำนึงถึงประโยชน์ต่อการจัดการศึกษาของประเทศเป็นสำคัญ

“ในส่วนของการเปิดรับนักศึกษาชั้นปีที่ 1 ในปีการศึกษา 2567 ของ มทร.ตะวันออก วิทยาเขตอุเทนถวาย ขอย้ำว่า ยังคงเปิดรับตามปกติ แต่ให้มีการบริหารจัดการการเรียนการสอนเพื่อให้สอดรับกับแผนการจัดการศึกษาของมหาวิทยาลัยที่ได้กำหนดไว้” น.ส.ศุภมาส กล่าว
.
ทั้งนี้ ก่อนหน้านี้ ขบวนศิษย์ปัจจุบัน ศิษย์เก่า สมาคมศิษย์เก่าอุเทนถวาย สมาคมผู้ปกครองและครูอุเทนถวาย ประมาณ 2,500 คนได้เคลื่อนขบวนมาที่กระทรวง อว.พร้อมกับสลับกันขึ้นปราศรัยโดยมีเจ้าหน้าที่ตำรวจนำโดย พล.ต.ต. อัฏธพร วงศ์ศิริปรีดา ผู้บังคับการตำรวจนครบาล 1 มาตรึงกำลังพร้อมวางแผงเหล็กกั้นบริเวณหน้ากระทรวง ขณะที่ น.ส.สุชาดา แทนทรัพย์ เลขาฯ รมว.อว. พร้อมกับ ศ.ดร.ศุภชัย ปทุมนากุล รองปลัดก.อว.ได้คอยเจรจากับกลุ่มผู้ชุมนุมเป็นระยะอย่างต่อเนื่องเพื่อให้บรรยากาศการชุมนุมคลี่คลายลง

.