“กรมคุมประพฤติ” เข้าพบ “ทักษิณ” บ้านจันทร์ส่องหล้า แจงขั้นตอนพักโทษ-นัดรายงานตัวเดือน มี.ค. พร้อมผ่าขั้นตอนละเอียดยิบ “ทักษิณ” ห้ามทำอะไรบ้างระหว่างพักโทษ ผ่านหลักการ “5 ห้าม 5 ให้” ย้ำชัด ไม่มีข้อห้ามทักษิณนั่งบอร์ดกรรมการ-ที่ปรึกษาทางการเมือง
จากกรณี นายทักษิณ ชินวัตร ในฐานะผู้ต้องขังเด็ดขาด เรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ ได้รับการพักการลงโทษ แจ้งสถานที่พัก บ้านจันทร์ส่องหล้า เลขที่ 472 ซ.จรัญสนิทวงศ์ 69 แขวงและเขตบางพลัด กทม. โดยสิ้นสุดกระบวนการรักษาตัวภายนอกเรือนจำบนชั้น 14 รพ.ตำรวจ ก่อนเดินทางออกจากอาคารเมื่อช่วงเช้า วันที่ 18 ก.พ.2567 และตรงเข้าบ้านจันทร์ส่องหล้า
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 20 ก.พ. ที่ผ่านมา ปรากฏรถตู้ของกรมคุมประพฤติ สีบรอนซ์เงิน ยี่ห้อ Toyota ทะเบียน 1 นง 6601 กทม. ขับเข้าไปภายในซอยจรัญสนิทวงศ์ 69 และเข้าไปในบ้านจันทร์ส่องหล้า ล่าสุด เมื่อวันที่ 23 ก.พ. พ.ต.ท.มนตรี บุณยโยธิน รองอธิบดีกรมคุมประพฤติ เปิเผยว่า ภายหลังจากที่มีการรายงานข่าวตามสื่อมวลชนตลอดสัปดาห์ว่า 1 ใน 930 ผู้ได้รับการพักโทษ คือ นายทักษิณ ชินวัตร ทำให้ เมื่อวันที่ 20 ก.พ.ที่ผ่านมา อธิบดีกรมคุมประพฤติ ได้มอบหมายให้ เจ้าหน้าที่สำนักงานคุมประพฤติกรุงเทพมหานคร 1 ซึ่งเป็นสำนักงานที่เป็นผู้รับผิดชอบในพื้นที่เขตดังกล่าว เดินทางเข้าพบนายทักษิณและผู้อุปการะ พร้อมกับแจ้งเงื่อนไข ข้อกำหนดการพักโทษและนัดหมายรายงานตัวในครั้งถัดไป
สำหรับการนัดหมายรายงานตัวในเดือน มี.ค. กรณีหากนายทักษิณ ยังคงอยู่ระหว่างการพักฟื้นรักษาตัว หรือ การตรวจรักษากับแพทย์ ทางเจ้าหน้าที่คุมประพฤติจะต้องประสานติดต่อกับผู้อุปการะว่าสะดวกให้เข้าพบยังบ้านจันทร์ส่องหล้าในวันเวลาใด หรือถ้ายังไม่สะดวกในเดือนนั้น ๆ ก็สามารถแจ้งเลื่อนได้ แต่ถ้าอดีตนายกรัฐมนตรี มีอาการดีขึ้น สะดวกในการเดินทางเข้าพบเจ้าหน้าที่คุมประพฤติด้วยตัวเอง ก็สามารถเดินทางไปรายงานตัวที่สำนักงานคุมประพฤติกรุงเทพมหานคร 1 ถนนพรานนก แขวงบ้านช่างหล่อ เขตบางกอกน้อย กรุงเทพฯ จึงขึ้นอยู่กับอาการเจ็บป่วยในช่วงเวลานั้น ๆ อย่างไรก็ตาม หลักการโดยรวมของการรายงานตัวของผู้ถูกคุมความประพฤติ คือ ต้องรายงานตัวทุกเดือน โดยในแต่ละเดือนสามารถขยับวันเวลาบวกลบได้ เช่น ขยับวันเวลาการรายงานตัวเข้ามาเร็วขึ้น เพียงแค่ต้องไม่เกินปฏิทินในเดือนนั้น และถ้ารายงานตัวครบ 4 เดือน ครั้งถัดไปก็สามารถลดหย่อนได้ เป็น 2 เดือน ค่อยรายงานตัว ซึ่งก็เป็นไปตามเกณฑ์ที่ถูกใช้กับผู้ถูกคุมประพฤติรายอื่น ๆ
ส่วนข้อกำหนด ข้อห้าม หรือเงื่อนไขต่าง ๆ ระหว่างการพักโทษ คือ “5 ให้ 5 ห้าม” ซึ่งถูกระบุในหนังสือสำคัญแจ้งการพักการลงโทษ หรือใบ พ.8 ซึ่งเป็นเอกสารของกรมราชทัณฑ์ สำหรับผู้ได้รับการพักโทษกรณีมีเหตุพิเศษฯ ประกอบด้วย 5 ให้ คือ 1.ให้รายงานตัวกับกรมคุมประพฤติภายใน 3 วัน 2.ให้อยู่ในความดูแลของผู้อุปการะ 3.ให้ปฏิบัติตามกฎหมายระเบียบแบบแผน หากฝ่าฝืนหรือมีปัญหาใดให้ผู้ถูกคุมความประพฤติรายงานให้ผู้คุมประพฤติรับทราบ ส่วนการจะผิดเงื่อนไขหรือไม่ ผู้คุมประพฤติจะตรวจสอบและวินิจฉัย หากผิดเงื่อนไขก็ต้องส่งตัวกลับเข้าเรือนจำฯ 4.ให้ประกอบอาชีพสุจริต ถ้าเปลี่ยนอาชีพก็ต้องแจ้งผู้คุมประพฤติรับทราบ 5.ให้ปฏิบัติตามคำแนะนำของพนักงานคุมประพฤติ
ส่วน 5 ห้าม คือ 1.ห้ามออกนอกเขตจังหวัด หากมีกิจธุระจำเป็นต้องแจ้งผู้คุมประพฤติเพื่อขออนุญาต และต้องแจ้งกำหนดเวลาการไป-กลับ อยู่ยาวเป็นเดือนไม่ได้ 2.ห้ามประพฤติเสื่อมเสีย เช่น เล่นการพนันหรือดื่มสุราจนมีอาการมึนเมาจนก่อให้เกิดความเสียหาย ส่วนจะดื่มไวน์หรือไปสังสรรค์เล็กน้อยไม่ก่อความเดือดร้อนรำคาญแก่สังคมสามารถทำได้ 3.ห้ามเกี่ยวข้องกับสารระเหยหรือยาเสพติด 4.ห้ามไปเยี่ยมผู้ต้องขังอื่นที่ถูกคุมขังภายในเรือนจำ/ทัณฑสถาน และ 5.ห้ามคบค้าสมาคมกับผู้ที่จะนำไปสู่การกระทำความผิดซ้ำ
เมื่อถามว่าการไปดำรงตำแหน่งนั่งบอร์ดกรรมการหรือไปเป็นที่ปรึกษาในทางการเมืองสามารถทำได้ในระหว่างการพักโทษหรือไม่ พ.ต.ท.มนตรี อธิบายว่า ตนมองว่าในฐานะผู้ได้รับการพักโทษที่เตรียมจะกลับเข้าสู่สังคม เมื่อได้รับการพ้นโทษนั้น ระหว่างนี้ก็สามารถทำหน้าที่ต่างๆได้ แต่สิ่งสำคัญคือต้องไปดูว่าบอร์ดกรรมการนั้น ๆ หรือตำแหน่งที่ปรึกษาในทางการเมืองนั้นๆ มีการกำหนดคุณสมบัติของผู้ที่จะไปดำรงตำแหน่งโดยมีข้อยกเว้นประการใดหรือไม่ เช่น มีข้อห้ามไม่ให้ผู้ที่เป็นผู้ต้องขังเด็ดขาดมาดำรงตำแหน่งหรือไม่ เป็นต้น คล้ายลักษณะของกรณีที่บุคคลใดจะไปสมัครรับเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (สส.) ก็จะมีข้อห้ามกำหนดไว้ว่าต้องไม่เป็นผู้ที่ต้องคำพิพากษาของศาลมาก่อน ดังนั้น ในระหว่างการพักโทษจึงยังไม่มีการห้ามในเรื่องของงานทางการเมือง เพราะอย่างไรแล้ว ผู้ได้รับการพักโทษ เมื่อพ้นโทษก็จะได้ใช้ชีวิตปกติและมีสิทธิในฐานะคนไทยตามรัฐธรรมนูญทุกประการ