“ราชทัณฑ์” เผยวันปล่อยตัว “ทักษิณ’ ไม่ต้องติดกำไล EM ดีเดย์ 18 ก.พ.67

“อธิบดีกรมราชทัณฑ์” ย้ำ วันปล่อยตัว “ทักษิณ” คือวันถัดจากวันครบรับโทษ 6 เดือน ตรงกับวันที่ 18 ก.พ.2567 ยัน สูงอายุ-เจ็บป่วย ไม่ต้องติดกำไล EM ส่วนเรื่องอายัดตัวในคดี ม.112 เป็นอำนาจของอัยการ

วันที่ 14 ก.พ.2567 เวลา 10.30 น. ที่ เรือนจำพิเศษมีนบุรี ถนนสุวินทวงศ์ เขตมีนบุรี กรุงเทพฯ พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง รมว.ยุติธรรม พร้อมด้วยนายสหการณ์ เพ็ชรนรินทร์ อธิบดีกรมราชทัณฑ์ นายสิทธิ สุธีวงศ์ รองอธิบดีกรมราชทัณฑ์ และในฐานะโฆษก นพ.สมภพ สังคุตแก้ว ผู้ตรวจราชการกรมราชทัณฑ์ และนายนนทรัตน์ หอมศรีประเสริฐ ผบ.เรือนจำพิเศษมีนบุรี ร่วมกันเปิดเรือนจำศูนย์ระหว่างการพิจารณาคดี เพื่อแยกผู้ต้องขังระหว่างการพิจารณาคดีออกจากผู้ต้องขังเด็ดขาด โดยเรือนจำพิเศษมีนบุรี ถือเป็น 1 ใน 8 เรือนจำนำร่อง

ภายหลังเสร็จสิ้นพิธีการ นายสหการณ์ เพ็ชรนรินทร์ อธิบกรมราชทัณฑ์ ได้ออกมาเปิดเผยถึงกรณีที่วานนี้ (13 ก.พ.) พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง รมว.ยุติธรรม ยอมรับว่ามีรายชื่อของนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี อยู่ในรายชื่อของผู้ที่จะได้รับการพักโทษในรอบถัดไป ว่า การที่จะได้รับการปล่อยตัวพักโทษในวันใดนั้น ตนขอกล่าวตามหลักการว่า คำว่าครึ่งปี หรือ 6 เดือน ให้เอา 30 วันไปคูณ ก็ให้นักข่าวไปนับว่าครบวันไหน และวันถัดไปของวันครบการรับโทษก็คือวันปล่อยสำหรับพักโทษ และแนวทางปฏิบัติของกรมราชทัณฑ์นั้นจะต้องมีการประสานกับหลายหน่วยงาน หากเรือนจำแห่งใดได้ประสานกับกรมคุมประพฤติไว้เรียบร้อยแล้ว ก็สามารถปล่อยตัวในวันเสาร์-อาทิตย์ได้ แต่หากบางแห่งกรมคุมประพฤติยังไม่พร้อม ก็อาจต้องเลื่อนไปปล่อยตัวในวันปกติแทนส่วนขั้นตอนการรายงานตัวของผู้ได้รับการพักโทษนั้น นายสหการณ์ เผยว่า กรมคุมประพฤติจะเป็นผู้กำหนดแนวทางการปฏิบัติและเงื่อนไข รวมถึงข้อห้ามเพื่อแจ้งแก่ผู้ที่ได้รับการพักโทษให้ปฏิบัติตาม สำหรับผู้ได้รับการพักโทษที่มีอายุ 70 ปีขึ้นไป ตนยืนยันว่าไม่ต้องใส่กำไล EM ซึ่งเรื่องนี้เป็นมติของคณะกรรมการที่มีมานานแล้วว่า ผู้ต้องขังสูงอายุ 70 ปีขึ้นไป เจ็บป่วย หรือพิการ จะไม่ต้องใส่กำไล EM เพราะถือว่าอยู่ในเงื่อนไข และต้องมีการเก็บข้อมูลมาประเมินร่วมด้วยว่าคนกลุ่มนี้ไม่เคยกระทำผิดซ้ำ ยืนยันว่าทุกอย่างเป็นไปตามระเบียบขั้นตอนตามกฎหมาย

นายสหการณ์ เผยต่อว่า การพักโทษนั้น ไม่ต้องแจ้งการปล่อยตัวต่อศาล เนื่องจากเป็นการพักโทษ ไม่ใช่หมายปล่อยตัว และนักโทษยังอยู่ระหว่างคำพิพากษาของศาล และกรมราชทัณฑ์ก็ต้องปฏิบัติตามคำพิพากษาของศาลอยู่ แต่การพักโทษนั้น ก็คือการที่ผู้ต้องขังซึ่งเคยอยู่ในเรือนจำ ก็สามารถออกไปอยู่ที่บ้านหรือในสังคมได้ ส่วนเรื่องการที่เจ้าหน้าที่ตำรวจหรืออัยการจะพิจารณาอายัดตัวนายทักษิณ ในความผิดตามมาตรา 112 หลังได้รับการพักโทษนั้น ตนขอเรียนว่าเป็นอำนาจของอัยการ.

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับวันถัดไปหลังจาก นายทักษิณ ชินวัตร ผู้ต้องขังเรือนจำพิเศษกรุงเทพ ได้รับโทษมาครบ6เดือนเข้าเกณฑ์ได้รับการพักโทษ จะตรงกับวันอาทิตย์ ที่ 18 ก.พ.2567 นับตั้งแต่กลับถึงประเทศไทย เมื่อวันที่ 22 ส.ค.2566