ศาลออกหมายจับ ตะวัน-เพื่อน ในข้อหาพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์-มาตรา 116 หลัง ‘บิ๊กโจ๊ก’จัดหนัก สั่ง น.1 เร่งรัดเอาผิดทุกข้อหา รวม ม.116 ปม ‘ตะวัน’ ป่วนขบวนเสด็จฯ
จากกรณีตำรวจ สน.ปทุมวัน สน.นางเลิ้ง และสน.สำราญราษฎร์ เสนออัยการไปเมื่อวันที่ 8 ก.พ.ที่ผ่านมา เพื่อขอให้ศาลเพิกถอนการปล่อยตัวชั่วคราว น.ส.ทานตะวัน ตัวตุลานนท์ หรือ ตะวัน อายุ20ปี ผู้ต้องหาคดีมาตรา 112, พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์, คดีบุกรุก, ขัดขวางเจ้าพนักงาน ภายหลังแสดงออกกับขบวนเสด็จฯ บนทางด่วน เมื่อวันที่ 4 ก.พ.ที่ผ่านมานั้น
ล่าสุดวันที่ 13 ก.พ.67 พนักงานสอบสวน สน.ดินแดง ขอศาลอาญา ออกหมายจับ น.ส.ทานตะวัน หลังจากเมื่อวันที่ 12 ก.พ.ที่ผ่านมา ตำรวจออกหมายเรียกครั้งที่ 2 เพื่อให้มาพบพนักงานสอบสวน เพื่อรับทราบข้อกล่าวหา แต่ตะวันขอเลื่อนไปเป็นวันที่ 20 ก.พ. เนื่องจากติดภารกิจการเรียน
แต่ตำรวจมองว่า เหตุผลไม่เพียงพอ เนื่องจากเลิกเรียนก็สามารถมาพบพนักงานสอบสวนได้ จึงทำเรื่องขอออกหมายจับตะวันต่อศาลในเช้านี้ โดยมีรายงานด้วยว่าตำรวจได้เข้าค้นบ้าน แต่ไม่พบตัวน.ส.ทานตะวัน
โดยมีรายงานว่า ศาลอาญา ออกหมายจับ น.ส.ทานตะวัน ในข้อกล่าวหาและความผิดตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ และมาตรา 116 รวมทั้งยังออกหมายจับนายณัฐนนท์ ไชยมหาบุตร ในข้อหาตามความผิดพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ และ มาตรา 116 เช่นกันก่อนหน้านี้ ที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ตร.) พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ หักพาล รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (รอง ผบ.ตร.) ปฏิบัติราชการแทน ผบ.ตร. ได้มีวิทยุราชการสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ที่ 0001(มค)/98 ลงวันที่ 12 กุมภาพันธ์ 2567 ถึง ผบช.น. (ผู้รับปฏิบัติ) และ ผบ.ตร., ผู้ช่วย ผบ.ตร. ในสายงานมั่นคง (ผู้รับทราบ) ใจความว่า ด้วยได้ปรากฏข่าวสารในสื่อสังคมออนไลน์ต่างๆเสนอเรื่องที่ น.ส.ทานตะวัน ตัวตุลานนท์ อายุ 20 ปี กับพวก ได้ขับรถยนต์ยี่ห้อเอ็มจี สีขาว หมายเลขทะเบียน 8 กจ 1711 กรุงเทพมหานคร บีบแตรรถยนต์ลากยาว ระหว่างเจ้าหน้าที่ตำรวจปฏิบัติหน้าที่ถวายความปลอดภัยสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ขณะเสด็จผ่านทางร่วมต่างระดับมักกะสัน โดยขับรถยนต์ด้วยความเร็วเพื่อไปให้ทันขบวนเสด็จ
ซึ่งต่อมาเจ้าหน้าที่ตำรวจปฏิบัติหน้าที่รถปิดท้ายได้สกัดกั้นรถยนต์คันดังกล่าวไว้ จนได้มีการโต้เถียง แม้ต่อมามีกระแสสังคมวิพากษ์วิจารณ์ถึงพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสม แต่ก็ยังปรากฏข่าวว่ากลุ่มบุคคลของ น.ส.ตะวัน มีการนัดหมายทำกิจกรรมที่สกายวอล์ค สถานีรถไฟฟ้าบีทีเอสสยาม เพื่อทำโพลถามความคิดเห็นในหัวข้อ “คุณคิดว่าขบวนเสด็จฯ สร้างความเดือดร้อนหรือไม่” อีกด้วย นั้น
พฤติกรรมดังกล่าว อาจเป็นภัยอันเกิดจากบุคคลหรือกลุ่มบุคคลที่ก่อให้เกิดความไม่สงบสุข เป็นภัยต่อความมั่นคงที่สามารถขยายตัวจนส่งผลกระทบเป็นวงกว้างได้ ดังนั้น เพื่อเสริมสร้างให้ประชาชนตระหนักในหน้าที่ต้องพิทักษ์รักษาไว้ซึ่งชาติ ศาสนาและสถาบันพระมหากษัตริย์ รวมทั้งส่งเสริมให้ทุกฝ่ายเข้ามามีส่วนร่วมในการป้องกัน และแก้ไขปัญหาที่กระทบต่อความมั่นคงและความสงบของสังคม จึงให้ บช.น. ดำเนินการ ดังนี้
1.กำกับ ติดตามและเร่งรัดดำเนินการในทุกข้อหาความผิด รวมทั้งให้พิจารณาพฤติการณ์ก่อนการกระทำผิด ขณะกระทำผิด และหลังจากกระทำความผิด ว่ามีการยุยงปลุกปั่นด้วยวิธีการต่างๆ เพื่อให้เกิดความปั่นป่วนและให้ผู้อื่นล่วงละเมิดกฎหมาย ที่จะเข้าข่ายกระทำความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา ม.116 ด้วยหรือไม่ 2.กำหนดแนวทางในการป้องกัน ปราบปราม ระงับ ยับยั้งและแก้ไขปัญหาที่อาจส่งผลกระทบต่อความมั่นคงในราชอาณาจักรความสงบของสังคม เพื่อมิให้เกิดเหตุการณ์ในลักษณะเช่นนี้อีก.