“พีระพันธุ์” ประธาน กพยช. ย้ำ “ความยุติธรรมที่แท้จริง รัฐต้องสนับสนุนประชาชน ไม่ใช่รัฐเป็นอุปสรรค” เร่งทบทวนแก้ไขกฎหมายให้เหมาะสม – ฟื้นฟูหลักนิติธรรม เพื่อยกระดับงานด้านกระบวนการยุติธรรม
วันที่ 8 ก.พ. 2567 สำนักงานกิจการยุติธรรม จัดการประชุมคณะกรรมการพัฒนาการบริหารงานยุติธรรมแห่งชาติ (กพยช.) ครั้งที่ 1 ประจำปี พ.ศ. 2567 ณ ตึกภักดีบดินทร์ ทำเนียบรัฐบาล โดยมี นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รองนายกรัฐมนตรี และ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เป็นประธานกรรมการ พร้อมด้วย พันตำรวจเอก ทวี สอดส่อง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม รองประธานกรรมการ ปลัดกระทรวงยุติธรรม หัวหน้าส่วนราชการและผู้แทนจากหน่วยงานต่าง ๆ อาทิ สำนักงานศาลยุติธรรม สำนักงานตำรวจแห่งชาติ สำนักงานอัยการสูงสุด กระทรวงมหาดไทย ผู้ทรงคุณวุฒิใน กพยช. ได้แก่ นายชาญเชาวน์ ไชยานุกิจ ว่าที่พันตรี ดร.สมบัติ วงศ์กำแหง รวมทั้งผู้แทนคณบดีคณะนิติศาสตร์ จากมหาวิทยาลัยภาครัฐ เข้าร่วมประชุมนายพีระพันธุ์ ได้มอบนโยบายสำคัญในการประชุม โดยมุ่งเน้นให้ความสำคัญกับความต้องการของประชาชนเป็นหลัก ซึ่งรวมถึงการพัฒนางานด้านกระบวนการยุติธรรม ว่า “ความยุติธรรมที่แท้จริง คือการทำให้ประชาชนรู้สึกว่าอยู่ในสังคมได้อย่างถูกต้องตามกฎเกณฑ์ กติกา และได้รับความเป็นธรรม โดยกฎหมายจะต้องได้รับการทบทวนปรับปรุงแก้ไขให้มีความเหมาะสม และรัฐต้องปรับเปลี่ยนเป็นรัฐที่สนับสนุนประชาชนในการดำรงชีพ ไม่ใช่เป็นรัฐที่เป็นอุปสรรค” การประชุมครั้งนี้ได้พิจารณาและมีมติให้มีการทบทวนพระราชบัญญัติหลักเกณฑ์การจัดทำร่างกฎหมายและการประเมินผลสัมฤทธิ์ของกฎหมาย พ.ศ. 2562 เนื่องจากครบระยะเวลา และพิจารณาลักษณะกฎหมายที่ไม่ควรดำเนินการตามหลักเกณฑ์ของพระราชบัญญัติฯ เพื่อให้เกิดความรวดเร็ว เช่น กฎหมายที่ให้ประโยชน์แก่ประชาชน และไม่ได้ส่งผลกระทบทางลบในการดำรงชีพ นอกจากนี้ ยังมีมติให้ฟื้นฟูหลักนิติธรรมให้เกิดความเข้มแข็ง โดยผลักดันให้ค่าคะแนนดัชนีชี้วัดหลักนิติธรรมเพิ่มขึ้น เพื่อพัฒนานวัตกรรมและยกระดับงานด้านกระบวนการยุติธรรมตามหลักนิติธรรมอีกทั้ง ยังได้หยิบยกประเด็นปัญหาอุปสรรคเกี่ยวกับการบริหารงานยุติธรรม พร้อมกำหนดแนวทางในการแก้ไข อาทิ การบังคับใช้ประมวลกฎหมายยาเสพติด ที่กำหนดให้ผู้เสพเป็นผู้ป่วย โดยเห็นควรเพิ่มกลไกบังคับบำบัด และนำกำไล EM มาใช้ เพื่อให้กระบวนการแก้ไขฟื้นฟูผู้ติดยาเสพติดมีประสิทธิภาพเพิ่มมากขึ้น การทบทวนพระราชบัญญัติทนายความ พ.ศ. 2528 เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการพัฒนาทนายความ โดยเน้นการฝึกอบรมให้มีภาคปฏิบัติเพิ่มมากขึ้น รวมถึงเพิ่มการเชื่อมโยงข้อมูลด้านกระบวนการยุติธรรม และนำเทคโนโลยีมาใช้ในการให้บริการประชาชน