อว.เตรียมลงนาม MOU “ไทย-กัมพูชา” หุ้นส่วนยุทธศาสตร์การพัฒนาอุตสาหกรรมที่ต้องอาศัยนวัตกรรมและเทคโนโลยีชั้นสูง 7 ก.พ.นี้ รับการเยือนไทยอย่างเป็นทางการของ สมเด็จมหาบวรธิบดี ฮุน มาเนต นายกรัฐมนตรีกัมพูชา
วันที่ 6 ก.พ.2567 น.ส.ศุภมาส อิศรภักดี รมว.การอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) เปิดเผยหลังประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ว่า ครม. มีมติเห็นชอบร่างบันทึกความเข้าใจระหว่าง กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งราชอาณาจักรไทย กับ กระทรวงอุตสาหกรรม วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรมแห่งราชอาณาจักรกัมพูชา ว่าด้วยความร่วมมือด้านวิชาการ วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี พร้อมอนุมัติให้ รมว.อว. เป็นผู้ลงนามในร่างบันทึกความเข้าใจฯ ดังกล่าว โดยมีกำหนดการจัดพิธีลงนามร่วมกันระหว่าง รมว.อว. และรมว.อุตสาหกรรม วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรมแห่งราชอาณาจักรกัมพูชา ในระหว่างการเยือนไทยอย่างเป็นทางการของสมเด็จมหาบวรธิบดี ฮุน มาเนต นายกรัฐมนตรีราชอาณาจักรกัมพูชาและคณะผู้แทนจากกระทรวงต่าง ๆ ของกัมพูชา ในวันที่ 7 ก.พ.2567 ณ ตึกสันติไมตรีหลังใน ทำเนียบรัฐบาล
น.ส.ศุภมาส กล่าวว่า ที่ผ่านมา อว. ได้ดำเนินความร่วมมือทางด้านการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมร่วมกับ MISTI อย่างต่อเนื่อง เช่น การดำเนินโครงการแพลตฟอร์มการเรียนรู้ออนไลน์สำหรับอุตสาหกรรม 4.0 (Online Education Platform for Industry 4.0) ร่วมกันระหว่างไทย กัมพูชาและอาเซียน การแลกเปลี่ยนนักวิจัยและนักวิทยาศาสตร์ การฝึกอบรมเพื่อพัฒนาทักษะสำหรับบุคลากร วัยทำงาน (Reskill/Upskill) ทางด้านอี-คอมเมิร์ซ, เทคโนโลยี, การจัดการของเสียและโลจิสติกส์ การแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ในการดำเนินงานอุทยานวิทยาศาสตร์และพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์ การถ่ายทอดองค์ความรู้ด้านมาตรวิทยา การจัดประชุมเชิงปฏิบัติการเพื่อการพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศโดยเฉพาะการใช้ข้อมูลจากดาวเทียมเพื่อวิเคราะห์และประเมินการเปลี่ยนแปลงของภูมิอากาศและการสร้างดาวเทียมขนาดเล็ก การใช้แสงซินโครตรอนเพื่อพัฒนาอุตสาหกรรม เป็นต้น
“การจัดทำบันทึกความเข้าใจฯ นี้ จะเป็นการยกระดับความร่วมมือระหว่าง อว. กับ MISTI ให้ใกล้ชิดยิ่งขึ้นบนพื้นฐานของความเสมอภาค ผลประโยชน์ร่วมกัน และความเป็นหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์ระหว่างไทย – กัมพูชา รวมทั้งเป็นกรอบในการสร้างความเป็นหุ้นส่วนความร่วมมือระหว่างหน่วยงานของไทยและกัมพูชาผ่านโครงการและกิจกรรมในรูปแบบต่าง ๆ โดยเฉพาะการพัฒนาองค์ความรู้และบุคลากรเพื่อรองรับการส่งเสริมการเติบโตของอุตสาหกรรมที่ต้องอาศัยนวัตกรรมและเทคโนโลยีชั้นสูงซึ่งตอบโจทย์นโยบายในการพัฒนาเศรษฐกิจของทั้งสองประเทศ” น.ส.ศุภมาส กล่าว