รมช.คลัง เผย นัดประชุม คณะกก.ดิจิทัลวอลเล็ตสัปดาห์หน้า เล็งตั้งอนุกก.พิจารณารูปแบบและกฎเกณฑ์ หาก ป.ป.ช. ส่งความเห็นมาค่อยพิจารณาประกอบ ยอมรับ ต้องเลื่อนดำเนินการจากกำหนดเดิม พ.ค.67 ออกไปก่อน
วันที่ 6 ก.พ.2567 นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวถึงการเข้าหารือกับ นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง บนตึกไทยคู่ฟ้า เมื่อช่วงบ่ายวานนี้ (5 ก.พ.) ว่า ได้หารือหลายเรื่อง แต่เรื่องที่ทุกคนให้ความสนใจมากที่สุดคือเรื่องดิจิทัลวอลเล็ต ก็ได้หารือกันหลายประเด็น เพราะตั้งแต่ 1 เดือนที่ผ่านมา ตัวเลขเศรษฐกิจที่ออกมาหนักหน่วงขึ้นเรื่อยๆ ประชาชนขาดความมั่นใจในการใช้จ่าย ส่วนภาคการลงทุนจากเอกชนก็ไม่กล้าที่จะลงทุน ขณะที่การลงทุนของต่างชาติที่รัฐบาลพยายามดึงมาก็ประสบความสำเร็จหลายเรื่อง แต่กว่าจะมีผลเห็นเม็ดเงินที่ลงทุนได้จริงก็ใช้เวลา ซึ่งขณะนี้ภาคการบริโภคเงินก็ชะลอตัวลงไปอย่างเห็นได้ชัด โดยเฉพาะอัตราเงินเฟ้อที่ติดลบ 4 เดือนต่อเนื่อง
สาเหตุหนึ่งที่อาจจะอ้างได้คือการลดราคาพลังงานของรัฐบาลจำเป็นต้องทำ เพื่อให้ประชาชนสามารถประคับประคองในภาวะเศรษฐกิจที่วิกฤติอยู่ในขณะนี้ แต่ในขณะเดียวกัน เกิดจากอัตราดอกเบี้ยที่สูงกว่าอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ขึ้นถึงร้อยละ 2.5 ซึ่งดูดซับสภาพคล่องมากพอสมควร ทำให้สถานการณ์ประเทศไทยตอนนี้เหมือนกับปลาในบ่อที่มีน้ำเหลืออยู่น้อยก็ดิ้นอยู่ไม่ได้ จึงจำเป็นต้องเติมน้ำเข้าไปให้เพียงพอกับจำนวนปลาและขนาดของบ่อ ต้องการเม็ดเงินใหม่เข้าไป นั่นคือการเติมเงินผ่านดิจิทัลวอลเล็ต ซึ่งต้องออกพระราชบัญญัติกู้เงิน แต่เมื่อมีข้อท้วงติงมาจึงได้พิจารณาเมื่อเกือบเดือนที่แล้วว่า อาจต้องรอความเห็นจากคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ก่อน หลังจากที่มีเอกสารหลุดออกมา จะโดยจงใจหรือไม่ ก็ไม่อาจทราบสาเหตุได้ แต่เมื่อได้เห็นแล้วก็ต้องรับฟัง และเมื่อรอมาถึงขนาดนี้แล้วยังไม่มีความชัดเจน
แต่ทั้งนี้ ได้ยินข่าวว่าจะเอาเข้าที่ประชุมสัปดาห์นี้ หากเป็นเช่นนั้นสิ่งที่ ป.ป.ช. จะส่งมาเป็นความเห็น ข้อเสนอแนะ และข้อห่วงใย ไม่สามารถจะมากำหนดทิศทางนโยบายของรัฐบาลได้ แต่สิ่งที่รัฐบาลจะทำคือคู่ขนานไปเลย จึงมีความคิดเห็นตรงกันกับนายกรัฐมนตรีว่า จะนัดประชุมบอร์ดดิจิทัลวอลเล็ตภายในต้นสัปดาห์หน้า โดยจะหารือนำเอาข้อห่วงใยทั้งเรื่องทุจริตคอร์รัปชัน แต่ขอยืนยันว่ายังไม่มีเหตุการณ์อะไรเกิดขึ้น เพราะยังไม่ได้เดินหน้าโครงการนี้อย่างเป็นทางการ จึงไม่มีเหตุใดๆ ที่จะบอกว่าจะมีการทุจริตคอร์รัปชันเกิดขึ้น
“สิ่งที่รัฐบาลจะทำตามแผนเดิมก็คือตั้งอนุกรรมการในการติดตามการใช้จ่ายอย่างผิดประเภท โดยจัดตั้งขึ้นมาล่วงหน้า และให้คณะอนุกรรมการชุดนี้ไปวางแผนกำหนดกฎเกณฑ์และรูปแบบในการทำงาน เพื่อยืนยันให้มั่นใจว่ากลไกของดิจิทัลวอลเล็ตต้องไม่มีการทุจริตคอร์รัปชัน และจะไม่มีการใช้เงินผิดประเภท”
ส่วนข้อห่วงใยประเด็นที่ 2 คือสถานการณ์ทางเศรษฐกิจว่ารูปแบบการกระตุ้นจะได้ผลลัพธ์มากน้อยแค่ไหน เรื่องนี้ต้องบอกว่าด้วยโมเดลทางเศรษฐศาสตร์ที่มีอยู่ในปัจจุบันไม่มีโมเดลไหนที่จะชี้ชัดได้ว่า โครงการที่มีสุดท้ายจะมีผลกระตุ้นต่อเศรษฐกิจได้ในระดับใด แต่เป็นเพียงการคาดเดา สิ่งที่รัฐบาลอยากจะทำให้ชัดเจนคือความต้องการของประชาชนและเอกชน รวมถึงความคิดเห็นของส่วนงานใหม่ๆ ซึ่งได้วางแผนว่าจะตั้งคณะอนุกรรมการมาอีกชุดหนึ่ง ที่จะไปรับฟังความคิดเห็นเก็บข้อมูลต่างๆ มาให้เป็นที่ประจักษ์
อีกทั้งในระหว่างที่รัฐบาลได้ทำงานมาจนถึงวันนี้ ได้ฟังเสียงจากเอกชนจำนวนมาก รวมทั้งธนาคารต่างๆ ทุกคนมองเห็นประโยชน์ที่จะเดินหน้าโครงการนี้ และอยากเข้ามามีส่วนร่วม คืออยากจะสร้างแอปพลิเคชันขึ้นมาเป็นระบบแลกเปลี่ยนกลางของภาครัฐสามารถเชื่อมต่อได้กับภาคเอกชน ทั้งธนาคารพาณิชย์ หรือสถาบันการเงินของรัฐ ก็มีข้อคิดเห็นและข้อเสนอแนะมา และอาจนำไปหารือในการประชุมสัปดาห์หน้า เพื่อจะมอบหมายให้คณะกรรมการสักกลุ่ม เป็นผู้ที่จะไปหารือหรือทำงานเพิ่มเติมกับธนาคารพาณิชย์ เพื่อจะหาหนทางสร้างการเชื่อมต่อระหว่างธนาคารพาณิชย์กับระบบดิจิทัลวอลเล็ตให้แอปพลิเคชันสามารถใช้ได้อย่างครอบคลุม กว้างขวาง และเป็นประโยชน์กับประชาชน ที่สำคัญจะเป็นการเชื่อมโยงระบบชำระจ่ายเงินของประเทศเพื่อให้มีความสมบูรณ์มากขึ้น
สำหรับความเห็นของหน่วยงานอื่นๆ เช่น คณะกรรมการกฤษฎีกา ก็ต้องมาให้คำตอบในข้อห่วงใยและข้อคิดเห็น ส่วนข้อเสนอแนะที่ยังมาไม่ถึงของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) นั้น ระหว่างที่รอก็จะทำงานคู่ขนานไป และจำเป็นที่จะต้องประชุมเพื่อนำเอาความคิดเห็นเหล่านี้เข้าที่ประชุม เพื่อหาหนทางที่จะตอบคำถามนั้นต่อไป
“ตอนนี้ไทม์ไลน์ที่จะได้ใช้เงินก็ขยับออกไปแล้วจากเดือนพฤษภาคม แต่ยังไม่มีไทม์ไลน์ใหม่ เพราะด้วยสภาพของเศรษฐกิจที่เป็นอยู่ตอนนี้ เป็นเรื่องเร่งด่วนที่รัฐบาลต้องเร่งทำ จะหยุดรอไม่ได้ แม้จะมีอุปสรรคหรือเรื่องติดขัดใดบ้าง ก็ต้องทำคู่ขนานกันไป และจะเดินหน้าให้เร็วที่สุด”
ต่อข้อถามว่า จะออกเป็นพระราชกำหนด (พ.ร.ก.) หรือไม่ นายจุลพันธ์ ตอบว่า เป็นเครื่องมือของรัฐบาลอยู่แล้ว และที่สำคัญมีกลไกที่จะเดินหน้ามากกว่า 1 ตัวเลือก ซึ่งยังไม่ถึงขั้นจะออกเป็น พ.ร.ก. แต่หากภาวะเศรษฐกิจมีความจำเป็น ก็จะหารือเรื่องนี้กันอีกครั้ง ยืนยันว่าคณะกรรมการฯ ยังไม่มีแนวทางเรื่องการลดวงเงินที่ใช้ในโครงการ ซึ่งสัปดาห์หน้าก็จะเดินหน้าพูดคุยกันแล้ว โดยเฉพาะการพัฒนาแอปพลิเคชัน เตรียมกลไกต่างๆ ที่มีความจำเป็นให้พร้อม คือ พ.ร.บ.กู้เงิน ซึ่งได้มีการเตรียมยกร่างไว้แล้ว แต่ยังไม่ทราบจะเสนอเข้าสภาฯ เมื่อใด รอความชัดเจนอีกครั้ง รวมถึงข้อเสนอเดิมยังใช้แอปพลิเคชันเป๋าตังอยู่ เพราะจะได้ประหยัดงบประมาณค่าใช้จ่าย แต่สิ่งที่ต้องไปพูดคุยคือกลไกในการเชื่อมต่อ รวมถึงเดินหน้าพัฒนาระบบอื่นๆ ให้มีความสมบูรณ์
เมื่อถามว่า ในไตรมาส 3 ปีนี้ จะได้เห็นการใช้เงินผ่านโครงการดังกล่าวหรือไม่ นายจุลพันธ์ กล่าวว่า “อย่าเพิ่งให้คำตอบดีกว่าครับ แต่ร่าง พ.ร.บ.กู้เงิน ยกร่างไว้แล้ว และ ข้อเสนอเดิมที่จะให้มีการใช้แอปฯ เป๋าตัง ก็ยังเป็นไปตามนั้น จะได้ประหยัดค่าใช้จ่าย แต่ต้องไปพูดคุยให้มีการเชื่อมต่อ ซึ่งไม่ใช่การทำแอปฯ ขึ้นมาใหม่” เมื่อถามถึงกรอบการทำงานของคณะอนุกรรมการ มีการกำหนดเวลาหรือไม่ นายจุลพันธ์ ระบุว่า เราจะตั้งอนุกรรมการในสัปดาห์หน้า ซึ่งคณะอนุกรรมการติดตามการใช้เงินอย่างผิดประเภท จะไม่มีกรอบระยะเวลา เพราะต้องอยู่ยาวจนเสร็จภารกิจ ส่วนอนุกรรมการรับฟังความเห็น จะมีการกำหนดระยะ ซึ่งกำหนดไม่ยาวมากนัก ประมาณ 2-3 สัปดาห์ต้องจบ ทั้งนี้ ประเด็นว่าการประชุมคณะกรรมการชุดใหญ่ต้องได้ข้อสรุปก่อนเสนอ ครม. เมื่อใดนั้น นายจุลพันธ์ กล่าวว่า หวังใจไว้ว่าระยะ 2 เดือนข้างหน้า น่าจะต้องเรียบร้อยพอสมควร ตรงนี้เป็นการประมาณคร่าวๆ