มุสลิมไม่ได้เกลียดชังอเมริกันชน ที่จริงรู้สึกนิยมชมชอบด้วยซ้ำไป แต่ที่เขาไม่พอใจก็เป็นเพราะนโยบายต่างประเทศสหรัฐฯ โดยเฉพาะแนวทางการปฏิบัติของสหรัฐฯ ต่อกิจการการเมืองตะวันออกกลางต่างหาก ล่าสุดคือการถล่มโจมตีเป้าหมายต่าง ๆ ในอิรัก ซีเรีย เยเมน ฯลฯ
Why do they hate us? #ทำไมคนถึงเกลียดไอ้กัน
มุสลิมไม่ได้เกลียดชังอเมริกันชน ที่จริงรู้สึกนิยมชมชอบด้วยซ้ำไป แต่ที่เขาไม่พอใจก็เป็นเพราะนโยบายต่างประเทศสหรัฐฯ โดยเฉพาะแนวทางการปฏิบัติของสหรัฐฯ ต่อกิจการการเมืองตะวันออกกลางต่างหาก ล่าสุดคือการถล่มโจมตีเป้าหมายต่าง ๆ ในอิรัก ซีเรีย เยเมน ฯลฯ
ในบทความของ Stephen R. Shalom, the United States and the Middle East: Why Do ‘They’ Hate Us? (Revised, 12 Dec. 2001, http://www.zmag.org/shalomhate.htm เขาไล่เรียงพฤติกรรมของสหรัฐในตะวันออกกลางจากอดีตถึงปี 2001 ได้อย่างเห็นภาพ
ค.ศ.1947-48 : สหรัฐฯ และมหาอำนาจตะวันตกสนับสนุนแผนแบ่งแยกประเทศในปาเลสไตน์ จนขบวนการยิวไซออนิสต์สามารถสถาปนารัฐอิสราเอลขึ้นมาได้ในปี 1948 และสหรัฐฯ ก็ปฏิเสธที่จะกดดันให้อิสราเอลยอมให้ชาวปาเลสไตน์ที่ถูกขับไล่ออกจากบ้านเกิดได้มีสิทธิกลับมายังดินแดนของตนเอง
ค.ศ.1949 : หน่วยข่าวกรองกลางสหรัฐฯ หรือ CIA อยู่เบื้องหลังการทำรัฐประหารโค่นล้มรัฐบาลซีเรียที่ได้รับการเลือกตั้งจากประชาชน
ค.ศ.1953 : CIA มีส่วนช่วยในการล้มล้างรัฐบาลที่ได้รับการเลือกตั้งตามระบอบประชาธิปไตยในอิหร่านหรือรัฐบาลของมูสอดดิค Mossadeq (ซึ่งเป็นผู้ประกาศยึดบริษัทน้ำมันอังกฤษเอามาเป็นของชาติ) แล้วสถาปนารัฐบาลที่กดขี่ประชาชนภายใต้การนำของมุฮัมมัด เรซา ปาห์ลาวี (Mohammed Reza Pahlevi) ขึ้นแทน
ค.ศ.1956 : สหรัฐฯ สั่งระงับเงินทุนที่เคยสัญญาไว้เพื่อสร้างเขื่อนอัสวาน (Aswan) ในประเทศอียิปต์ ภายหลังจากที่อียิปต์รับการช่วยเหลือด้านอาวุธจากรัสเซีย
ค.ศ.1956 : กองกำลังร่วมระหว่างอิสราเอล อังกฤษ และฝรั่งเศส ได้รุกรานอียิปต์ แม้สหรัฐฯ จะไม่มีส่วนในการบุกรุก แต่เนื่องจากพันธมิตรในองค์กร NATO ของสหรัฐฯ มีส่วนเกี่ยวข้อง จึงทำให้เกียรติภูมิของสหรัฐฯ ในตะวันออกกลางเสื่อมเสียไปด้วย
ค.ศ.1958 : กองกำลังสหรัฐฯ เข้ามาประจำการในเลบานอน เพื่อที่จะรักษาเสถียรภาพของประเทศ
ต้นทศวรรษที่ 1960: สหรัฐฯ วางแผนลอบสังหาร อับดุล การิม คาซิม (Abdul Karim Qassim) ซึ่งเป็นผู้นำอิรัก แต่ไม่สำเร็จ
ค.ศ.1963 : สหรัฐฯ ให้การสนับสนุนพรรคบาอ์ธ (Ba’ath Party) ในอิรักทำการรัฐประหาร (จนทำให้ ซัดดัม ฮุสเซน ขึ้นมาเป็นผู้นำประเทศในภายหลัง) และมีรายงานว่า ทางสหรัฐฯ ได้คัดรายชื่อคอมมิวนิสต์ให้รัฐบาลใหม่อิรักกำจัด ซึ่งรัฐบาลใหม่ของอิรักก็จัดการให้อย่างกระตือรือร้น
ค.ศ.1967 : สหรัฐฯ เข้าช่วยอิสราเอลทำ ‘สงครามหกวัน’ กับประเทศอาหรับ จนอิสราเอลสามารถยึดครองดินแดนประเทศอาหรับได้หลายส่วน สหรัฐฯ คัดค้านมติที่ 242 ของสภาความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ ซึ่งเป็นมติที่เรียกร้องให้อิสราเอลถอดถอนกองกำลังออกจากพื้นที่ยึดครองในสงครามปี 1967
ค.ศ.1970 : เกิดสงครามกลางเมืองระหว่างกองกำลังจอร์แดนกับกลุ่ม PLO อิสราเอลและสหรัฐฯ หารือกันที่จะเข้าแทรกแซงฝ่ายจอร์แดนหากซีเรียให้ความช่วยเหลือ PLO
ค.ศ.1973 : เกิดสงคราม ‘ยองคิปปูร์’ ระหว่างอิสราเอลและรัฐอาหรับ (ซีเรียและอียิปต์) ซึ่งรัฐอาหรับเกือบได้ชัยชนะ แต่ด้วยการช่วยเหลือของสหรัฐฯ ทำให้อิสราเอลสามารถตีโต้กลับได้สำเร็จ
ค.ศ.1975 : สหรัฐฯ วีโต้มติของสภาความมั่นคงแห่งสหประชาชาติที่ประณามกรณีที่อิสราเอลใช้กำลังโจมตีแคมป์ผู้ลี้ภัยชาวปาเลสไตน์ในเลบานอน
ค.ศ.1978 – 79 : ประชาชนชาวอิหร่านเริ่มชุมนุมเดินขบวนประท้วงต่อต้านกษัตริย์ชาห์ สหรัฐฯ ให้คำมั่นที่จะยืนอยู่เคียงข้างชาห์ และปลุกเร้าให้ชาห์ใช้กำลังแบบเฉียบขาด สหรัฐฯ พยายามปกป้องระบอบชาห์จนนาทีสุดท้าย แต่ก็ไร้ผล
ค.ศ.1978 – 88 : สหรัฐฯ เริ่มให้ความช่วยเหลือนักรบมุญาฮีดีนแบบลับๆ เป็นเวลา 6 เดือนก่อนที่สหภาพโซเวียตจะรุกรานอัฟกานิสถานในเดือนธันวาคม ค.ศ. 1979 หลังจากนั้น ตลอด 10 ปี สหรัฐฯ ก็ช่วยเหลือนักรบมุญาฮีดีนทั้งในรูปแบบการจัดฝึกฝนและให้เงินช่วยเหลือด้านอาวุธเป็นจำนวนมากถึงกว่า 3,000 ล้านเหรียญสหรัฐฯ
ค.ศ.1980 – 88 : สงครามอิหร่าน-อิรักเริ่มขึ้น เมื่ออิรักรุกรานอิหร่าน สหรัฐฯ ก็ใช้อำนาจวีโต้ทุกๆ มติของสภาความมั่นคงแห่งสหประชาชาติที่จะประณามการรุกราน สหรัฐฯ ได้คัดรายชื่อประเทศอิรักออกจากบัญชีประเทศที่ให้การสนับสนุนการก่อการร้าย และจัดส่งอาวุธยุทโธปกรณ์ต่างๆ ให้อิรัก ในขณะเดียวกัน สหรัฐฯ ก็ปล่อยให้อิสราเอลจัดขายอาวุธให้อิหร่าน และในปี 1985 สหรัฐฯ ก็จัดส่งอาวุธให้อิหร่านโดยตรง (แม้ว่าจะจัดส่งให้อย่างลับๆ) สหรัฐฯ คอยให้ข้อมูลข่าวกรองแก่อิรัก ในปี ค.ศ. 1984 อิรักใช้อาวุธเคมี แต่สหรัฐฯ ก็ยังรื้อฟื้นความสัมพันธ์ทางการทูตกับอิรัก ในปี ค.ศ. 1987 สหรัฐฯ ส่งเรือนาวิกโยธินเข้าไปในอ่าวเปอร์เซียโดยอยู่ฝ่ายอิรัก เรือรบของสหรัฐฯ ยิงถล่มสายการบินพลเรือนของอิหร่าน จนทำให้มีผู้เสียชีวิต 290 คน
ค.ศ.1981 และ 1986 : สหรัฐฯ ละเมิดน่านน้ำของลิเบียโดยมีเจตนายั่วยุลิเบีย ในปี ค.ศ.1981 เครื่องบินรบของลิเบียจึงยิงขีปนาวุธเข้าใส่เครื่องบินเอฟ-14 ของสหรัฐฯ และสหรัฐฯ ได้ยิงตอบโต้จนทำให้ลิเบียสูญเสียเครื่องบินไป 2 ลำ ในปีค.ศ. 1986 ลิเบียได้ยิงขีปนาวุธ แต่ไกลจากเป้าหมายการโจมตี ด้วยเหตุนั้น สหรัฐฯ จึงได้โจมตีเรือลาดตระเวนของลิเบีย มีผู้เสียชีวิต 72 คน เมื่อเกิดเหตุระเบิดที่ไนท์คลับในกรุงเบอร์ลิน (เสียชีวิต 3 คน) สหรัฐฯ จึงกล่าวหาว่า มุอัมมัด อัล-กัซซาฟี (Qaddafi) อยู่เบื้องหลัง จึงได้จู่โจมโดยทิ้งระเบิดในลิเบีย ทำให้มีผู้เสียชีวิตหลายสิบคน รวมถึงบุตรสาวบุญธรรมของกัซซาฟีด้วย
ค.ศ.1982 : สหรัฐฯ ‘เปิดไฟเขียว’ ให้อิสราเอลเข้ารุกรานเลบานอน และเข่นฆ่าพลเรือนชาวเลบานอนตายไปกว่า 17,000 คน สหรัฐฯ วีโต้มติของสภาความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ ที่กล่าวประณามการรุกรานของอิสราเอลหลายครั้ง
ค.ศ.1983 : กองกำลังของสหรัฐฯ ถูกส่งเข้าไปยังเลบานอน โดยเป็นส่วนหนึ่งของ ‘กองกำลังรักษาสันติภาพ’ นานาชาติ แต่สหรัฐฯ กลับเข้าแทรกแซงสงครามกลางเมืองโดยเลือกเข้าข้างฝ่ายหนึ่ง โดยรวมถึงการระดมยิงโจมตีด้วย USS New Jersey แต่ก็ต้องถอนกำลังออกเมื่อเผชิญกับการตอบโต้ด้วยระเบิดพลีชีพ
ค.ศ.1984 : สหรัฐฯ หนุนหลังฝ่ายกบฏในอัฟกานิสถานที่ยิงโจมตีสายการบินพลเรือน
ค.ศ.1987 – 92 : อิสราเอลใช้อาวุธของสหรัฐฯ เข้าทำการปราบปรามการลุกฮือขึ้นต่อสู้ (อินติฟาเฎาะฮ์ : Intifada) ของชาวปาเลสไตน์ สหรัฐฯ ใช้อำนาจวีโต้มติของสภา ความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ 5 ครั้ง ที่จะประณามมาตรการปราบปรามของอิสราเอล
ค.ศ.1988 : ซัดดัม ฮุสเซน สังหารประชากรชาวเคิร์ดของเขาจำนวนหลายพันคนด้วยอาวุธเคมี แต่สหรัฐฯ กลับเพิ่มความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจกับอิรักมากขึ้น
ค.ศ.1990-91 : สหรัฐฯ ปฏิเสธการแก้ไขปัญหาโดยใช้วิธีทางการทูตในกรณีอิรักรุกรานคูเวต (อาทิเช่น การปฏิเสธความพยายามที่จะเชื่อมโยงสองดินแดนในภูมิภาคที่ถูกยึดครอง นั่นคือ คูเวตและปาเลสไตน์) กองกำลังผสมนานาชาติ นำโดยสหรัฐฯ ทำสงครามกับอิรัก โครงสร้างพื้นฐานที่มีความสำคัญต่อพลเรือนตกเป็นเป้าหมาย สหรัฐฯ สนับสนุนให้ชาวชีอะฮ์ลุกฮือขึ้นต่อสู้ในดินแดนทางใต้ และปลุกให้ชาวเคิร์ดลุกขึ้นสู้ในดินแดนทางเหนือของอิรัก แต่พอซัดดัมตอบโต้แบบเด็ดขาด สหรัฐฯ กลับวางเฉย
ค.ศ.1991 : สหประชาชาติใช้มาตรการลงโทษทางเศรษฐกิจกับอิรัก สหรัฐฯ กับอังกฤษขัดขวางทุกทางไม่ให้มีการยกเลิกการแซงค์ชั่น จนทำให้ประชาชนนับแสนต้องล้มตาย ถึงแม้ว่าสภาความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ จะออกมาประกาศว่า การแซงค์ชั่นจะถูกยกเลิกทันทีหากอิรักยุติโครงการพัฒนาอาวุธทำลายล้างมวลชน (WMD) แต่สหรัฐฯ กล่าวว่า การแซงค์ชั่นทำให้สถานภาพของซัดดัมแข็งแกร่งขึ้น เมื่อถูกถามถึงผลลัพธ์จากกรณีการแซงค์ชั่นที่มีต่อชีวิตชาวอิรัก นางเมเดลีน อัลไบรท์ (Madeleine Albright) รัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐฯ ขณะนั้น ตอบว่า “มันคุ้มค่าแล้ว”
ค.ศ.1991 : กองกำลังสหรัฐฯ ตั้งฐานทัพแบบถาวรในซาอุดิอาระเบีย
ค.ศ.1993 : สหรัฐฯ ยิงขีปนาวุธโจมตีอิรัก โดยอ้างว่าเป็นการป้องกันตนเองกรณีความพยายามในการลอบสังหารอดีตประธานาธิบดี บุช ก่อนหน้านี้ 2 เดือน
ค.ศ.1998 : สหรัฐฯ และอังกฤษยิงระเบิดเข้าใส่อิรักในประเด็นการตรวจสอบอาวุธ ทั้งๆ ที่สภาความมั่นคงแห่งสหประชาชาติเพิ่งจะประชุมเพื่อถกปัญหานี้
ค.ศ.1998 : สหรัฐฯ ยิงขีปนาวุธทำลายโรงงานผลิตยาสำคัญ ที่เป็นแหล่งจ่ายยาไปทั่วประเทศของซูดาน โดยสหรัฐฯ อ้างว่าเป็นการตอบโต้เหตุระเบิดสถานทูตสหรัฐฯ ในแทนซาเนีย และเคนยา และอ้างว่าโรงงานนั้นเกี่ยวข้องกับการผลิตอาวุธเคมี แต่หลักฐานเกี่ยวกับอาวุธเคมีนั้น ยังมีการถกเถียงกันอย่างกว้างขวาง
ค.ศ.2000 : อิสราเอลใช้อาวุธสงครามของสหรัฐฯ ในการปราบปรามการลุกฮือขึ้นต่อสู้ของชาวปาเลสไตน์ ทำให้พลเรือนเสียชีวิตไปหลายร้อยคน
ค.ศ.2001 : หลังเกิดเหตุการณ์ถล่มตึกเวิลด์เทรดเซ็นเตอร์ สหรัฐฯ ได้บุกโจมตีอัฟกานิสถาน อ้างว่าให้ที่พักพิงแก่อุสามะฮฺ บิน ลาดิน ผู้ต้องหาในเหตุวินาศกรรม 9/11 ผลที่เกิดขึ้นทำให้รัฐบาลฏอลีบันถูกโค่นล้ม และถูกแทนที่ด้วยรัฐบาลใหม่ที่มีสหรัฐฯ หนุนหลัง ตัวอย่างการสูญเสียในครั้งนี้ มีพลเมืองอัฟกันเสียชีวิตจากการระเบิดในช่วงสงคราม 3,700 คน
บทความของ Shalom ลำดับเหตุการณ์จบลงที่ปี 2001 แต่ผู้เขียนขอเขียนต่ออีกนิดว่า ในปี ค.ศ. 2003 รัฐบาลอิรักภายใต้การนำของประธานาธิบดี ซัดดัม ฮุสเซน ถูกกล่าวหาจากสหรัฐฯ ว่ามีอาวุธร้ายแรงไว้ในครอบครอง จึงทำให้สหรัฐฯ ภายใต้การนำของประธานาธิบดี จอร์จ ดับเบิ้ลยู. บุช ประกาศทำสงคราม ทั้งที่ยังไม่ผ่านมติของสหประชาชาติ สงครามเกิดขึ้นตั้งแต่วันที่ 19 มกราคม จนกระทั่งปัจจุบัน (2010) ก็ยังมีเหตุรุนแรงอยู่ ทำให้ชาวอิรักต้องเสียชีวิตเป็นจำนวนมาก เพิ่มขึ้นทุกวัน
นี่ยังไม่รวมสงครามที่อิสราเอลได้ก่อขึ้นในเลบานอนเมื่อปี 2006 และสงครามถล่มกาซ่าตั้งแต่ปลายปี 2009 จนถึงปัจจุบัน ที่สหรัฐฯ คอยหนุนหลังสร้างความชอบธรรมให้อิสราเอลทำลายล้างมนุษยชาติ
ดร.ศราวุฒิ อารีย์
ผู้อำนวยการศูนย์มุสลิมศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย