“ดร.ปณิธาน” ชี้ ปีแห่งความท้าทายใหม่ สงครามใหญ่จะเกิดใน “ตะวันออกกลาง”

“ดร.ปณิธาน” ชี้ปีแห่งความท้าทายใหม่ สงครามใหญ่จะเกิดขึ้น โดยเฉพาะใน ตะวันออกกลาง ระหว่าง “อิสราเอล กับ ฮามาส-อิซบอลเลาะห์” รวมทั้ง สหรัฐฯ กับ อิหร่าน และ ในพื้นที่ทำเลแดง ส่อเค้าลุกลามบานปลาย

วันที่ 3 ก.พ.2567 รศ.ดร.ปณิธาน วัฒนายากร ผู้เชี่ยวชาญด้านความมั่นคง และการต่างประเทศ โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก @Panitan Wattanayagorn กล่าวถึง ปีแห่งความท้าทายใหม่ The year of living dangerously (for many) #3 Middel East: สงครามใหญ่จะเกิดขึ้น? (EP. 1/2) ดังนี้

1. สงครามระหว่างอิหร่านกับสหรัฐฯ?

ช่วงนี้มีข่าวจากหลายสำนักยืนยันตรงกันว่า ทางการสหรัฐฯ ได้อนุมัติแผนการโจมตี “ผลประโยชน์” ของอิหร่านในตะวันออกกลางแล้ว ซึ่งก็ไม่ได้เหนือความคาดหมายกันเท่าไรนัก เหตุเพราะทหารอเมริกันที่สถานีฐานหมายเลข 22 (Tower 22) ของสหรัฐฯ ในจอร์แดนที่อยู่ติดกับพรมแดนของซีเรียและอยู่ใกล้ๆ กับอิรัก ถูกโดรนของกลุ่มกองกำลัง Islamic Resistance ที่สหรัฐฯ อ้างว่าสนับสนุนโดยอิหร่านโจมตีเสียชีวิตไป 3 นาย และบาดเจ็บอีกหลายนายเมื่อวันอาทิตย์ที่ผ่านมา (สถานีที่ 22 นี้ BBC รายงานว่าปัจจุบันมีทหารอเมริกันอยู่ประมาณ 350 นาย AP รายงานว่าเมื่อหลายปีก่อน มีผู้อพยพหนีภัยจากการสู้รบในซีเรียมาอยู่ในบริเวณนี้ประมาณ 100,000 คน ปัจจุบัน UN รายงานว่าเหลืออยู่ประมาณ 7,500 คน สถานีนี้มีหน้าที่สนับสนุนการปฏิบัติการต่อสู้กับกลุ่ม Isamic State – IS) ซึ่งนับเป็นการสูญเสียชีวิตของทหารอเมริกันในสมรภูมิตะวันออกกลางเป็นครั้งแรกตั้งแต่วันที่ 7 ตุลาคมปีที่แล้วที่เกิดการสังหารหมู่ชาวยิวนับพันคนและอีกนับร้อยคนจากหลายประเทศถูกจับไปเป็นตัวประกันรวมทั้งคนไทยด้วย ซึ่งอิสราเอลก็โต้ตอบด้วยการทำสงครามกับกลุ่มฮามาสอย่างดุเดือด ทำให้ประชาชนชาวปาเลสไตน์ต้องเสียชีวิตไปแล้วเกือบสามหมื่นคนและยังเกิดความสูญเสียต่ออีกหลายฝ่ายอย่างต่อเนื่อง

หากและเมื่อสหรัฐฯ ลงมือโจมตีผลประโยชน์ของอิหร่านแล้ว ไม่ว่าจะเป็นการโจมตีที่ตั้งทางทหารของกลุ่มเครือข่ายกองกำลังต่อต้านในที่ต่างๆ ในภูมิภาคที่สหรัฐฯ อ้างว่าอิหร่านเป็นผู้สนับสนุนทางอาวุธยุทโธปกรณ์ การฝึกฝน การให้ความช่วยเหลือทางเทคโนโลยีในการสู้รบหรือชี้เป้าแล้ว หรือไม่ว่าสหรัฐฯ จะปิดล้อมคว่ำบาตรอิหร่านทางเศรษฐกิจ การเงิน การทูต หรืออื่นๆ เพิ่มเติมจากเดิมก็ตาม ก็ต้องถือว่าสงครามในตะวันออกกลางจะยกระดับความรุนแรงขึ้นไปอีกขั้นหนึ่ง และทำให้แนวโน้มที่จะเกิดสงครามขนาดใหญ่หรือในระดับรุนแรงในภูมิภาคนี้อย่างที่หลายคนกลัวกันนั้น เป็นไปได้มากขึ้น ทั้งนี้ แม้ว่าผู้เชี่ยวชาญหรือนักสังเกตการณ์ส่วนใหญ่ยังเห็นตรงกันว่าทั้งสหรัฐฯ และอิหร่าน ต่างก็ยังไม่ต้องการที่จะปะทะกันโดยตรง โดยเฉพาะสหรัฐฯ นั้น ยืนยันชัดเจนว่าจะไม่โจมตีเข้าไปในประเทศอิหร่านในขณะนี้แม้ว่าจะมีเสียงเชียร์ค่อนข้างมากจากฝ่ายตที่สนับสนุนสงครามในฤดูกาลการเลือกตั้งของสหรัฐฯ ก็ตาม

แต่ที่น่าเป็นกังวลสำหรับแทบทุกฝ่ายก็คือ ทั้งสหรัฐฯ และอิหร่านคู่กรณี แม้ว่าจะไม่ต้องการทำสงครามกัน แต่ต่างฝ่ายก็ไม่สามารถจะทำอะไรให้สถานการณ์ระหว่างกันดีขึ้นได้ และดูเหมือนกับว่าสถานการณ์ในภูมิภาคในภาพรวมกำลังเคลื่อนที่เข้าสู่วิกฤตมากขึ้นเรื่อยๆ

2. สงครามระหว่างอิสราเอลกับกลุ่มฮิซบอลเลาะห์ในเลบานอน?

หลายฝ่ายเชื่อกันว่า อิสราเอลกำลังตัดสินใจว่าจะเปิดศึกใหญ่โจมตีกลุ่มฮิซบอลเลาะห์ในเลบานอนเมื่อไร ทั้งนี้ ที่ผ่านมาทั้งสองฝ่ายก็ได้ปะทะกันตามแนวพรมแดนอย่างจำกัดมาเป็นระยะๆ อยู่แล้ว นักวิเคราะห์ต่างสรุปว่าอิสราเอลได้วางแผนและเตรียมกำลังไว้พร้อมแล้วสำหรับการบุกเข้าไปในเลบานอน และจากการสำรวจความคิดเห็นเมื่อเร็วๆ นี้ ชาวยิวส่วนใหญ่ก็สนับสนุนแนวทางนี้หากไม่มีทางเลือกอื่น เหตุเพราะส่วนใหญ่เห็นว่าในอนาคตนั้น ภัยคุกคามต่อตนจะมาจากกลุ่มฮิซบอลเลาะห์เป็นสำคัญ และก็จะสูงกว่าเดิมที่เคยมาจากกลุ่มฮามาส

แต่การจะจัดการกับกลุ่มฮิซบอลเลาะห์ในเลบานอนนั้นไม่ง่าย เพราะกลุ่มฮิซบอลเลาะห์มีกำลังพลนับแสนนาย มีความเข้มแข็งทางการรบมากกว่ากลุ่มฮามาส และทุกวันนี้ อิสราเอลก็ยังไม่สามารถเอาชนะหรือกำจัดผู้นำได้อย่างที่ประกาศไว้ โดยเฉพาะในสมรภูมิที่ฉนวนกาซ่า ทั้งนี้ ยังไม่นับว่าอิสราเอลก็เคยรบกับกลุ่มฮิซบอลเลาะห์มาแล้วและต้องถอนกำลังออกจากเลบานอนเมื่อหลายปีก่อน อีกทั้ง กลุ่มฮิซบอลเลาะห์ยังสะสมยุทโธปกรณ์ไว้เป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะขีปนาวุธที่แม่นยำกว่าของกลุ่มฮามาสและสามารถยิงไปได้ทั่วประเทศอิสราเอล มีการประเมินกันว่าระบบป้องกันขีปนาวุธ เช่น Iron Dome และหลุมหลบภัยจากขีปนาวุธสมัยใหม่ในอิสราเอลนั้น สามารถคุ้มครองประชากรได้เพียงประมาณ 60% เท่านั้น

3. ทะเลแดง ทะเลเดือด?

ส่วนในทะเลแดงที่หลายคนคิดว่ากลายเป็นทะเลเดือดไปแล้วนั้น นับว่าเป็นความขัดแย้งในตะวันออกกลางที่ส่งผลกระทบต่อนานาชาติอย่างชัดเจนที่สุด ทั้งนี้ เพราะกองเรือบรรทุกสินค้าส่วนใหญ่ที่ใช้เส้นทางนี้ ต้องเปลี่ยนไปใช้เส้นทางอื่นแล้ว ซึ่งทำให้ราคาค่าส่งสินค้าเพิ่มขึ้นถึง 200-300% จากการประเมินของหลายฝ่าย

สถานการณ์ในทะเลแดงนี้ มีความซับซ้อนและเกี่ยวข้องกับหลายฝ่าย ทั้งกลุ่มฮูตี เยเมน อิหร่าน อิสราเอล สหรัฐฯ และ พันธมิตรอีกหลายสิบชาติ รวมทั้งจีนและอินเดีย ซึ่งก็ได้รับผลกระทบโดยตรงเพราะมีกองเรือขนาดใหญ่ของตนที่ต้องผ่านเส้นทางนี้ และการปฏิบัติการคุ้มครองทะเลแดง จากการโจมตีด้วยขีปนาวุธของกลุ่มฮูตีโดยสหรัฐฯ พันธมิตร และนานาชาติ ก็ยังไม่สำเร็จ จนสหรัฐฯ ต้องขอมาพบกับจีนในประเทศไทยเมื่อไม่กี่วันที่ผ่านมา ทั้งนี้ เพื่อขอให้จีนไปคุยกับอิหร่านให้กดดันกลุ่มฮูตีให้หยุดการโจมตีดังกล่าว ในอนาคต หากจะต้องลดการเดินเรือกันลงอีก หรือ หากจะต้องปิดเส้นทางนี้ ก็จะเกิดวิกฤตขึ้นได้กับหลายๆ ประเทศ รวมทั้งประเทศไทย ซึ่งก็มีการค้าขายและใช้เส้นทางดังกล่าวเป็นสัดส่วนประมาณกว่า 10% ของการค้าของเรา

4. ชีวิตท่ามกลางอันตรายรอบด้าน

สรุปในปีนี้ ชาวตะวันออกกลาง จะมีชีวิตความเป็นอยู่ท่ามกลางอันตรายมากยิ่งขึ้น ความขัดแย้งเดิม ๆ นั้น ได้บานปลายและขยายตัวออกไปในพื้นที่ต่างๆ มากขึ้น จนกลายเป็นสมรภูมิสู้รบ ที่มีผู้คนบาดเจ็บเสียชีวิตไปแล้วนับเกือบล้านคนนับตั้งแต่ปีค.ศ. 2001 (อ้างอิง Costs of War, Watson Institute, Brown University, 2023) ปัจจุบันสมรภูมิดังกล่าวรวมถึง 1) ที่ฉนวนกาซ่า ระหว่างอิสราเอลกับกลุ่มฮามาส ซึ่งยังไม่มีท่าทีว่าจะยุติลงในเวลาอันสั้น 2) ในเขตเวสต์แบงก์ ระหว่างอิสราเอล กลุ่มชาวยิวหัวรุนแรงกับชาวปาเลสไตน์ ซึ่งมีอย่างต่อเนื่องเป็นระยะๆ 3) ในทางตอนใต้ของเลบานอน ระหว่างอิสราเอลกับกลุ่มฮิซบอลเลาะห์ 4) ที่ ซีเรีย ระหว่างรัฐบาลกับฝ่ายต่อต้านที่มีทั้งสหรัฐฯ และพันธมิตรและฝ่ายตรงข้ามอีกหลายฝ่ายสู้รบกัน 5) ในอิรัก ซึ่งมีสภาพคล้ายคลึงกับที่ซีเรีย 6) ในทะเลแดง โดยเฉพาะบริเวณติดกับเยเมน ซึ่งมีนานาชาติเข้าไปเกี่ยวข้องหลายฝ่าย 7) ในประเทศเยเมน ที่เกิดสงครามกลางเมืองมาแล้วหลายปี ซึ่งมีทั้งอิหร่านและซาอุดิอาราเบีย ตลอดจนพันธมิตรของแต่ละฝ่ายเข้าไปสนับสนุน และล่าสุด 8) ในจอร์แดน ที่กองกำลังของสหรัฐฯ ถูกโจมตีและมีทหารอเมริกันเสียชีวิต ซึ่งในกรณีนี้ อาจจะกลายเป็นชนวนไปสู่ความขัดแย้งในระดับที่สูงขึ้นได้

ทั้งหมดนี้ จึงนับได้ว่าภูมิภาคตะวันออกกลางกำลังเผชิญกับสงครามระดับภูมิภาคแล้ว เพียงแต่ยังคงเป็นสงครามที่มีความรุนแรงต่ำ (low intensity war) แต่ในอนาคตหากว่าเกิดสงครามใหญ่ระหว่างอิสราเอลกับกลุ่มฮิซบอลเลาะห์ หรือระหว่างสหรัฐฯ กับอิหร่านโดยตรง หรือระหว่างสหรัฐฯ และพันธมิตรกับกลุ่มต่อต้านหลายๆ กลุ่มในประเทศต่างๆ ในภูมิภาคนี้ สถานการณ์ก็อาจจะบานปลายกลายเป็นสงครามที่มีความรุนแรงขึ้น ซึ่งก็จะส่งผลกระทบต่อแทบทุกประเทศ รวมทั้งประเทศไทย ที่ยังคงต้องพึ่งพาพลังงาน การค้าขาย ตลอดจนเส้นทางขนส่งของภูมิภาคนี้.