หลังจากศาลรัฐธรรมนูญมีมติด้วยเสียงข้างมาก 8:1 วินัจฉัย สมาชิกภาพ การเป็นส.ส.ของ พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ไม่สิ้นสุดลง ตามคำร้องกรณีถือหุ้นไอทีวี เนื่องจาก “ไอทีวี” ไม่ใช่ธุรกิจสื่อมวลชนแล้ว
นั่นหมายถึง “พิธา” หลุดพ้นจากบ่วงศาลรัฐธรรมนูญเป็นการ “ส่วนตัว” เรียบร้อย ท่ามกลางเสียงแซ่ซ้องจากด้อมส้ม ตะโกนลั่น “นายกฯ พิธา”
ขณะที่เจ้าตัว ตอบคำถามถึงโอกาสที่เป็นไปได้ว่า ตอนนี้เขายังเป็นแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีของพรรคก้าวไกลอยู่ หากเกิดอุบัติเหตุทางการเมือง ยอมรับว่า ยังมีความหวังเสมอ
ที่น่าจับตามองต่อไป ก็คือ “พิธา” จะมีบทบาทในฐานะส.ส.เท่านั้น หรือ จะได้ตำแหน่งหัวหน้าพรรค และผู้นำฝ่ายค้านในสภาฯคืนมา และไม่ว่าจะในฐานะอะไร “พิธา” ก็จะยังเป็นจุดสนใจ เป็นจุดเด่นของพรรคก้าวไกล และการเคลื่อนไหวทางการเมืองนับแต่นี้
การเมืองจะเต็มไปด้วยรสชาติในการทำงานของฝ่ายค้าน ที่ได้ “หัวขบวน” กลับมา และ รัฐบาลเศรษฐา ทวีสิน-พรรคเพื่อไทย จะมีคู่ต่อสู้ที่น่ากลัวขึ้นมาทันที
แต่ถึงกระนั้น “พิธา” และ พรรคก้าวไกล ยังไม่พ้น “ด่านหิน” ที่หลายคนเชื่อว่า หนักหนาสาหัสกว่า คดีพิธาถือหุ้นสื่อ(ไอทีวี)นั่นคือ คดีหาเสียงแก้ ม.112 ซึ่งถ้าย้อนดูความเป็นมา พบว่า
-วันที่ 30 พฤษภาคม 2566 ที่สำนักงานอัยการสูงสุด ถ.แจ้งวัฒนะ นายธีรยุทธ สุวรรณเกษร อาชีพทนายความ เดินทางมายื่นคำร้องต่ออัยการสูงสุด ให้พิจารณาส่งเรื่องไปศาลรัฐธรรมนูญ วินิจฉัยสั่งการให้นายพิธา และพรรคก้าวไกล เลิกกระทำการใด เพื่อยกเลิกหรือแก้ไขประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 และให้เลิกการแสดงความคิดเห็น การพูด การเขียน การพิมพ์ การโฆษณาและสื่อความหมายโดยวิธีอื่นเพื่อให้มีการยกเลิกหรือแก้ไขประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ที่กระทำอยู่และเลิกการกระทำดังกล่าวที่จะเกิดขึ้นต่อไปในอนาคตด้วย ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 49 วรรค 2 ดังที่ศาลรัฐธรรมนูญได้มีแนวบรรทัดฐานไว้ในคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญที่ 19/2564
-วันที่ 12 กรกฎาคม 2566 ศาลรัฐธรรมนูญรับคำร้อง พิธา-ก้าวไกล หาเสียง แก้มาตรา 112โดย ศาลรัฐธรรมนูญนัดฟังคำวินิจฉัย ในวันที่ 31 มกราคม 2567
ผศ.ดร.ปริญญา เทวานฤมิตรกุล ผู้อำนวยการศูนย์นิติศาสตร์ คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เปิดเผยผ่านไทยพีบีเอส (25 ม.ค.67) ว่า จะไม่ถึงขั้น “ยุบพรรค” เพราะคำร้องขอให้หยุดการกระทำ ไม่ได้ขอให้ยุบพรรค ดังนั้นศาลรัฐธรรมนูญจะไม่วินิจฉัยเกินคำร้องของผู้ร้อง
ทั้งยังเห็นว่า โดยหลักแล้วเรื่องการยุบพรรคเป็นเรื่องใหญ่ ที่มีผลกระทบต่อสมาชิกพรรค กรรมการบริหารที่ถูกตัดสิทธิ ส.ส.ในสภาต่างๆ การที่ศาลจะวินิจฉัยเกินคำร้องขอ ในการยุบพรรคไม่น่าจะเป็นแบบนั้น แต่ก็เป็นไปได้ ประเด็นถ้าศาลรัฐธรรมนูญเห็นว่าการกระทำเกิดขึ้นจริงเข้าข่ายล้มล้างระบอบการปกครองจริง ก็อาจจะมีการไปร้องอีกครั้งหนึ่ง เพราะเข้าข่ายที่จะต้องถูกยุบพรรคด้วย
ที่สำคัญ อ.ปริญญา เชื่อว่าคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญจะมี 3 แนวทาง
1.ศาลวินิจฉัยว่า ไม่เป็นการล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข มีคำสั่งยกคำร้อง
2.ศาลฯวินิจฉัยว่า ไม่เป็นการล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข สั่งให้หยุดการกระทำ
3.ศาลฯวินิจฉัยว่า เข้าข่ายล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข และสั่งให้ยุบพรรค
ซึ่งส่วนตัวมองว่า แนวทางที่ 3 ไม่สามารถเกิดขึ้นได้ เพราะไปไกลเกินคำร้อง คำร้องไม่ได้ขอในประเด็นนี้
“แนวทางที่เป็นไปได้คือ แนวทางที่ 1 และแนวทางที่ 2 ซึ่งเชื่อว่าจะออกมาแนวทางที่ 2 แต่ถ้าศาลสั่งให้หยุดการกระทำ ต้องดูเนื้อหาต่อไป หยุดไม่ให้ใช้หาเสียงในวันข้างหน้า หรือหมายรวมถึงการกระทำเรื่องนี้ เช่น เรื่องการเสนอขอปรับปรุงแก้ไขเรื่องนี้ไม่ได้ ต้องรอดูคำวินิจฉัยในวันที่ 31 ม.ค.นี้”เมื่อเป็นเช่นนี้ สิ่งที่น่าลุ้นที่สุด อาจไม่ใช่คำวินิจฉัย “ยุบพรรคก้าวไกล” หากแต่เป็นคำวินิจฉัยให้หยุดการกระทำใดๆเกี่ยวกับ ป.อาญา ม.112 มากกว่า?
นั่นอาจหมายถึง ไม่ได้ “หยุด” การเดินทางทางการเมืองของพรรคก้าวไกล แต่แค่ “หยุด” อุดมการณ์ทางการเมืองเรื่องนี้ของพรรคก้าวไกลหรือไม่ ซึ่งขัดใจเหล่า “ศาสดาส้ม” ทั้งหลายแน่นอน
ด้านมุมมองของนักวิชาการรัฐศาสตร์ สุขุม นวลสกุล อดีตอธิการบดี ม.รามคำแหง ก็เสนอความเห็นเอาไว้อย่างน่าสนใจ
โดยระบุว่า การที่ศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยให้นายพิธายังคงมีสมาชิกภาพ ส.ส. คำวินิจฉัยดังกล่าว คงไม่มีการเปลี่ยนแปลงอะไรในด้านการเมืองมากนักโดยเฉพาะในแง่ของฝั่งรัฐบาลที่จะเกิดจากการที่นายพิธาพ้นคดี
แต่ต้องยอมรับว่า นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรมว.คลัง รวมทั้งพรรคเพื่อไทยจะมีคู่แข่งที่น่าหนักใจ เพราะนายพิธาจะดึงความสนใจจากประชาชนไปได้มาก การที่นายพิธาเป็นเบอร์หนึ่งที่ประชาชนคาดหวังอยากให้เป็นนายกฯ มากที่สุด ก็เท่ากับว่าตอนนี้จะมีคู่แข่งที่ชัดเจน
ที่นายพิธาระบุจะเดินหน้าทำงานให้ประชาชนอย่างเต็มที่ รัฐบาลไม่ได้ถูกกระทบในแง่การทำงานของนายพิธา เพราะนายพิธาไม่ได้มีเป้าหมายจะล้มรัฐบาล โดยจะเป็นการทำงานของแต่ละฝ่ายแต่สิ่งที่รัฐบาลจะได้รับผลกระทบต่อการทำงาน น่าจะมาจากอำนาจเก่า อำนาจราชการ หรือ อำนาจที่มีการแต่งตั้งกันไว้ก่อนหน้านั้นแล้ว ทั้งหน่วยงานเศรษฐกิจ หน่วยงานความมั่นคงทั้งหลาย
ส่วนการกลับมาของนายพิธาต่อพรรคก้าวไกล แน่นอนความเข้มแข็งของพรรคจะมีมากขึ้น เพราะนายพิธาเป็นแม่เหล็กของพรรคก้าวไกล และได้รับความเห็นใจเป็นอย่างมากจากการที่พลาดเป็นนายกฯ หรือโดนคดีถือหุ้น จนต้องหยุดทำงานไปในระยะหนึ่งด้วย
เท่าที่ดูตอนนี้ คิดว่าพรรคก้าวไกลมุ่งเป้าไปยังผลการเลือกตั้งครั้งหน้ามากกว่า ตอนนี้พรรคก้าวไกลลงพื้นที่ตามจังหวัดต่างๆ และมีทุนเดิมจากการได้เป็นที่หนึ่งแต่ไม่ได้เป็นรัฐบาล ผู้คนย่อมเห็นใจ…
ขณะเดียวกัน นายพิชาย รัตนดิลก ณ ภูเก็ต ผอ.หลักสูตรการเมือง และยุทธศาสตร์การพัฒนา นิด้า มองว่า
หลังคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ ภาพรวมของพรรคก้าวไกลจะมีความเข้มข้นขึ้น เพราะได้รับการเสริมพลังจากนายพิธา ทั้งในสภาและนอกสภาการทำงานในสภาจะเพิ่มความเข้มข้นในการตรวจสอบการทำงานของรัฐบาลมากขึ้น ขณะที่งานนอกสภายังสามารถออกไปแสดงความคิดเห็น หรือเข้าหาประชาชนเพื่อนำไปสู่การสร้างคะแนนนิยมเพิ่มขึ้น
โดยเมื่อครั้งนายพิธาเป็นส.ส.ยังดำรงตำแหน่งแคนดิเดตนายกรัฐมนตรี ถือเป็นประเด็นสำคัญที่จะทำให้พรรคก้าวไกลยังมีโอกาสที่จะไปเป็นรัฐบาลได้หากเกิดการพลิกผันทางการเมือง ซึ่งต่างจากกรณีที่นายพิธา ถูกตัดสิทธิ์ทางการเมือง หรือพ้นการเป็นส.ส. ถ้าเป็นกรณีแบบนั้นพรรคก้าวไกลจะไม่มีโอกาส
ในส่วนของรัฐบาล น่าจะมีความกังวลมากขึ้นจากการทำงานของพรรคก้าวไกล เพราะที่ผ่านมาการทำงานของพรรคก้าวไกลดึงคะแนนนิยมได้ต่อเนื่องหลังจากการเลือกตั้ง เห็นได้จากผลโพล เช่น นิด้าโพล สะท้อนเป็นข้อมูลให้เห็นชัดว่า พรรคก้าวไกลมีคะแนนนิยมเพิ่มขึ้น
โดยช่วงการเลือกตั้งได้คะแนนนิยม 39% แต่มาถึงช่วงเดือนธ.ค.ไปถึง 44% ถือว่าเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ดังนั้นเมื่อนายพิธาเข้ามาเป็นส.ส. โอกาสจะสร้างคะแนนนิยมเพิ่มมากขึ้นก็อาจเป็นไปในลักษณะขยายตัวเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง
สำหรับพรรคเพื่อไทยที่ผ่านมา ยังไม่สามารถทำคะแนนนิยมได้เพิ่มมากขึ้น เป็นผลมาจากนโยบายที่ยังไม่แน่นอนและไม่ชัดเจน และยังไม่เห็นผล คะแนนนิยมของพรรคเพื่อไทยจึงตกลง
ส่วนที่ห่วงกันว่านายพิธาและพรรคก้าวไกลยังมีคดีเรื่องนโยบายหาเสียง การแก้ไขมาตรา 112 ที่ศาลจะมีคำวินิจฉัยในวันที่ 31 มกราคมนั้น ไม่ว่าผลจะออกมาอย่างไร ถ้าออกมาเป็นคุณ พรรคก้าวไกลก็ยังทำหน้าที่ในสภาต่อไป นายพิธาก็ยังทำหน้าที่ตรวจสอบคู่กับนายชัยธวัช ตุลาธน ผู้นำฝ่ายค้าน
ถ้าไม่ถูกยุบพรรคคะแนนนิยมจะเป็นไปลักษณะค่อยเป็นค่อยไป โดยประชาชนจะดูจากผลงานประกอบด้วย แต่ถ้าถูกยุบแล้วไปตั้งพรรคใหม่สถานการณ์จะต่างกัน
คนจำนวนมากจะรู้สึกว่า พรรคก้าวไกลถูกรังแก คนที่เลือกและนิยมอยู่แล้วก็จะนิยมเพิ่มขึ้น ส่วนคนที่ยังลังเลอยู่อาจรู้สึกว่า ถูกรังแกอีกแล้ว หรือมีคำถามว่า พรรคการเมืองหาเสียงไม่ได้หรือ
อาจทำให้คะแนนนิยมจากที่ค่อยๆ เพิ่มขึ้น กลายเป็นเพิ่มขึ้นแบบก้าวกระโดด
กรณีแบบนี้เคยมีตัวอย่างเกิดขึ้นมาแล้วตั้งแต่พรรคอนาคตใหม่ถูกยุบ ส่งผลให้เกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์อย่างกว้างขวาง
ถ้ากลุ่มชนชั้นนำที่มีอำนาจฉลาด พรรคก้าวไกลคงไม่ถูกยุบแต่ถ้าคิดแบบระยะสั้น คิดเพื่อความสะใจคิดจะใช้วิธียุบพรรคมาสกัดจะสร้างปัญหาให้สังคมไทย และความขัดแย้งอาจลุกลามนอกสภา
การเลือกตั้งครั้งต่อไปก็จะทำให้ฝ่ายอนุรักษนิยมและชนชั้นนำทั้งหลายได้รับบทเรียนจากประชาชนมากขึ้น !