ลุ้นระทึก! ศาลรธน.ตัดสิน “คดีหุ้นITV” กับผลที่ตามมา “พิธา” จะเป็นอย่างไร ???

เป็นปรากฏการณ์สำคัญทางการเมืองไทยอีกครั้ง ต่อกรณี ศาลรัฐธรรมนูญนัดฟังคำวินิจฉัย “คดีพิธาถือหุ้นไอทีวี” เวลา 14.00 น. ของวันนี้ (24 ม.ค.) หากศาลตัดสินว่านายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ อดีตหัวหน้าพรรคก้าวไกล (ก.ก.) เป็นผู้ถือหุ้นสื่อ เขาจะต้องเสียสถานะสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (สส.) ทันที

คดีนี้ คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) เป็นผู้ยื่นคำร้องขอให้ศาลวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 82 ว่า สมาชิกภาพ สส. ของนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ สิ้นสุดลงตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 101 (6) ประกอบกับมาตรา 98 (3) หรือไม่ จากกรณีถือหุ้นในบริษัท ไอทีวี จำกัด (มหาชน) จำนวน 42,000 หุ้น ซึ่งประกอบกิจการหนังสือพิมพ์หรือสื่อมวลชนใด ๆ อยู่ในวันสมัครรับเลือกตั้ง สส.บัญชีรายชื่อ เมื่อ 7 เม.ย. 2566

รัฐธรรมนูญ 2560 มาตรา 98 (3) และพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. 2561 มาตรา 42 (3) กำหนดห้ามมิให้ผู้สมัคร สส. “เป็นเจ้าของหรือผู้ถือหุ้นในกิจการหนังสือพิมพ์หรือสื่อมวลชนใด ๆ”

พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ วัย 43 ปี หยุดปฏิบัติหน้าที่ สส. มากว่า 6 เดือนแล้ว นับจาก 19 ก.ค. 2566 ซึ่งเป็นวันที่ศาลรัฐธรรมนูญมีมติให้รับคำร้อง “คดีถือหุ้นไอทีวี” ไว้พิจารณา และยังเป็นวันเดียวกับการประชุมรัฐสภาเพื่อลงมติเลือกนายกรัฐมนตรีคนที่ 30 เป็นครั้งที่ 2

แม้พรรคร่วมจัดตั้งรัฐบาลในขณะนั้น มีความพยายามจะเสนอชื่อ “พิธา” แคนดิเดตนายกรัฐมนตรีของพรรค ก.ก. ให้ สส. และ สว. โหวตอีกครั้ง หลังจากได้รับเสียงสนับสนุนจากสมาชิกรัฐสภาไม่ถึงเกณฑ์ขั้นต่ำตามรัฐธรรมนูญในการโหวตเลือกนายกฯ รอบแรกเมื่อ 13 ก.ค. 2566 แต่เสียงส่วนใหญ่ของรัฐสภาตีความว่าทำไม่ได้ เพราะถือเป็น “ญัตติซ้ำ” ตามข้อบังคับการประชุมรัฐสภา ข้อ 41 ในเมื่อชื่อของเขาถูกโหวตคว่ำไปแล้ว จึงไม่สามารถเสนอชื่อเดิมให้สมาชิกรัฐสภาโหวตซ้ำเป็นรอบที่ 2 ได้

แกนนำพรรค ก.ก. เชื่อว่า มีความพยายาม “ฟื้นคืนชีพไอทีวี” ให้กลับมาเป็นสื่อมวลชน เพื่อสกัดกั้นการจัดตั้งรัฐบาลของก้าวไกล สำหรับข้อต่อสู้หลักที่ “พิธา” ใช้หักล้างข้อกล่าวหาของ กกต. ได้แก่เขาถือหุ้นในฐานะผู้จัดการมรดกของบิดา และได้ปันทรัพย์มรดกนี้ให้น้องชายตั้งแต่ก่อนดำรงตำแหน่ง สส. ปี 2562 สัดส่วนการถือครองหุ้น 42,000 หุ้น ถือเป็นจำนวนเพียง 0.00348% ไม่สามารถครอบงำสั่งการให้กระทำการใด ๆ ได้
ไอทีวีสิ้นสุดสถานะความเป็นสื่อมวลชนตั้งแต่ 7 มี.ค. 2550 ไม่มีใบอนุญาตคลื่นความถี่ เนื่องจากถูกสำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี (สปน.) เพิกถอนสัญญาร่วมงาน
ไอทีวีถูกคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ยึดใบอนุญาตประกอบกิจการภาพยนตร์ วีดิทัศน์ และสื่อโฆษณา คืนไปแล้ว
ไอทีวีไม่มีคลื่นความถี่แล้ว เพราะปัจจุบันกลายเป็นสถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส
ไอทีวีไม่มีรายได้จากการทำสื่อ

ทั้งหมดที่กล่าวมา ทำให้ ชัยธวัช ตุลาธน หัวหน้าพรรค ก.ก. แสดงความมั่นใจว่า “คุณพิธาน่าจะได้กลับมาปฏิบัติหน้าที่ สส. แน่นอนในวันที่ 25 ม.ค. นี้”

อย่างไรก็ตามมีรายงานว่า หากคำวินิจฉัยออกมาในทิศทางบวก และสำนักงานศาลรัฐธรรมนูญส่งหนังสือเเจ้งผลไปยังสำนักเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎรได้ทัน นายพิธาอาจเดินทางเข้าร่วมประชุมสภาทันทีในวันนี้ (24 ม.ค.)

หากศาลรัฐธรรมนูญตัดสินในทางเป็นคุณด้วยการ “ยกคำร้อง” พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ สส.บัญชีรายชื่อ ลำดับที่ 1 ของก้าวไกล ก็จะได้กลับเข้าไปทำหน้าที่ในสภาล่างในวันรุ่งขึ้น (25 ม.ค.) ตามที่ประกาศเอาไว้ก่อนหน้านี้

แต่ถ้าคำตัดสินออกมาในทางเป็นโทษ ก็ถือเป็นเรื่องเฉพาะตัวว่าด้วยคุณสมบัติการเป็นผู้แทนราษฎรของนายพิธา ไม่มีผลต่อสถานะของพรรค ก.ก. แต่อย่างใด

อย่างไรก็ตาม “นักร้องทางการเมือง” อย่าง เรืองไกร ลีกิจวัฒนะ สมาชิกพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) ได้ชิงไปยื่นเรื่องต่อ กกต. ตั้งแต่ 11 พ.ค. 2566 ขอให้ตรวจสอบว่า หากพิธา มีลักษณะต้องห้ามเป็น สส. รวมถึงต้องห้ามเป็นสมาชิกพรรค และหัวหน้าพรรค จากกรณีถือหุ้นไอทีวี จะส่งผลให้การเซ็นรับรองส่งผู้สมัคร สส.ก้าวไกล ทั้งแบบเขตเลือกตั้ง 400 คน และบัญชีรายชื่อ 100 คน ไม่ชอบด้วยกฎหมายหรือเป็นโมฆะหรือไม่“เรืองไกร” อ้างถึงข้อบังคับของพรรค ก.ก. ข้อ 12 ที่ระบุว่า “สมาชิกต้องไม่มีลักษณะต้องห้ามตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 98 (3)” หาก “พิธา” ถูกศาลรัฐธรรมนูญชี้ว่าเป็นผู้ถือหุ้นสื่อ ย่อมทำให้เขาขาดคุณสมบัติการเป็นสมาชิกพรรคและหัวหน้าพรรคด้วย

นอกจากคดีทางการเมือง “พิธา” อาจต้องเผชิญกับคดีอาญา เนื่องจาก กกต. ได้ตั้งคณะกรรมการไต่สวนคดีอาญา ตั้งแต่ 9 มิ.ย. 2566 ตามที่นายเรืองไกรร้องไป โดยให้เหตุผลว่า มีรายละเอียด ข้อเท็จจริง และพฤติการณ์มีหลักฐานพอสมควร มีข้อมูลเพียงพอที่จะสืบสวนไต่สวนต่อไป “จึงเห็นควรพิจารณาสั่งให้ดำเนินการไต่สวนเป็นกรณีที่มีเหตุอันควรสงสัย หรือความปรากฏ”

พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง สส. มาตรา 151 ระบุว่า ผู้ใดรู้อยู่แล้วว่าตนไม่มีสิทธิรับสมัครเลือกตั้ง เนื่องจากขาดคุณสมบัติหรือมีลักษณะต้องห้ามมิให้ใช้สิทธิสมัครรับเลือกตั้ง ได้สมัครรับเลือกตั้ง หรือทําหนังสือยินยอมให้พรรคการเมืองเสนอรายชื่อเพื่อสมัครรับเลือกตั้งแบบบัญชีรายชื่อ

สำหรับบทลงโทษคือ ต้องระวางโทษจำคุก 1-10 ปี ปรับ 20,000-200,000 บาท และให้ศาลสั่งเพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง 20 ปี“พิธา” ประกาศตัวเป็น “ว่าที่นายกรัฐมนตรีคนต่อไปของประเทศไทย” ภายหลังทราบผลเลือกตั้ง 14 พ.ค. 2566 ซึ่งพรรคสีส้มชนะการเลือกตั้งด้วยยอด สส. 151 คน แบ่งเป็น สส.เขต 112 คน และ สส.บัญชีรายชื่อ 39 คน ได้คะแนนมหาชน 14.4 ล้านเสียง

ในการเลือกตั้งครั้งล่าสุด มีประชาชนออกไปใช้สิทธิเลือกตั้ง 39.5 ล้านคน คิดเป็น 75.71% ของผู้มีสิทธิเลือกตั้งทั้งหมด 52.1 ล้านคน โดยถือเป็นจำนวนสูงสุดในประวัติศาสตร์

ต่อมาสถานการณ์พลิกผัน นายพิธาต้อง “เว้นวรรค” การทำหน้าที่ สส. จาก “คดีถือหุ้นไอทีวี” ต้องลงจากเก้าอี้หัวหน้าพรรค เพื่อเปิดทางให้เลือกผู้นำคนใหม่เข้าไปปฏิบัติหน้าที่ผู้นำฝ่ายค้านในสภา

แม้อยู่ในช่วง “เว้นวรรค” แต่ชื่อของนายพิธายังยืนหนึ่งในโพลตามผลการสำรวจความคิดเห็นของประชาชนโดยสำนักวิจัยต่าง ๆ อาทิ นิด้าโพลสำรวจเมื่อ ธ.ค. 2566 พบว่า ประชาชน 39.4% สนับสนุนให้นายพิธาเป็นนายกฯ ขณะที่นายกฯ ตัวจริง นายเศรษฐา ทวีสิน ได้รับเสียงสนับสนุน 22.3% จากกลุ่มตัวอย่าง 2,000 คน

ในช่วง 2 สัปดาห์สุดท้ายก่อนถึงวันตัดสิน “คดีถือหุ้นไอทีวี” นายพิธาเดินสายให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนหลายสำนัก หนึ่งความคิดและคำสำคัญที่กล่าวไว้คือ

“ถ้าจะมีอะไรเป็นสิ่งสุดท้ายในทางการเมือง ผมอยากให้คนจำผมในฐานะหัวหน้าพรรคที่ชนะการเลือกตั้งครั้งที่มีประชาชนออกไปใช้สิทธิมากที่สุดในประวัติศาสตร์ 76% ทำให้ประชาธิปไตยไทยกลับมามีชีวิตชีวา” นายพิธากล่าว

และแสดงความเชื่อมั่นด้วยว่า ผลการตัดสินจะออกมาในทิศทางที่ดี แต่แม้เขาต้องแพ้ “เส้นทางทางการเมืองของผมจะดำเนินต่อไป”