ครม.มีมติ ยกเลิก การอยู่เวรของครู หลัง “อนุทิน” เสนอ ชี้ “คนสำคัญกว่าสิ่งของ”

ครูเฮ ! ครม.มีมติยกเลิกการอยู่เวรของครูในโรงเรียน และสถานศึกษาทั่วประเทศแล้ว หลัง “อนุทิน” ระบุขะเสนอ ครม. ยกเลิกครูอยู่เวร ลั่น “คนสำคัญกว่าสิ่งของ”

วันที่ 23 ม.ค.2567 นายสุรศักดิ์ พันธ์เจริญวรกุล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ(ศธ.) เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติยกเลิกการอยู่เวรของครูในโรงเรียนและสถานศึกษาทั่วประเทศ อย่างไรก็ตาม นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง พล.ต.อ.เพิ่มพูน ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการศธ. มีความห่วงใยเรื่องความปลอดภัยของครู และบุคลากรทางการศึกษาทั่วประเทศ เมื่อมีกรณีครูถูกทำร้ายระหว่างอยู่เวรในสถานศึกษา ก็ได้หยิบยกเรื่องดังกล่าวเข้าหารือในที่ประชุมครม. เป็นเรื่องแรก โดยที่ประชุมครม. เห็นพ้องกันว่า ควรยกเลิกการอยู่เวรของครู ซึ่งเกิดขึ้นจากมติครม. เมื่อกว่า 20 ปีที่แล้วและเห็นว่า ปัจจุบันมีระบบอื่น ที่ทันสมัยอย่างกล้องวงจรปิดสามารถดูแลความปลอดภัยของโรงเรียนได้

โดยที่ประชุมครม. เห็นด้วยกับเรื่องดังกล่าว จึงมีมติให้ยกเลิกการอยู่เวรของครูทั่วประเทศ โดยในส่วนของศธ. ขอให้หน่วยงานในพื้นที่ ทั้งเจ้าหน้าที่ตำรวจ และ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) เข้ามามีส่วนร่วมดูแลโรงเรียน ในช่วงที่ไม่มีครูอยู่ ซึ่งนายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย (มท.) เตรียมสั่งการให้อปท.ทั่วประเทศ เข้าไปช่วยดูแลความปลอดภัยของโรงเรียนด้วย ส่วนกรณีที่ ศธ. จะเสนอของบจ้างนักการ ภารโรงกว่า 1.4 หมื่นอัตรานั้น ที่ประชุมยังไม่ได้พิจารณา โดยขอให้ศธ.ไปจัดทำรายละเอียด เพื่อเสนอให้ครม.พิจารณาในครั้งต่อไปก่อนหน้านี้ นายอนุทิน ชาญวีรกูล ในฐานะรองนายกรัฐมนตรี ที่กำกับดูแลกระทรวงศึกษาธิการอยู่ด้วย ระบุว่า ตนจะสนับสนุนให้มีการยกเลิกมติครม.ปี 2542 หรือ ออกมติครม.ใหม่ มายกเว้นในส่วนที่เกี่ยวกับการอยู่เวรรักษาการณ์ของหน่วยงานราชการ ตามหลักเกณฑ์ที่ออกมาในเดือน กรกฎาคม 2542 โดยเฉพาะในส่วนของโรงเรียนทั่วประเทศ เพราะข้าราชการไม่ควรต้องมารับผิดชอบต่อความเสียหายของทรัพย์สินของทางราชการที่เกิดจากอาชญากรรม หรือ หากมีอาชญากรรมเกิดขึ้น เป็นหน้าที่ของหน่วยงานความมั่นคงที่จะต้องดูแลไม่ว่าจะป้องกันหรือปราบปราม ไม่ใช่หน้าที่ครู

“นี่คือสิ่งที่ง่ายที่สุดในการคืนครูสู่ห้องเรียนและทำได้ทันที สวัสดิภาพและความปลอดภัยของครูมีความสำคัญเหนือสิ่งของ ต้องไม่มีเงื่อนไขใดมาเป็นอุปสรรค ไม่ว่าจะเป็นการอ้างงบประมาณหรือกระบวนการจัดซื้อจัดจ้างใดๆ เมื่อไม่มีครูเวรแล้ว ต่อให้ยังไม่มียามหรือกล้องวงจรปิด ถ้ามีการโจรกรรมก็ไม่ใช่ความผิดของครู ต้องเป็นความรับผิดชอบของอาชญากรและหน่วยงานรัฐที่มีหน้าที่ดูแลเรื่องความมั่นคง หากจะฝากโรงเรียนไว้กับใคร ต้องฝากกับตำรวจ หรือ อส.ของฝ่ายปกครอง ไม่ใช่ครู” นายอนุทินกล่าว.