ศุภมาส อิศรภักดี รมว.อว. เยี่ยมชมแหล่งเรียนรู้อาหารและขนมพื้นบ้านพังงาฯ ผลงาน วชช.พังงา สร้างรสชาติอาหารพื้นถิ่น “The Taste of Phang nga” จากภูมิปัญญาชุมชน ผสานองค์ความรู้จากการวิจัย
วันที่ 20 ม.ค.2567 น.ส.ศุภมาส อิศรภักดี รมว.การอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) พร้อมด้วย พญ.เพชรดาว โต๊ะมีนา ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวง อว. น.ส.สุณีย์ เลิศเพียรธรรม หัวหน้าผู้ตรวจราชการกระทรวง และ คณะผู้บริหาร อว. ลงพื้นที่เยี่ยมชมแหล่งเรียนรู้อาหารและขนมพื้นบ้านพังงาของกลุ่มวิสาหกิจชุมชนและกลุ่มพัฒนาอาชีพ อ.ทับปุด จ.พังงา ก่อนการประชุมคณะรัฐมนตรีอย่างเป็นทางการนอกสถานที่ ณ พื้นที่ กลุ่มจังหวัดภาคใต้ฝั่งอันดามัน (กระบี่ ตรัง พังงา ภูเก็ต ระนอง และสตูล) ณ บ้านคลองบ่อแสน อ.ทับปุด จ.พังงา โดยมี นายสุพจน์ รอดเรือง ณ หนองคาย ผู้ว่าราชการจังหวัดพังงา นายกลวัชร ทรัพย์ส่งสุข รองผู้ว่าราชการจังหวัดพังงา น.ส.พวงเพชร ฤทธิพรพันธุ์ ผู้อำนวยการวิทยาลัยชุมชนพังงา นายอรรถพล ไตรศรี สส.จังหวัดพังงา และชาวบ้านกลุ่มวิสาหกิจชุมชนและกลุ่มพัฒนาอาชีพ อ.ทับปุด จ.พังงา ทั้ง 10 กลุ่ม กว่า 300 คน ให้การต้อนรับน.ส.ศุภมาส กล่าวว่า อว. ดำเนินกิจกรรมสนับสนุนกลุ่มวิสาหกิจชุมชนและกลุ่มพัฒนาอาชีพสตรี ทั้ง 10 กลุ่ม ของ อ.ทับปุด จ.พังงา ผ่านวิทยาลัยชุมชนพังงาในฐานะ อว.ส่วนหน้าประจำจังหวัด ซึ่งมี มรภ.ภูเก็ต เป็นมหาวิทยาลัยพี่เลี้ยง ได้ให้การสนับสนุนในเรื่องการให้คำปรึกษา ถ่ายทอดองค์ความรู้ทั้งการทำการตลาด ตลอดจนจัดกิจกรรมแลกเปลี่ยนความคิดเห็นระหว่างกลุ่มวิสาหกิจ เพื่อนำความรู้มาพัฒนากระบวนการผลิต รวมถึงวิธีการบริหารจัดการอย่างเป็นระบบและมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น ส่งผลให้มีผลิตภัณฑ์ใหม่ ๆ ยอดขายและรายได้ก็เพิ่มมากขึ้น ทั้งการนำองค์ความรู้จากงานวิจัยสู่ผลิตภัณฑ์จากต้นเหนาทำให้เก็บไว้ได้นานขึ้น การแปรรูปมังคุดเป็นไซรัป ไวน์ มังคุดสามรสช่วยแก้ปัญหาราคาตกต่ำ ผลิตภัณฑ์เครื่องจักรสานจากทางปาล์มน้ำมันสามารถแก้ปัญหาวัสดุทางการเกษตรเหลือใช้และลดปัญหาโลกร้อน ผลิตภัณฑ์ผ้าบาติกสีธรรมชาติ ซึ่งทั้งหมดนี้เป็นส่วนหนึ่งของการพัฒนาผลิตภัณฑ์ถ่ายทอดเทคโนโลยีและความรู้ทางการตลาด ที่ อว.นำมาให้แก่ชุมชนต่าง ๆ ทำให้ชุมชนมีรายได้อย่างต่อเนื่องส่งผลต่อคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นนายสุพจน์ กล่าวว่า จังหวัดพังงาตั้งอยู่ทางภาคใต้ฝั่งตะวันตกมีพื้นที่ติดต่อกับทะเลอันดามัน มีประวัติศาสตร์ความเป็นมาที่เก่าแก่และน่าสนใจ ซึ่งปัจจุบันจังหวัดพังงาแบ่งกันปกครองออกเป็น 8 อำเภอ คือ อ.เมือง อ.คุระบุรี อ.ทับปุด อ.กะปง อ.ตะกั่วทุ่ง อ.ตะกั่วป่า อ.ท้ายเหมือง และ อ.เกาะยาว ด้านวิทยาลัยชุมชนพังงาในฐานะ อว. ส่วนหน้าประจำจังหวัดพังงาเป็นสถาบันการศึกษาระดับอุดมศึกษาที่จัดการศึกษาตามหลักการ การศึกษาสร้างชาติ สร้างคน และสร้างงาน โดยมุ่งให้ประชาชนมีโอกาสอย่างเท่าเทียมการที่จะเรียนรู้ตลอดชีวิตทั้งยังมุ่งสร้างชุมชนแห่งการเรียนรู้ โดยเน้นให้คนในชุมชนมีหลักคิดเชิงวิทยาศาสตร์สามารถพึ่งพาตนเองได้นำไปสู่ความเข้มแข็งทางเศรษฐกิจและวัฒนธรรมอย่างยั่งยืนด้าน น.ส.พวงเพชร กล่าวว่า ด้วยจังหวัดพังงามีความอุดมสมบูรณ์ทางอาหารอย่างมากและมีความโดดเด่นที่เรียกว่า “ทุนทางวัฒนธรรม” ทำให้วิทยาลัยชุมชนพังงาซึ่งเป็นสถาบันอุดมศึกษาที่มุ่งสร้างสรรค์พลังปัญญาเพื่อพัฒนาความเข้มแข็งของชุมชนด้วยทุนทางวัฒนธรรม มีแนวคิดในการสร้างความเข้มแข็งด้านอาหาร โดยต่อยอดภูมิปัญญาและยกระดับเพิ่มมูลค่าเพื่อพัฒนาสู่ชุมชนอย่างยั่งยืนให้สอดคล้องกับบริบททุนทางปัญญาและทุนทางวัฒนธรรมดั้งเดิมจนเกิดเป็น The Taste of Phang nga คือ รสชาติที่เกิดจากการนำภูมิปัญญาของชุมชนมาประสานสร้างสรรค์เข้ากับองค์ความรู้จากการวิจัยของวิทยาลัยชุมชนพังงา จนเกิดเป็นความเข้มแข็งทางเศรษฐกิจและวัฒนธรรมของผู้คนในชุมชนเพื่อให้เป็นพลังของชุมชน The Taste of Phang nga ประกอบไปด้วย ชาน้ำผึ้ง เกี่ยมโก้ยข้าวไร่ดอกข่า ข้าวไร่ทรงเครื่อง มังคุดสามรส และท๊อฟฟี่น้ำตาลเหนา