ศาลปกครองเชียงใหม่ พิพากษาสั่ง นายกฯ และ คณะกรรมการสิ่งแวดล้อม เร่งทำแผนแก้ปัญหาฝุ่น PM2.5 ภาคเหนือให้เสร็จใน 90 วัน หลังถูกกลุ่มคณะอาจารย์และพวกยื่นฟ้องเมื่อปี 2566
วันที่ 19 ม.ค.2567 ศาลปกครองเชียงใหม่ มีคำพิพากษา ให้นายกรัฐมนตรี และคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งขาติ ร่วมกันใช้อำนาจตาม พ.ร.บ.ส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ 2535 กำหนดมาตรการ หรือ จัดทำแผนฉุกเฉินที่มีประสิทธิภาพอย่างบูรณาการและยั่งยืน เพื่อป้องกัน ควบคุม แก้ไข บรรเทา หรือ ระงับภยันตรายอันเกิดจากฝุ่น PM2.5 ซึ่งเกินกว่าค่ามาตรฐานและอยู่ในระดับที่มีผลกระทบต่อสุขภาพอนามัยของประชาชนในพื้นที่ภาคเหนือให้ทันท่วงที ทั้งนี้ ให้ดำเนินการกำหนดมาตรการ หรือจัดทำแผนฉุกเฉินดังกล่าวให้แล้วเสร็จภายใน 90 วัน นับแต่วันที่คำพิพากษาถึงที่สุด
คดีดังกล่าวสืบเนื่องจาก เมื่อวันที่ 10 เม.ย. 2566 นายสมชาย ปรีชาศิลปกุล อาจารย์และหัวหน้าศูนย์วิจัยและพัฒนากฎหมาย คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และพวกรวม 10 คนยื่นฟ้อง นายกรัฐมนตรี คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ คณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ คณะกรรมการกำกับตลาดทุน เป็นผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1-4 ขอให้ศาลฯมีคำพิพากษาหรือคำสั่งให้นายกรัฐมนตรี สั่งการตามกฎหมายให้ส่วนราชการ รัฐวิสาหกิจ หรือบุคคลใดกระทำหรือร่วมกระทำการใด ๆ อันจะมีผลเป็นการควบคุม ระงับ หรือบรรเทาผลร้ายจากปัญหาฝุ่น PM2.5 และให้คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ ดำเนินการตามกฎหมายเพื่อพิจารณาแนวทางในการแก้ไขปัญหาหรือบรรเทาผลร้ายจากปัญหาฝุ่น PM2.5 เสนอผู้ที่เกี่ยวข้องเป็นการเร่งด่วน รวมถึงให้จัดทำแผนฉุกเฉินเพื่อแก้ไขสถานการณ์ที่เกิดขึ้นไว้ล่วงหน้า
ส่วนที่ศาลปกครองเชียงใหม่มีคำพิพากษาดังกล่าว ระบุว่า เมื่อพิจารณาจากข้อมูลของสำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (GISTDA) และกรมควบคุมมลพิษ ปรากฏว่าตั้งแต่ปี 2562 เป็นต้นมา หลายจังหวัดในพื้นที่ภาคเหนือมีฝุ่น PM2.5 ในปริมาณที่เกินค่ามาตรฐาน อยู่ในระดับที่มีผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชนติดต่อกันอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะในช่วงเดือนก.พ.-เม.ย.66 ประกอบกับคณบดีคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลมหาราชนครเชียงใหม่ และผู้อำนวยการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติเขต 1 (เชียงใหม่) ให้ข้อมูลสอดคล้องกันว่า ฝุ่น PM2.5 เป็นปัจจัยเสี่ยงสำคัญที่ทำให้เกิดกลุ่มโรคเกี่ยวกับระบบทางเดินหายใจ เช่น โรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง โรคมะเร็งปอด และโรคหืดหอบ โดยมีจำนวนผู้ป่วยและอัตราการเสียชีวิตของผู้ป่วยเพิ่มขึ้นมากนับตั้งแต่ปี 2561จนถึง 2566 จึงเห็นว่า กรณีดังกล่าวถือว่าพื้นที่ภาคเหนือเกิดภาวะมลพิษ ซึ่งเป็นอันตรายต่อสุขภาพอนามัยของประชาชน และก่อให้เกิดผลกระทบเสียหายต่อคุณภาพสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะอย่างยิ่งในจ.เชียงใหม่ซึ่งเป็นที่อยู่อาศัยของผู้ฟ้องคดีทั้งสิบ แม้ว่านายกรัฐมนตรี จะได้ดำเนินการเพื่อสั่งการให้มีการป้องกันและแก้ไขปัญหาฝุ่นละอองขนาดไม่เกิน 2.5 ไมครอน (PM2.5) แล้วก็ตาม แต่เนื่องจากสภาพอากาศในพื้นที่ภาคเหนือ รวมถึงจังหวัดเชียงใหม่ ยังคงตกอยู่ในภาวะที่ได้รับผลกระทบต่อสุขภาพอันเกิดจากฝุ่น PM2.5 เกินค่ามาตรฐานเป็นระยะเวลานานและต่อเนื่อง กรณีจึงถือว่า นายกรัฐมนตรี ปฏิบัติหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดล่าช้าเกินสมควร
นอกจากนี้ แม้หน่วยงานของรัฐได้ดำเนินการแก้ไขปัญหาตามแผนปฏิบัติการขับเคลื่อนวาระแห่งชาติดังกล่าวตลอดมา แต่สถานการณ์ปัญหาฝุ่น PM2.5 ของภาคเหนือยังคงมีปริมาณเกินค่ามาตรฐานในช่วงเดือน ธ.ค.- เม.ย.ทุกปีมาอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะในปี 2566ในพื้นที่จ.เชียงราย เชียงใหม่ ลำปาง ลำพูน แม่ฮ่องสอน แพร่ น่าน ตาก สุโขทัย และพิษณุโลก มีปริมาณฝุ่น PM2.5 เกินกว่า 50 มคก./ลบ.ม. เป็นระยะเวลาติดต่อกันหลายวัน และบางช่วงมีปริมาณสูงเกินกว่า 100 มคก./ลบ.ม. (ระดับที่ 4) เป็นอย่างมาก ถือว่าเป็นปัญหามลพิษที่มีแนวโน้มที่จะร้ายแรงถึงขนาดเป็นอันตรายต่อสุขภาพอนามัยของประชาชนหรืออาจก่อให้เกิดผลกระทบเสียหายต่อคุณภาพสิ่งแวดล้อม โดยไม่ปรากฏว่าคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ ได้กำหนดให้มีการประชุมเป็นกรณีเร่งด่วนเพื่อแก้ไขปัญหาฝุ่น PM2.5 ที่อยู่ในสถานการณ์วิกฤตในระดับที่ 4 และพิจารณากลั่นกรองแนวทางแก้ไขปัญหาหรือบรรเทาผลร้ายจากฝุ่น PM2.5 เสนอต่อนายกรัฐมนตรี เป็นการเร่งด่วนในเวลานั้น ทำให้ผู้ฟ้องคดีทั้งสิบ ตกอยู่ในสภาวะเสี่ยงที่จะได้รับผลกระทบต่อสุขภาพทั้งในระยะสั้นและระยะยาว จึงถือว่าคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมละเลยต่อหน้าที่หรือปฏิบัติหน้าที่ตามกฎหมายล่าช้าเกินสมควร แต่เนื่องจากสถานการณ์ปัญหาฝุ่น PM2.5 เกินค่ามาตรฐานในพื้นที่ภาคเหนือได้คลี่คลายลงแล้วตั้งแต่ช่วงพ.ค. 66 ศาลจึงไม่อาจกำหนดคำบังคับให้นายกรัฐมนตรี และคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ ปฏิบัติหน้าที่ดังกล่าวได้
อย่างไรก็ตาม ปัญหาฝุ่น PM2.5 เกินค่ามาตรฐานในพื้นที่ภาคเหนือโดยมากจะเกิดขึ้นประจำในช่วงเดือน ธ.ค. – เม.ย. ของทุกปีอย่างต่อเนื่อง และมีแนวโน้มว่าจะทวีความรุนแรงขึ้น ดังนั้นเพื่อเป็นการป้องกันเหตุดังกล่าวไว้ก่อนทั้งระยะสั้นและระยะยาวในรอบระยะเวลาข้างหน้าตามหลักการป้องกันล่วงหน้า จึงมีเหตุผลเพียงพอที่ศาลจะพิพากษาให้นายกรัฐมนตรี และคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ ใช้อำนาจและปฏิบัติหน้าที่ตามพ.ร.บส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ 2535เพื่อป้องกัน ควบคุม แก้ไข ระงับหรือบรรเทาผลร้ายจากอันตรายและความเสียหายที่เกิดจากภาวะมลพิษได้อย่างมีประสิทธิภาพและทันท่วงที.