ศาลฎีกา ตัดสิทธิ์การเมือง 3 สส.ภูมิใจไทย “ฉลอง-ภูมิศิษฏ์-นาที” พ้นตำแหน่ง สส. เพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้งตลอดไป-ไม่มีสิทธิดำรงตำแหน่งทางการเมือง ให้เพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง กำหนด 10 ปี ปมฝ่าฝืนจริยธรรม คดีเสียบบัตรแทนกัน
วันที่ 10 ม.ค.2567 ที่ศาลฎีกา สนามหลวง องค์คณะผู้พิพากษาศาลฎีกาอ่านคำพิพากษาคดีฝ่าฝืนมาตรฐานจริยธรรม หมายเลขดำที่ คมจ.3/2564 ที่คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ยื่นฟ้อง นายฉลอง เทิดวีระพงศ์ อดีต สส.เขต 2 พัทลุง พรรคภูมิใจไทย (ภท.), นายภูมิศิษฏ์ คงมี อดีต ส.ส.เขต 1 พัทลุง พรรคภูมิใจไทย และนางนาที รัชกิจประการ อดีต สส.บัญชีรายชื่อ พรรคภูมิใจไทย กรณีเสียบบัตร สส.แทนกันในการประชุมสภา
สำหรับคดีนี้ จำเลยทั้ง 3 คน ถูกกล่าวหาว่ายินยอมให้บุคคลอื่นเสียบบัตรแสดงตนแทนในการลงมติเรียงตามรายมาตรา ในการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2563 เมื่อวันที่ 10-11 มกราคม 2563 เป็นเหตุให้ร่าง พ.ร.บ.งบประมาณปี 2563 วาระที่ 2-3 เป็นการปฏิบัติ หรือ ละเว้นการปฏิบัติอย่างใดอย่างหนึ่งในตำแหน่งหรือหน้าที่ หรือใช้อำนาจในตำแหน่งหรือหน้าที่โดยมิชอบ เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด หรือปฏิบัติ หรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต และไม่รับผิดชอบต่อหน้าที่อันสำคัญที่ได้รับความไว้วางใจจากประชาชน เข้าลักษณะเป็นการฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรมอย่างร้ายแรง เหตุเกิดที่อาคารรัฐสภาแขวงถนนนครไชยศรี เขตดุสิต กรุงเทพมหานคร
ขอให้มีคำพิพากษาหรือคำสั่งว่า ผู้คัดค้านทั้งสามฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรมของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ และผู้ดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระ รวมทั้งผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน และหัวหน้าหน่วยงานธุรการของศาลรัฐธรรมนูญและองค์กรอิสระ พ.ศ. 2561 ขอให้หยุดปฏิบัติหน้าที่นับแต่วันที่ศาลฎีการับคำร้อง จนกว่าจะมีคำพิพากษา ให้ผู้คัดค้านทั้งสามพ้นจากตำแหน่ง นับแต่วันหยุดปฏิบัติหน้าที่ เพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้งและเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งของผู้คัดค้านทั้งสามมี
ศาลฎีกามีคำสั่งให้ผู้คัดค้านที่ 1, 2 หยุดปฏิบัติหน้าที่ เมื่อวันที่ 3 ก.ย.64 ส่วนผู้คัดค้านที่ 3 พ้นจากการเป็น สส.ก่อนวันที่ผู้ร้องยื่นคำร้องคดีนี้แล้ว
ต่อมา อัยการสูงสุดเป็นโจทก์ฟ้องผู้คัดค้านทั้งสามเป็นคดีอาญาด้วยมูลเหตุเดียวกับคดีนี้ต่อศาลฎีกา แผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ซึ่งมีข้อเท็จจริงและพยานหลักฐานส่วนใหญ่เป็นชุดเดียวกัน เมื่อศาลในคดีอาญาดังกล่าวมีคำพิพากษา เมื่อวันที่ 18 พ.ค.66 แล้ว จึงดำเนินกระบวนพิจารณาคดีนี้ต่อ โดยไต่สวนพยานผู้ร้องกับไต่สวนพยานผู้คัดค้าน
องค์คณะผู้พิพากษาพิจารณาแล้วเห็นว่า เมื่อพิจารณาพยานหลักฐานแวดล้อมอื่นประกอบพฤติการณ์แห่งคดีแล้ว บัตรอิเล็กทรอนิกส์เป็นเอกสารสำคัญ ประจำตัว ซึ่งแสดงถึงสิทธิและหน้าที่ในฐานะผู้แทนประชาชน ผู้คัดค้านทั้งสามต้องใช้มาตรฐานที่มากกว่าวิญญูชนทั่วไปในการดูแลรักษาบัตรดังกล่าว ทางไต่สวนได้ความว่า ภายหลังผู้คัดค้านทั้งสามทราบว่า ตนลืมบัตรอิเล็กทรอนิกส์ไว้ในที่ประชุม ก็ไม่ปรากฏว่าผู้คัดค้านทั้งสามดำเนินการใด เพื่อป้องกันมิให้ผู้อื่นนำบัตรของตนไปใช้ ทั้งเมื่อทราบว่ามีผู้อื่นนำบัตรอิเล็กทรอนิกส์ของตนไปใช้แสดงตน และลงมติโดยไม่ได้รับความยินยอม ผู้คัดค้านทั้งสามก็มิได้เร่งรีบตรวจสอบข้อเท็จจริง หรือ อาศัยกลไกทางกฎหมายเพื่อสืบหาตัวผู้กระทำดังกล่าว หรือแจ้งเรื่องที่เกิดขึ้นต่อประธานสภาผู้แทนราษฎร อันเป็นการผิดวิสัยของวิญญูชนผู้สุจริต ความเห็นคณะกรรมการสอบข้อเท็จจริงของพรรคภูมิใจไทยที่ว่า การกระทำของผู้คัดค้านที่ 1 ยังฟังไม่ได้ว่า มีความผิดตามข้อบังคับของพรรค มิได้ทำให้ภาระหน้าที่ในการป้องกันบุคคลอื่นนำบัตรของตนไปใช้ หรือการติดตามหาผู้ที่นำบัตรดังกล่าวไปใช้สูญสิ้นไป
ประกอบกับการที่บัตรอิเล็กทรอนิกส์ ระบุหมายเลขประจำตัว ชื่อ และชื่อสกุลเจ้าของบัตรไว้ย่อมเป็นการง่ายที่สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรรายอื่นจะสังเกตเห็นได้ว่า บัตรนั้นเป็นของผู้ใด ไม่น่าเชื่อว่าจะมีการนำบัตรไปใช้โดยพลการอย่างต่อเนื่องทันที ที่ผู้คัดค้านทั้งสามไม่อยู่ในที่ประชุม หากไม่ได้รับมอบหมายหรือได้รับความยินยอมจากผู้คัดค้านทั้งสาม และหากผู้คัดค้านทั้งสามหลงลืมบัตรอิเล็กทรอนิกส์ไว้ในที่ประชุมจริง เจ้าหน้าที่สำนักการประชุมย่อมต้องพบและเก็บบัตรของผู้คัดค้านได้ ตั้งแต่หลังเลิกประชุมในวันที่ 10 ม.ค. การที่ผู้คัดค้านทั้งสามอ้างว่าเร่งรีบออกจากที่ประชุม ก็ไม่ปรากฏว่าผู้คัดค้านทั้งสามแจ้งให้ผู้ใดทราบ เป็นเรื่องยากที่บุคคลอื่นจะทราบถึงการไม่อยู่ร่วมในที่ประชุมของผู้คัดค้านทั้งสาม จนสามารถใช้บัตรแสดงตนและลงมติได้ต่อเนื่องทันที ทั้งช่วงเกิดเหตุมีที่นั่งและช่องเสียบบัตร 300 ที่นั่ง ไม่เพียงพอต่อจำนวน สส. ทำให้ต้องมีการสับเปลี่ยนหมุนเวียนใช้เครื่องเสียบบัตรร่วมกัน และระหว่างการประชุมไม่มีการบันทึกภาพสมาชิกขณะแสดงตนและลงมติไว้ ย่อมเป็นช่องทางให้มีการนำบัตรอิเล็กทรอนิกส์ของ สส.รายอื่นไปใช้แสดงตน และลงมติแทนได้ง่าย โดยที่ถูกพบเห็นได้ยาก จึงเป็นข้อสนับสนุนให้เชื่อว่ามีบุคคลอื่นใช้บัตรอิเล็กทรอนิกส์ของผู้คัดค้านทั้งสามโดยความรู้เห็นและยินยอมของผู้คัดค้านทั้งสาม
ส่วนข้ออ้างของผู้คัดค้านทั้งสามเกี่ยวกับเหตุผลความจำเป็นและความสำคัญของการออกจากที่ประชุมเพื่อเดินทางไปร่วมงานวันเด็กแห่งชาติและงานสัมมนา การไม่มีเหตุจูงใจใดให้ต้องฝากบัตรไว้ และการที่ผู้คัดค้านทั้งสามไม่อยู่ในที่ประชุมไม่ก่อให้เกิดความเสียหาย รวมถึงความเร่งรีบ อาการเจ็บป่วย และความเหนื่อยล้าที่ ทำให้ลืมบัตรไว้นั้น มิใช่เหตุตามกฎหมายที่จะฝากบัตรอิเล็กทรอนิกส์ หรือยินยอมให้ผู้อื่นนำไปใช้แสดงตนและลงมติแทนผู้คัดค้านทั้งสามได้ และมิใช่ข้อยืนยันเจตนาบริสุทธิ์ ไม่อาจใช้อ้างเพื่อพิสูจน์ว่าไม่มีการฝาก หรือยินยอมให้มีการใช้บัตรอิเล็กทรอนิกส์แทน หรือใช้ยันเพื่อปัดความรับผิดในกรณีที่บุคคลอื่นนำบัตรอิเล็กทรอนิกส์ไปใช้แสดงตนและลงมติแทนได้
ซึ่งเมื่อพิจารณาลักษณะของการฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติ เจตนาและความร้ายแรงของความเสียหายที่เกิดขึ้นแล้ว เห็นว่า ร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2563 ถือเป็นเครื่องมือสำคัญของรัฐบาลที่จะทำให้การบริหารราชการแผ่นดินตามนโยบายที่คณะรัฐมนตรีได้แถลงไว้ต่อรัฐสภาสามารถบรรลุผลสำเร็จตามเป้าหมายได้ อันจะสะท้อนความสามารถในการบริหารประเทศด้านการเงินและการคลัง กับเสถียรภาพของรัฐบาล และต้องอาศัยมติและเสียงของสมาชิกฝ่ายรัฐบาลเป็นหลักในการผลักดันร่างกฎหมาย เมื่อผู้คัดค้านทั้งสามเป็นสมาชิกพรรคการเมืองร่วมรัฐบาล ย่อมเป็นมูลเหตุจูงใจให้ผู้คัดค้านทั้งสามต้องมอบหรือฝากบัตรอิเล็กทรอนิกส์ไว้ให้บุคคลที่ได้มีการคบคิดกันมาก่อนแสดงตนและลงมติแทน ต่อมา ศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยว่าการออกเสียงลงมติแทนผู้ที่ไม่อยู่ร่วมประชุมเป็นการกระทำโดยไม่สุจริต ทำให้ผลการลงมติร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2563 วาระที่ 2 และวาระที่ 3 ไม่สอดคล้องกับหลักนิติธรรมและไม่ชอบด้วยบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญ เป็นเหตุให้ พรบ.ดังกล่าวตราขึ้นโดยไม่ถูกต้องตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญ การกระทำในส่วนนี้ย่อมถือได้ว่าเป็นการฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรมที่มีลักษณะร้ายแรง
พิพากษาว่า ผู้คัดค้านทั้งสามฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรมฯ ข้อ 6, 7, 8 ประกอบข้อ 27 วรรคหนึ่ง และข้อ 17, 21 ประกอบข้อ 27 วรรคสอง ให้ผู้คัดค้าน 1, 2 พ้นจากตำแหน่งนับแต่วันที่ 3 ก.ย. 2564 อันเป็นวันที่ศาลฎีกามีคำสั่งในคดีนี้ ให้ผู้คัดค้านที่ 1, 2 หยุดปฏิบัติหน้าที่ เพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้งของผู้คัดค้านทั้งสามตลอดไป และไม่มีสิทธิดำรงตำแหน่งทางการเมืองใดๆ กับให้เพิกถอนสิทธิเลือกตั้งของผู้คัดค้านทั้งสาม มีกำหนดเวลาสิบปี นับแต่วันที่ศาลฎีกามีคำพิพากษาตาม รธน.มาตรา 235 วรรคสามและวรรคสี่ พ.ร.ป.ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561 มาตรา 87 ประกอบมาตรา 81 คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในส่วนคดีอาญา เมื่อวันที่ 18 พ.ค.66 ศาลฎีกานักการเมืองพิพากษาจำคุก อดีต สส.ภูมิใจไทย 3 ราย จำคุกคนละ 9 เดือน ไม่รอลงอาญา พ้นจากตำแหน่งและตัดสิทธิทางการเมือง กรณีเดียวกันนี้ ซึ่งคดีอยู่ระหว่างชั้นวินิจฉัยอุทธรณ์