การเมืองไทยผ่านพ้นปีกระต่ายดุ 2566 มาด้วยความเข้มข้น ทุกห้วงสถานการณ์เต็มไปด้วยการชิงไหวชิงพริบ ในทุกการต่อสู้ไม่มีสูตรตายตัว ทว่านั่นอาจเป็นการเริ่มต้น เป็นฉากแรกของการเปลี่ยนแปลงจาก “ขั้วอำนาจเก่า” มาสู่ “ขั้วอำนาจใหม่” ขณะเดียวกัน ยังมีฉากการเมืองใหม่ ที่ยังท้าทายในห้วงตลอดปี 2567 จากนี้ไป
ศ.ดร.ไชยันต์ ไชยพร อาจารย์ประจำภาควิชาการปกครอง คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย วิเคราะห์ถึงเหตุการณ์สำคัญที่ต้องจับตาว่าเรื่องใดจะกลายเป็น “ชนวน” ความขัดแย้งทางการเมืองรอบใหม่ รวมทั้งการผลักดัน “นโยบายเรือธง” ของรัฐบาล ที่มี “พรรคเพื่อไทย” เป็นแกนนำจะเกิดขึ้นได้หรือไม่ และหากไม่บรรลุเป้าหมาย จะกลายเป็น “ปัจจัยลบ” ต่อรัฐบาลทั้งคณะหรือไม่
โดยเฉพาะ การแก้ไขรัฐธรรมนูญ จะเป็นของความขัดแย้งตามมาหรือไม่ และจะสามารถแก้ได้หรือไม่ ซึ่งนักวิชาการท่านนี้มองว่า จะไม่เป็นชนวนความขัดแย้งใหม่ เพราะพรรคการเมืองส่วนใหญ่ จะรีบร้อนแก้รัฐธรรมนูญ แม้จะเคยสื่อสารว่า จะแก้ก็ตาม ดังนั้นเมื่อไม่ได้รีบร้อนที่จะแก้ จึงบอกไม่ได้ว่า แก้ได้หรือไม่ได้สำหรับเหตุผลที่ไม่รีบร้อน เพราะพรรครัฐบาลและพรรคร่วมรัฐบาลต้องการสร้างผลงานให้ต้องตาประชาชน อีกทั้งหากแก้รัฐธรรมนูญแล้ว มีการเปลี่ยนแปลงสาระสำคัญในรัฐธรรมนูญที่เกี่ยวข้องกับสมาชิกภาพของ สส. ก็จะต้องยุบสภาฯเพื่อให้มีการเลือกตั้งทั่วไปใหม่ ดังนั้น ยังไม่เห็นวี่แววที่พรรครัฐบาลและพรรคร่วมอยากจะให้มีการเลือกตั้งทั่วไป
ขณะเดียวกัน ในการทำประชามติ มีการเสนอให้ลดเกณฑ์ขั้นต่ำของจำนวนผู้มีสิทธิ์ออกเสียง และเกณฑ์ขั้นต่ำของการผ่านประชามติ เข้าใจว่า ข้อเสนอนี้จะไม่ผ่าน เพราะหากผ่าน จะทำให้การทำประชามติไม่ได้อิงกับเสียงข้างมากอย่างแท้จริง ทั้งนี้ หากในวันที่ศาลรัฐธรรมนูญ นัดฟังคำวินิจฉัยคดีล้มล้างปกครอง กรณีที่พรรคก้าวไกลเสนอแก้ไขมาตรา 112 เป็นนโยบายหาเสียง ออกมาในทางที่เป็นลบ ด้วยการให้ยุบพรรคก้าวไกล จะมีผลในทางการเมืองตามมาหรือไม่ และอย่างไร
ไม่ต่างจากในอดีตที่พรรคอนาคตใหม่ถูกยุบมาแล้ว จากนั้นมาเป็นพรรคก้าวไกล ดังนั้นหากมีการยุบพรรคก้าวไกล จริง ผลคือ สส.จำนวนมากของพรรคก้าวไกลจะไปสังกัดพรรคใหม่ การถูกยุบจะนำมาซึ่งความเห็นอกเห็นใจของประชาชน ของผู้คนในสังคม ดังนั้นจะส่งผลต่อการเพิ่มจำนวน สส. ของพรรคในการเลือกตั้งทั่วไป ขณะเดียวกัน ก็จะมี สส. ก้าวไกลจำนวนหนึ่งไม่ไปสังกัดพรรคอื่นๆ เช่น พรรคเพื่อไทย และพรรคภูมิใจไทยสำหรับความคืบหน้าของคดีล้มล้างการปกครองนั้นล่าสุด จากการไต่สวนพยาน 2 ปาก คือนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ สส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล และ นายชัยธวัช ตุลาธน สส.บัญชีรายชื่อ และหัวหน้าพรรคก้าวไกล เสร็จสิ้นลงเมื่อวันที่ 25 ธ.ค.66 ที่ผ่านมา แล้วนั้น ศาลรัฐธรรมนูญ ได้นัดแถลงด้วยวาจาและลงมติ พร้อมให้ฟังคำวินิจฉัย ในวันพุธที่ 31 ม.ค.67 นี้ ในเวลา 09.30 น.
ส่วน ประเด็นที่ถูกจับตามาตั้งแต่ปลายปีที่ผ่านมา จนถึงวันนี้คือการกลับประเทศไทยของนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ภายหลังเมื่อเข้าสู่กระบวนการทางกฎหมายแล้ว แต่ปรากฏว่านายทักษิณ ถูกส่งออกมารักษาตัวนอกเรือนจำ ที่โรงพยาบาลตำรวจ เกิน120 วัน ต่อมามีการออกระเบียบว่าด้วย “จำคุกนอกเรือนจำ” จนถูกตั้งข้อสังเกตว่าเอื้อต่อนายทักษิณ เรื่องนี้จะกลายเป็นปัญหาใหญ่ตามมาหรือไม่ โดยเฉพาะกระแสต่อต้านนอกสภาฯ
กระแสของผู้คนในสังคม เริ่มก่อตัวขึ้นเรื่อยๆจากผู้ที่มีจุดยืนทางการเมืองที่แตกต่างกัน แต่ดูจะรวมกันได้ต่อประเด็นคุณทักษิณ เรียกได้ว่า กำลังจะเกิดสหพันธมิตรจากทุกสารทิศ และจะเป็นหนึ่งในเงื่อนไขที่จะนำไปสู่วิกฤตการเมืองในปี 2567 ได้ หากรัฐบาลเพื่อไทยไม่ดับเชื้อไฟนี้ตั้งแต่เนิ่นๆ
“มีคนถามผมมาว่า ผมเชื่อในดีลลังกาวีไหม ผมได้ตอบไปว่า ถ้ามีดีลจริง ประเด็นที่น่าขบคิดคือ 1. สาระของ ดีล มีขอบเขตแค่ไหน 2 รักษาสัจจะในดีลกันแค่ไหน หรือ 3 จริงๆแล้ว ดีลนี้เป็น ลับ ลวง พราง” ศ.ดร.ไชยันต์ กล่าว ละว่าการผลักดันนโยบายหาเสียงของพรรคเพื่อไทย จนมาสู่การเป็นรัฐบาล คือการเดินหน้านโยบายดิจิทัลวอลเล็ต แจกเงินหมื่นบาท โดยรัฐบาลเสนอออกพ.ร.บ.กู้เงิน 5 แสนล้านบาท เพื่อนำมาใช้โครงการดังกล่าว ประเมินว่าจะได้รับความเห็นชอบจากที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎร หรือไม่ และหากไม่ผ่าน จะส่งผลกระทบตามมาหรือไม่ อย่างไร
พ.ร.บ. กู้เงิน 5 แสนล้านบาท จะไม่ผ่านนั้น มีอยู่สองด่านเท่านั้น คือ ด่านสภาผู้แทนราษฎร และ ด่านศาลรัฐธรรมนูญการ ที่ พ.ร.บ.กู้เงิน 5แสนล้านบาท จะผ่านหรือไม่ผ่านสภาฯ ไม่ขึ้นอยู่กับเสียงฝ่ายค้านเลย เพราะในตอนที่โหวตเลือกคุณเศรษฐา ทวีสิน เป็นนายกรัฐมนตรี นั้น พรรคเพื่อไทยได้รับเสียงสนับสนุนจากพรรคอื่นๆรวมแล้ว 173 เสียง โดยพรรคเพื่อไทยมี 141 เสียงในการลงมติผ่านร่าง พ.ร.บ กู้เงิน 5แสนล้านบาท ซึ่งจะต้องได้เสียงเกินกึ่งหนึ่งของสภาฯ ดังนั้น เท่ากับว่าพรรคเพื่อไทยต้องการอีกเพียง 110 เสียงจากเสียงของพรรคร่วม 173 เสียง
การที่ร่างพ.ร.บ.กู้เงิน 5 แสนล้านบาทจะผ่านหรือไม่ผ่านสภาฯ อาจออกมาได้หลายแบบ โดยแบบแรกคือ เสียงพรรคร่วมรัฐบาลเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันกับพรรคเพื่อไทย คือ เสียงจากพรรคร่วมรัฐบาลทั้งหมด 314 เสียงเทให้ ผ่านสามวาระ ส่งต่อไปที่วุฒิสภา และสมมติว่า แม้เสียงข้างมากของวุฒิสภาจะไม่เห็นชอบ แต่ก็ไม่มีผลที่จะคว่ำ ร่างพ.ร.บ.กู้เงินฯ ได้ การจะคว่ำ จึงไปตกอยู่กับการร้องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่าขัดกับวินัยการคลังที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญหรือไม่ การจะร้อง รัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2560 กำหนดว่า จะต้องมี สส. หรือ สว. เข้าชื่อกันไม่น้อยกว่าร้อยละสิบของจำนวนสมาชิกของแต่ละสภา ฯ หมายความว่า ในกรณีที่พรรคร่วมเทให้เพื่อไทยรวม 314 ก็คงไม่มี สส. ฝั่งรัฐบาลไปเข้าชื่อกัน 50 คนเพื่อร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญ เพราะจะเป็นเรื่องประหลาดที่ลงคะแนนสนับสนุนแล้ว จะไปร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญอีก แต่ที่จะเป็นไปได้ก็คือ พรรคฝ่ายค้านเป็นผู้ร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญ แต่พรรคประชาธิปัตย์มี สส. ไม่ถึง 50 คน ดังนั้น พรรคก้าวไกลเท่านั้นที่จะสามารถมีสิทธิ์เข้าชื่อกันถึง 50 คนร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญ และสมมติว่า ศาลรัฐธรรมนูญตัดสินว่าขัดวินัยการคลังรัฐธรรมนูญ ก็จะส่งผลให้ ร่างพ.ร.บ.กู้เงินฯ ไม่ผ่านหรือในอีกทางหนึ่ง ไม่ผ่านตั้งแต่ขั้นสภาผู้แทนราษฎร ซึ่งหมายความว่า เสียงแตกในพรรคร่วมรัฐบาล ในกรณีที่ไม่ผ่านเพราะสาเหตุคำตัดสินศาล ไม่ใช่เสียงพรรคร่วมรัฐบาลแตก คุณเศรษฐาก็ไม่มีเหตุผลที่ต้องลาออก เพราะพรรคร่วมไม่ได้เสียงแตก แต่ถ้าไม่ผ่านเพราะเสียงพรรคร่วมแตก นั่นคือ ร่างพ.ร.บ. กู้เงิน ไม่ได้เสียงถึง 251 ขึ้นไป ก็มีนัยว่า รัฐบาลที่นำโดยพรรคเพื่อไทยไม่ได้เสียงสนับสนุนเกินกึ่งหนึ่งของสภาผู้แทนราษฎร คุณเศรษฐา อาจจะใช้โอกาสนี้แสดงสปิริตลาออก เพื่อให้มีการจับขั้วตั้งรัฐบาลใหม่ขึ้น และตามธรรมเนียมของระบบรัฐสภา ผู้นำฝ่ายค้านจะเป็นฝ่ายเคลื่อนไหวที่จะนำการจัดตั้งรัฐบาลชุดใหม่ขึ้น นั่นคือ ก้าวไกลจะประกาศเดินหน้าจัดตั้งรัฐบาล
แต่ถ้าศาลตัดสินให้คุณพิธา หมดสิทธิ์ที่จะได้รับการเสนอชื่อเป็นนายกรัฐมนตรี พรรคก้าวไกลก็จะไม่สามารถใช้สิทธิ์ผู้นำฝ่ายค้านนำการจัดตั้งรัฐบาลได้ แม้ว่าจะมีเสียง สส. มากที่สุดในสภาก็ตาม ดังนั้น สิทธิ์ในการจัดตั้งรัฐบาลก็จะยังคงอยู่กับพรรคที่มีเสียง สส. รองลงมาจากพรรคก้าวไกล นั่นคือ พรรคเพื่อไทย แต่เพื่อไทยน่าจะไม่จับมือกับพรรคร่วมที่ไม่สนับสนุน ร่างพ.ร.บ. กู้เงิน แต่จะมาดึงพรรคก้าวไกลมาร่วมรัฐบาล เป็นรัฐบาลผสมสองพรรคที่รวม สส. กันแล้วได้ถึง 280+ ซึ่งมากกว่าสมัยลุงตู่จัดตั้งรัฐบาลผสมสารพัดพรรคในปี 2562 ด้วยซ้ำ การเป็นรัฐบาลผสมสองพรรคจะทำให้เพื่อไทยได้กระทรวงต่างๆมากขึ้นกว่า แม้ว่าจะเสี่ยงกับการต้องคอยง้อพรรคก้าวไกล เพราะการเป็นรัฐบาลผสมสองพรรค หากวันดีคืนดี พรรคก้าวไกลถอนตัวออกไป รัฐบาลก็ล่มทันที ผิดกับเป็นรัฐบาลผสมหลายพรรคที่ต่างก็ต้องพึ่งพาอาศัยกันเงื่อนไขการจัดตั้งรัฐบาลผสมสองพรรค คือพรรคเพื่อไทยกับพรรคก้าวไกลจะเป็นไปได้ก็ต่อเมื่อคุณเศรษฐาลาออกและการเลือกนายกรัฐมนตรีเกิดขึ้นหลังจากที่ สว. ไม่มีอำนาจในการเลือกนายรัฐมนตรีแล้วในเดือนพฤษภาคม 2567 พรรคเพื่อไทยหรือพรรคก้าวไกลจะมีฟรีแฮนด์ในการจัดตั้งรัฐบาลมากขึ้น ถ้าคุณเศรษฐาลาออก และคุณพิธาไม่โดนตัดสิทธิ์ พรรคก้าวไกลก็จะต้องยืนยันให้คุณพิธา เป็นนายกรัฐมนตรี
แต่คำถามคือ พรรคเพื่อไทยจะยอมร่วมรัฐบาลโดยให้พรรคก้าวไกลเป็นนายกรัฐมนตรีหรือไม่ ? ขณะเดียวกัน พรรคร่วมรัฐบาลเดิมก็เสียงแตกไม่สนับสนุน พ.ร.บ. กู้เงิน ฯ ดังนั้น ภายใต้สมการที่คุณพิธาไม่โดนตัดสิทธิ์ และร่าง พ.ร.บ. กู้เงินฯ ถูกคว่ำเพราะเสียงพรรคร่วมรัฐบาลแตก คุณเศรษฐาลาออก และให้คุณอุ๊งอิ๊ง หัวหน้าพรรคเพื่อไทยขึ้นมาเป็นนายกรัฐมนตรี โดยขอเสียงจากพรรคร่วมที่แม้ว่าจะไม่สนับสนุน ร่างพ.ร.บ. กู้เงิน แต่ยังต้องการร่วมรัฐบาลกันอยู่ต่อไป โดยกันพรรคก้าวไกลไว้ได้ตามเคย
ดังนั้น จึงน่าจับตาคำตัดสินของศาลรัฐธรรมนูญต่อกรณีคุณพิธาถือหุ้นสื่อในวันที่ 24 มกราคม 2567 ที่จะส่งผลต่อความเป็นไปได้ ทั้งในการจับขั้วทางการเมืองใหม่ตั้งแต่เดือนพฤษภาคมเป็นต้นไป ขณะเดียวกัน ก็ต้องจับตากระแสการถามหาความไม่โปร่งใส การตั้งคำถามกับการเลือกปฏิบัติในกรณีคุณทักษิณ ที่อาจจะบานปลายเป็นวิกฤตการเมืองครั้งสำคัญอีกครั้งในรอบทศวรรษ นั่นคือ รอบสิบปีจาก 2557 ถึง 2567ประเด็นสำคัญ ก่อนที่ “250สว.” ชุดนี้จะหมดวาระลงในพ.ค.นี้ จะมีปรากฎการณ์ทางการเมืองอะไร ที่ต้องจับตาบ้าง
มั่นใจว่า จะไม่มีการเลือกนายกรัฐมนตรีเกิดขึ้นอีกในช่วงที่ สว. 250 ยังคงอยู่ แต่ปรากฎการณ์ที่น่าจับตาเกี่ยวกับ สว. ชุดนี้คือ การพิจารณาร่าง พ.ร.บ. กู้เงินฯ หากร่างผ่านสภาผู้แทนราษฎร เชื่อว่า เสียงเกินครึ่งของวุฒิสภาจะไม่เห็นด้วย หรือให้มีการแก้ไข แต่ตามรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2560 แม้ สว. ไม่เห็นด้วย แต่ตามรัฐธรรมนูญ ไม่มีผลที่จะยับยั้ง ร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้ ดังนั้น หาก สว. ไม่เห็นด้วย สิ่งที่จะทำให้ได้คือ รวบรวมรายชื่อ สว. ให้ได้ 1 ใน 10 ของจำนวนสมาชิกวุฒิสภา และส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาว่า ร่าง พรบ กู้เงินนี้ ขัดต่อรัฐธรรมนูญหรือไม่
ที่สำคัญ เราจะได้เห็นคุณทักษิณ เข้าไปรับโทษในเรือนจำหรือจะเป็นนักโทษรายแรกที่จะได้ใช้ระเบียบ “จำคุกนอกจำ” และจะมีแรงต้านจากสังคม มากพอที่จะทำให้รัฐบาล ถอยหรือไม่
ล่าสุด การที่นายกรัฐมนตรีให้คุณพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รองนายกฯและรมว.พลังงาน ไปดูแลกระทรวงยุติธรรม ถือว่าเป็นความพยายามที่ลดแรงต้านจากสังคม เพราะต้องไม่ลืมว่า คุณพีระพันธุ์ มาจากพรรครวมไทยสร้างชาติ และมีสัมพันธ์ที่แน่นแฟ้นกับพล.อ.ประยุทธ์ และพล.อ.อภิรัชต์ ขณะเดียวกัน คุณพีระพันธุ์ ก็เป็นพรรคประชาธิปัตย์เก่าที่ต่อต้านคุณทักษิณมาโดยตลอด ดังนั้น เมื่อคุณเศรษฐาให้คุณพีระพันธุ์ มาดูแลกระทรวงยุติธรรม คุณพีระพันธุ์ก็จะต้องเป็นคนกำกับดูแลความโปร่งใสและไม่เลือกปฏิบัติในกรณีของคุณทักษิณ ถ้าคุณพีระพันธุ์ ยืนยันว่าเป็นไปตามกฎระเบียบ เชื่อว่า จะลดกะแสต่อต้านได้อย่างไรก็ตาม คุณทักษิณ คือ “อุปสรรค”ในการขึ้นสู่เก้าอี้ “นายกฯ” ของน.ส.แพทองธาร ในวันข้างหน้า เพราะการขึ้นสู่นายกรัฐมนตรี ของคุณแพทองธาร มีสองกรณี กรณีแรกคือ เป็นนายกรัฐมนตรี ภายใต้สภาผู้แทนราษฎรชุดนี้ อีกกรณีคือ เป็นหลังการเลือกตั้งทั่วไปครั้งต่อไป
กรณีแรก หากคุณเศรษฐา เกิดลาออก เพราะต้องการแสดงสปิริตในกรณีที่ไม่สามารถแจกเงินดิจิทัลคนละหมื่นได้ตามที่หาเสียงและย้ำอยู่ตลอด โอกาสย่อมจะเป็นของหัวหน้าพรรคเพื่อไทย คือ คุณแพทองธาร สมมติว่าตัดคุณพิธาออกไป ในกรณีแบบนี้ คุณทักษิณจะเป็นอุปสรรคหรือไม่ ขึ้นอยู่กับว่า มีกระแสต่อต้านคุณทักษิณในกรณีรับโทษรุนแรงหรือไม่ ถ้ามาก คุณทักษิณก็เป็นอุปสรรคแน่นอน เพราะเชื่อว่า พรรคร่วมรัฐบาล หรือ พรรคก้าวไกลคงไม่มาจับมือกับพรรคเพื่อไทยตั้งรัฐบาลโดยมีคุณแพทองธารเป็นนายกรัฐมนตรี
กรณีที่สอง คือ หลังเลือกตั้งทั่วไปครั้งต่อไป ซึ่งจริงๆแล้ว แทนที่จะถามว่า “คุณทักษิณ คือ “อุปสรรค”ในการขึ้นสู่เก้าอี้ “นายกฯ” ของคุณแพทองธาร ในวันข้างหน้าหรือไม่” ควรจะถามว่า คุณทักษิณ เป็นอุปสรรคที่จะทำให้เพื่อไทยไม่ได้ สส. ในระดับอันดับหนึ่งหรือสอง หรือไม่ เพราะการที่คุณแพทองธารจะขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรีหลังเลือกตั้งคราวหน้า พรรคเพื่อไทยจะต้องเป็นพรรคที่มาเป็นอันดับหนึ่งหรือสองเท่านั้น ถ้ากรณีรับโทษกลายเป็นปัญหา คุณทักษิณย่อมเป็นอุปสรรคสำหรับพรรคเพื่อไทย
สุดท้าย การเมืองหลังการเลือกตั้ง แท้จริงแล้ว ไม่มี “การเมืองใหม่” หรือการเมืองสร้างสรรค์ ตามที่หลายคนคาดหวังเอาไว้
ถ้าดูจากรัฐบาลผสมขณะนี้ ก็ใช่ แต่ถ้าเกิดมีการจับขั้วเลือกนายกรัฐมนตรีใหม่หลัง สว. 250 คนชุดนี้หมดวาระ และพรรคก้าวไกล ได้มาเป็นรัฐบาลร่วมกับพรรคเพื่อไทย เชื่อว่าจะมีอะไรที่ใหม่บ้าง มิฉะนั้นแล้ว พรรคก้าวไกลเองก็จะได้ สส. น้อยลงในการเลือกตั้งคราวหน้า