‘ซูเปอร์โพล’ ชี้ ปี 2567 คนไทยหวังรัฐบาลเศรษฐา ลุยแก้หนี้ ฝันอยากได้รถคนใหม่

‘ซูเปอร์โพล’ เผยผลสำรวจ ระบุชัด ปี 2567 คนไทยหวังรัฐบาลเศรษฐา ลุยแก้หนี้ในระบบ ฝันอยากได้รถคนใหม่ ชี้ ปีใหม่ เป็นปีแห่งการเปลี่ยนผ่านของประเทศ สู่ความเป็นประเทศดิจิทัลและประชาชนคนไอที ที่นำระบบเทคโนโลยีสารสนเทศมาให้ในการแก้ไขปัญหาเดือดร้อนหนี้นอกระบบ

วันที่ 24 ธ.ค.66 สำนักวิจัยซูเปอร์โพล (SUPER POLL) เปิดเผยผลการศึกษา เรื่อง ความหวัง กับ ความกลัว ปีหน้า กรณีศึกษาตัวอย่างประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้งทุกสาขาอาชีพในเขตกรุงเทพมหานครอายุ 18 ปีขึ้นไป ดำเนินโครงการทั้งการวิจัยเชิงปริมาณ (Quantitative Research) และการวิจัยเชิงคุณภาพ (Qualitative Research) รวม 1,134 ตัวอย่างในการวิเคราะห์ทางสถิติ ดำเนินโครงการระหว่างวันที่ 15 – 23 ธ.ค.66 โดยมีค่าความคลาดเคลื่อนจากขนาดตัวอย่างบวกลบร้อยละ 5

ในช่วงความเชื่อมั่นร้อยละ 95 พบว่า การแก้ไขหนี้ในระบบ เป็นความหวังจะได้จาก นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ร้อยละ 51.7 รองลงมาคือ แก้ไขปัญหายาเสพติด ร้อยละ 51.3 แจกเงินหมื่นร้อยละ 50.6 แก้ไขปัญหาภัยไซเบอร์ คอลเซนเตอร์ ร้อยละ 50.2 แก้ไขหนี้นอกระบบ ร้อยละ 49.8 และ 1 ครอบครัว 1 ซอฟต์พาวเวอร์ ร้อยละ 42.2 ตามลำดับ

ที่น่าสนใจคือ เมื่อถามถึง ความฝันอยากได้ของประชาชนจาก นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี พบว่า ความฝันอยากได้รถยนต์คันใหม่ มาเป็นอันดับที่ 1 คือ ร้อยละ 45.3 รองลงมาคือ อยากได้สิทธิประกันสังคม สถานพยาบาลแห่งใหม่ ร้อยละ 43.8 อยากได้ขึ้นเงินเดือน ร้อยละ 43.3 อยากได้บ้านหลังใหม่ ร้อยละ 42.8 อยากมีงานทำ มีรายได้เสริม ร้อยละ 35.1 อยากได้การศึกษาใหม่ ร้อยละ 25.7 อยากเปลี่ยนงานใหม่ ร้อยละ 16.8 และอยากได้คนรักใหม่ ร้อยละ 8.0 ตามลำดับ ที่น่าพิจารณาคือ ประชาชนส่วนใหญ่หรือร้อยละ 74.3 มีความหวังที่จะก้าวต่อไปในปีหน้า ในขณะที่ร้อยละ 25.7 มีความกลัว

รายงานของสำนักวิจัยซูเปอร์โพล ระบุว่า รัฐบาลโดยนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี อาจจะรณรงค์ให้ปีใหม่ คือ ปี 2567 ที่จะมาถึงนี้ เป็นปีแห่งการเปลี่ยนผ่านของประเทศไทยและประชาชนคนไทยทั้งประเทศสู่ความเป็นประเทศดิจิทัลและประชาชนคนไอที ที่นำระบบเทคโนโลยีสารสนเทศมาให้ในการแก้ไขปัญหาเดือดร้อนหนี้นอกระบบ แก้ไขปัญหายาเสพติด แจกเงินหมื่น แก้ไขปัญหาภัยไซเบอร์ คอลเซนเตอร์ แก้ไขหนี้นอกระบบ และ 1 ครอบครัว 1 ซอฟต์พาวเวอร์ ด้วยกลไกเทคโนโลยีสารสนเทศ ผ่านทางแอปพลิเคชั่นต่าง ๆ (Applications) และโครงสร้างพื้นฐานด้านไอที (IT Infrastructure) และการวิเคราะห์ข้อมูลเชิงลึก (Data Analytics)