มสธ.วุ่น ! ไม่จบ “วรรณธรรม” ส่อถูกกลั่นแกล้งสอบวินัยร้ายแรง “ศุภชัย” ชี้ ! หากมีข้อบกพร่อง ควรชะลอไว้ก่อน และเร่งเสนอโปรดเกล้าฯแต่งตั้งอธิการบดี โดยเร็ว หวั่นเหตุยื้อ เกี่ยวกับเงื่อนงำการนำเงินมหาวิทยาลัย 5,400 ล้านบาท ไปลงทุนกับบริษัทภายนอกที่เกี่ยวข้อง
นายศุภชัย ใจสมุทร ที่ปรึกษารองนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 20 ธ.ค. 2566 รศ.ดร.วรรณธรรม กาญจนสุวรรณ ผู้ได้รับการเสนอชื่อให้เป็นอธิการบดี มสธ. ได้ร้องเรียนขอความเป็นธรรมกรณี ถูกกลั่นแกล้งตั้งกรรมการสอบวินัยร้ายแรงเพื่อให้ได้รับโทษทางวินัยและมีมลทินมัวหมอง อันอาจเป็นเหตุให้ไม่สามารถเสนอขอโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งอธิการบดีมหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช อันเป็นพฤติการณ์ที่ฝ่าฝืนธรรมาภิบาลอย่างร้ายแรงซึ่งสรุปได้ดังนี้ คือในกรณี รศ.ดร.วรรณธรรม กาญจนสุวรรณ ได้รับเลือกให้เป็นอธิการบดี มสธ. ต้น ปี 2560 แต่สภา มสธ. ไม่ยอมเสนอขอโปรดเกล้าฯ อ้างว่ามีการฟ้องร้องว่าการสรรหาไม่ชอบต่อมา ต้นปี 2566 เวลาผ่านไป 7 ปี ศาลปกครองสูงสุดพิพากษาว่า การสรรหาอธิการบดีชอบด้วยกฎหมายทุกประการรวมถึงคุณสมบัติของรศ.ดร.วรรณธรรม ชอบด้วยกฎหมาย แต่สภา มสธ. ก็ยังไม่ยอมเสนอโปรดเกล้าฯ ใช้วิธีประวิงเวลาไปเรื่อย ล่าสุดอ้างว่ามีคดีการถอดถอนอธิการรายเดิมยังไม่สิ้นสุด รอศาลปกครองพิพากษาให้ถึงที่สุดก่อน
จนกระทั่ง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษาฯ น.ส.ศุภมาส อิสรภักดี มารับตำแหน่ง จึงเรียกให้ 3 ฝ่ายมาคุย มีฝ่า ยรศ.ดร.วรรณธรรม ฝ่ายสภาและมสธ. แล้วก็ฝ่าย กระทรวง อว. ในที่สุดก็มีมติ ที่ประชุมร่วมกันทุกฝ่ายในวันที่ 22 พ.ย. 2566 ขอให้สภา มสธ. เสนอขอโปรดเกล้าฯ รศ.ดร.วรรณธรรม ได้ โดยไม่ต้องรอศาล เพราะมีแนวทางที่กระทำได้ตามกฎหมายไว้อยู่แล้ว
แต่พอวันต่อมา สภา มสธ. ไปประชุมกัน 27 พ.ย. 2566 ก็ยังมีมติว่าไม่ยอมเสนอโปรดเกล้าฯ อีก จนเมื่อวันที่ 8 ธ.ค. 2566 รัฐมนตรีใช้อำนาจตามมาตรา 17 (10) แห่ง พ.ร.บ.ระเบียบบริหารกระทรวงการอุดมศึกษาฯเสนอแนะให้สภา มสธ. เร่งเสนอโปรดเกล้าฯ รศ.ดร.วรรณธรรมขณะที่หนังสือรัฐมนตรี ได้เสนอแนะให้สภามสธ.ดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ เร่งเสนอโปรดเกล้าฯแต่งตั้งอธิการบดี รศ.ดร.วรรณธรรม ลงวันที่วันที่ 8 ธ.ค. 2566 ไปยังไม่ทันให้ สภามสธ.พิจารณา ฝ่ายบริหารชุดรักษาการปัจจุบันนี้ ชิงตั้งกรรมการสอบวินัยร้ายแรง รศ.ดร.วรรณธรรม ก่อน เพราะหากมีการสอบวินัยร้ายแรงอยู่จะทำการเสนอขอโปรดเกล้าฯ ไม่ได้
รศ.ดร.วรรณธรรม จึงได้ร้องเรียนขอความเป็นธรรมจากรัฐมนตรี เพื่อให้ใช้อำนาจวินิจฉัยสั่งการในประเด็นที่สอบสวนวินัยร้ายแรง รศ.ดร.วรรณธรรม มี 4 ประเด็น รศ.ดร.วรรณธรรม ได้โต้แย้งแสดงหลักฐานข้อต่อสู้ไว้ด้วยแล้วอย่างชัดเจน
ซึ่งเบื้องต้นพบว่า ความบกพร่องในกระบวนการที่สอบข้อเท็จจริง รศ.ดร.วรรณธรรม สองรอบ รอบแรก สอบแล้วไม่พบอะไร รอบที่สอง เอาพรรคพวกตัวเองมาสอบ ทั้ง ๆ ที่การเอาคนของคู่กรณีมาสอบ ตามกฎหมายเป็นสิ่งต้องห้าม เพราะจะทำให้สำนวนการสอบสวนเสียไปทั้งหมด อีกทั้งยังมีพฤติการณ์แทรกแซงการสอบสวน เช่น ผู้บริหารไปคุกคามพยาน เป็นต้น
นายศุภชัย ได้สอบถาม รศ.ดร.วรรณธรรม คิดว่ามีอะไร ที่เป็นสิ่งจูงใจที่ไม่ยอมกัน ซึ่งได้คำตอบว่า การกระทำอย่างนี้ อาจจะมีเงื่อนงำเกี่ยวกับการนำเงินมหาวิทยาลัย 5,400 ล้านบาท ตามข่าวสารต่างๆ ที่นำไปลงทุนกับบริษัทภายนอกที่ตัวเองเคยเป็นกรรมการหรือไม่อย่างไร หรือว่าเป็นเรื่องอื่น ซึ่งขณะนี้ส่งผลเสียหายร้ายแรงต่อมหาวิทยาลัยจนยากต่อการเยียวยา และเป็นการฝ่าฝืนธรรมาภิบาลร้ายแรง
โดยหลังจากนายศุภชัย ได้รับเรื่องร้องเรียน จึงนำความเห็นนำเรีย น.ส.ศุภมาส อิสรภักดี รมว.อว. ว่า ควรดำเนินการตามข้อร้องเรียนโดยรัฐมนตรีอาศัยอำนาจตาม ม.17(11 ) แห่งพ.ร.บ. ให้ชะลอการสอบสวนวินัยร้ายแรงไว้ก่อน แล้วให้มีการสอบสวนข้อเท็จจริงใหม่ โดยคณะกรรมการชุดใหม่ที่มีความเป็นกลาง นอกจากนี้ยังเห็นควรให้สภามหาวิทยาลัยเร่งรัดการเสนอโปรดเกล้าฯแต่งตั้งอธิการบดีโดยเร็ว