“เฉลิมชัย” ติวเข้ม! กก.บห.ชุดใหม่ เลิกเป็น “กบจำศีล” จี้ ต้องเร่งเปลี่ยนใน3-6เดือน

พรรค ปชป.ประชุม กก.บห.ชุดใหม่นัดแรก “เฉลิมชัย” หารือสมาชิก-แจกการบ้าน ลั่นพรรคมีเอกภาพ เลิกเป็นกบจำศีลแล้ว ต้องสร้างความเปลี่ยนแปลงใน 3-6 เดือน “เดชอิศม์” มั่นใจ สมาชิกพรรคตลอดชีพเพิ่มอีก 2 หมื่น ในเวลา 3 เดือน ยักไหล่ ลาออกไม่ถึง 100 เตรียมคุย “ก้าวไกล”หลังปีใหม่ วางแนวทางผนึกกำลัง จัดหนักอภิปรายไม่ไว้วางใจ

วันที่ 21 ธ.ค.2566 ที่พรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) นายเดชอิศม์ ขาวทอง เลขาธิการพรรคประชาธิปัตย์ ให้สัมภาษณ์ ก่อนเข้าร่วมประชุมคณะกรรมการบริหารพรรคนัดแรก ว่า วันนี้เป็นการระดมความคิดจากทุกตำแหน่ง ถึงแนวทางการปรับเปลี่ยนพรรคให้เป็นไปในทางที่ดีขึ้น จากนั้นอาจมีการแบ่งกลุ่มตามหน้าที่รับผิดชอบต่อไป โดยมั่นใจว่าพรรคจะมีการเปลี่ยนแปลงภายในเร็ววันอย่างแน่นอน

เลขาธิการ ปชป. กล่าวว่า ส่วนกำหนดระยะเวลา หรือแนวทางพิสูจน์ตัวเองคาดว่าจะใช้เวลาประมาณ 3 เดือน คงต้องทำให้เห็นความเปลี่ยนแปลง ซึ่งอาจจะไม่เปลี่ยนแบบ 360 องศา แต่อย่างน้อยสัก 90 องศา ก็น่าจะเริ่มมองเห็น โดยคาดว่าจะต้องมีสมาชิกพรรคเพิ่มขึ้น อาจจะเป็นหมื่น สองหมื่น ภายในเวลา 3 เดือน เป็นแบบตลอดชีพ

เมื่อถามว่ามีการตรวจสอบหรือไม่ว่าสมาชิกพรรคที่ลาออกมีจำนวนเท่าไร เลขาธิการพรรคฯ กล่าวว่า หลังจากซึ่งหลังจากเลือกตั้งกรรมการบริหารชุดใหม่ถือว่ามีการลาออกไปน้อยมาก มีเฉพาะคนที่ดังๆ ที่ออกมาในข่าว เมื่อถามย้ำว่ามีจำนวนถึงร้อยหรือไม่ เลขาธิการพรรคฯ กล่าวว่า ไม่ถึงร้อย ไม่ถึงแน่นอน แต่ภายใน 3 เดือน เข้าใจว่าน่าจะมีเกิน 2 หมื่น

เมื่อถามถึงการโปรดเกล้าฯ นายชัยธวัช ตุลาธน สส.บัญชีรายชื่อ หัวหน้าพรรคก้าวไกล เป็นผู้นำฝ่ายค้านในสภาฯ เมื่อวันที่ 20 ธ.ค. แต่พรรคประชาธิปัตย์ไม่ได้ไปร่วมแสดงความยินดี ตอนนี้ถือจุดยืนพรรคเป็นอย่างไร นายเดชอิศม์ กล่าวว่า วันนี้ประชาธิปัตย์เป็นฝ่ายค้านแน่นอน 100 เปอร์เซ็นต์ ส่วนในอนาคตตนจะไปพูดแทน สส. และ กก.บห. ของพรรคไม่ได้ จะเห็นได้ว่าในปี 62 ก็มีการพูดแทนทั้ง สส. และ กก.บห. สุดท้ายพอมีประชุมร่วม สส. และ กก.บห. กลายเป็นว่ามีมติร่วมรัฐบาล ฉะนั้นวันนี้จะเร็วเกินไปที่ตนจะพูดค้าน หรือเข้าร่วม เพราะต้องคำนึงถึงสองส่วนนี้

เมื่อถามถึงการทำงานร่วมกับพรรคก้าวไกลในบทบาทฝ่ายค้านที่จะอภิปรายไม่ไว้วางใจจะเป็นอย่างไร นายเดชอิศม์ กล่าวว่า ก็ต้องคุยกัน เพราะเราเพิ่งได้หัวหน้าพรรค ก่อนหน้านี้ไม่ได้มีการส่งคนไปพูดคุย แต่วันนี้หัวหน้าพรรคก้าวไกลก็ยกหูมาคุยกับตน ซึ่งตนก็จะได้นัดคุยกันในทุกบทบาทช่วงหลังปีใหม่ พร้อมกับมั่นใจว่าในการอภิปรายไม่ไว้วางใจครั้งนี้พรรคประชาธิปัตย์จะมีบทบาทสำคัญอย่างแน่นอน ตนได้ให้การบ้าน สส. ไปแล้ว โดยมีการแบ่งออกเป็นกลุ่ม

ต่อมา เวลา 16.00 น.นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ให้สัมภาษณ์ภายหลังการประชุมกรรมการบริหารพรรค (กก.บห.) นัดแรกว่า เป็นการรับฟังความคิดเห็น และความต้องการของทุกคนเพื่อขับเคลื่อนพรรคไปข้างหน้า ซึ่งตนต้องการแจ้งให้ กก.บห.ได้ทราบถึงแนวทางการขับเคลื่อนพรรคในช่วง 3-6 เดือนแรก คือ1.การประชุมใหญ่สามัญของพรรคที่จะมีขึ้นในเดือน เม.ย.ของทุกปีนั้นจะต้องสร้าง และทำให้ทุกคนได้เห็นภาพของการเปลี่ยนแปลงที่ชัดเจน จึงได้มอบหมายให้ น.ต.สุธรรม ระหงษ์ รองหัวหน้าพรรค ดูแลแก้ไขข้อบังคับพรรคในทุกประเด็น เพื่อให้มีความสมบูรณ์ที่สุด เพื่อเสนอในที่ประชุมใหญ่สามัญประจำปี สิ่งนี้ถือเป็นการเปลี่ยนแปลงอันดับแรก

2.พรรคจะมีการตั้งศูนย์ประชาสัมพันธ์ ข่าวสาร โซเชียลฯ เทคโนโลยี นวัตกรรม โดยมีการใช้พื้นที่ในพรรค รวมถึงเปิดช่องทางสื่อสารกับสื่อมวลชน และพื้นที่รองรับสื่อมวลชนด้วย ซึ่งจะได้ ศ.ดร.สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ (ดร.เอ้) มาเป็นผู้รับผิดชอบ

หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า ส่วนแนวทางการขับเคลื่อนพรรค ได้มอบหมายให้นายเดชอิศม์ ขาวทอง เลขาธิการพรรค เข้าไปดูแลรับผิดชอบสมาชิกพรรค ส่วนการขับเคลื่อนพรรคในแต่ละภูมิภาคให้รองหัวหน้าพรรคไปจัดทำยุทธศาสตร์ แผนการขับเคลื่อนในแต่ละภาคทั้ง 5 ภาค หลังจากปีใหม่สิ่งต่างๆ เหล่านี้จะต้องปรากฎภาพของความชัดเจนเป็นอันดับแรก สิ่งที่จะทำให้พรรคขับเคลื่อนได้ก็คือ ความมีเอกภาพของพรรค วันนี้ก็เป็นการแสดงให้เห็นชัดเจนว่า พรรคมีเอกภาพแล้ว และพร้อมขับเคลื่อนทันที ตนจะทำงานในหลักการของประชาธิปัตย์อย่างแท้จริง จะเอาหลักการกลับคืนมาให้ทุกคนดู

“ที่ผ่านมาการขับเคลื่อนประชาธิปัตย์ไม่ได้ เพราะเราไม่มีเอกภาพ หลังการเลือกตั้งทำให้ทุกคนมองว่าประชาธิปัตย์จะเป็นอย่างไร ไปทิศทางไหน ใครจะมาเป็นหัวในการนำพาประชาธิปัตย์ไป ก็นิ่งอยู่กับที่เหมือนกบจำศีล วันนี้ออกพรรษาแล้ว กบก็เลิกจำศีลแล้ว หลังจากนี้เป็นต้นไปคือการขับเคลื่อนพรรคประชาธิปัตย์อย่างแท้จริง พร้อมเปิดศุนย์รับเรื่องร้องเรียน” นายเฉลิมชัย กล่าว และว่า ดังนั้นก็ขอโอกาสให้พวกเราช่วยกันจับตาดู การขับเคลื่อนของพรรคประชาธิปัตย์จากนี้ จะเป็นการขับเคลื่อนโดยการมีส่วนร่วมของภาคประชาชนมากขึ้น