“ชาดา” หารือ สหวิชาชีพ ภาคีเครือข่าย แก้ปัญหายาเสพติด หนุนโครงการยั่งยืน

“ชาดา ไทยเศรษฐ” หารือ สหวิชาชีพ ภาคีเครือข่ายแก้ปัญหายาเสพติด หนุน โครงการชุมชนยั่งยืน ย้ำเดินหน้า เอกซเรย์พื้นที่ แยกน้ำแยกปลา ระหว่างผู้เสพและผู้ค้า ให้ครอบคลุมครบทุกตำบลทั่วประเทศ

วันที่ 12 ธ.ค.2566 เวลา 11:00 น. ตัวแทนจาก สำนักงานตำรวจแห่งชาติ กระทรวงสาธารณสุข มหาวิทยาลัยมหิดล และ ภาคีเครือข่ายการแก้ไขปัญหายาเสพติด นำโดย รศ.ดร.สุณีย์ กัลยะจิตร เดินทางมาเข้าพบ นายชาดา ไทยเศรษฐ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย นางสาวพัชรินทร์ ซำศิริพงษ์ ที่ปรึกษารัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย เพื่อหารือถึงแนวทางการขับเคลื่อนการดำเนินการ “โครงการชุมชนยั่งยืน”นายชาดา ระบุว่า การขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหายาเสพติด ต้องดำเนินการแบบบูรณาการ ระหว่างตำรวจ และฝ่ายปกครอง ร่วมกันอย่างใกล้ชิด ในระดับพื้นที่ และการดำเนินโครงการ ต้องเจาะลึก เอกซเรย์พื้นที่ให้มีประสิทธิภาพ แยกน้ำแยกปลา ระหว่างผู้เสพและผู้ค้า ให้ครอบคลุมครบทุกตำบลทั่วประเทศ สำหรับ “โครงการชุมชนยั่งยืน” ดำเนินการภายใต้กรอบแนวคิดการป้องกัน และปราบปรามปัญหายาเสพติด เป็นภารกิจตามแผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ มุ่งแก้ไขปัญหาตั้งแต่ต้นทาง-กลางทาง-ปลายทาง อย่างเป็นระบบ โดยเฉพาะการเสริมสร้างความเข้มแข็งของหมู่บ้าน/ชุมชน ตามแนวชายแดน เพื่อพัฒนาพื้นที่ และประชาชนตามแนวชายแดนพื้นที่พิเศษ ที่มีปัญหายาเสพติด สลายโครงสร้างปัญหา และการบูรณาการแก้ไขปัญหาที่เกี่ยวเนื่องกับการแก้ไขปัญหายาเสพติด รวมถึงการพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชนในพื้นที่ตามแนวพระราชดำริ หลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงตามยุทธศาสตร์แนวทางดำเนินงาน “เข้าใจ เข้าถึง พัฒนา” และ ศาสตร์พระราชา หวังลดปัญหาเชิงโครงสร้าง ด้วยการสร้างอาสาป้องกันการแพร่ระบาดของยาเสพติดในชุมชน การปรับระบบนิเวศน์ (สภาพแวดล้อม) ที่เหมาะสมโดยการเสริมสร้างปัจจัยที่เอื้อต่อการไม่เข้าไปยุ่งเกี่ยวกับยาเสพติด การดูแลผู้ใช้ ผู้เสพ ผู้ติดยาเสพติด ให้เข้าถึงการบำบัดรักษา และการลดผลกระทบจากยาเสพติด โดยการคัดกรอง ประเมินวินิจฉัย ที่มีประสิทธิภาพ กำหนดแผนการบำบัดรักษาที่เหมาะสม ฟื้นฟูสมรรถภาพที่คลอบคลุมทุกมิติ ตลอดจนการมีส่วนร่วมของชุมชน และภาคีเครือข่ายในการพัฒนาคุณภาพชีวิต ให้สามารถอยู่ร่วมกันในสังคมได้อย่างปกติสุขและเท่าเทียมทั้งนี้ทางกลุ่มได้พัฒนาแอปพลิเคชันเพื่อป้องกัน ปัญหาอาชญากรรม ชื่อ “Bebrave” โดยจะนำร่อง เป็น “อุทัยธานีโมเดล” เพื่อขับเคลื่อนการป้องกันอาชญากรรม และยาเสพติดในชุมชน ที่สามารถแปลงงานวิจัย สู่การปฏิบัติได้จริง ตั้งแต่ขั้นของ การป้องกัน รับมือแก้ไข และฟื้นฟู