คดีนี้เป็น 1 ในหลายคดี ที่มีการฟ้องร้องกันไปมาระหว่างคณะกรรมการอิสลามประจำกรุงเทพมทหานคร (กอจ.กรุงเทพฯ) และฝ่ายของนายพัฒนา (อิหม่ามเฟาซัน) หลังปูเต๊ะ อิหม่ามประจำมัสยิดต้นสน หลังถูกกอจ.กทม.ปบดจากตำแหน่งโดยไม่มีความผิด
กรณีนี้ นายอะหะหมัด ขามเทศทอง เป็นโจทก์ที่ 1 นายอรุณ บุญชม เป็นโจทก์ที่ 2 นายสมัย เจริญช่าง เป็นโจทก์ที่ 3 และพวกรวม 26 คน เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งกอจ.กรุงเทพฯ ชุดที่แล้ว ได้ยื่นฟ้องนายสมชาย อับดุลเลาะห์ ทนายความ และพวกรวม 3 คน สืบเนื่องจากเมื่อวันที่ 11 สิงหาคม 2551 นายสมชาย ได้ยื่นเรื่องต่อเลขาธิการคณะกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทย (กอท.)ให้ถอดถอนโจทก์ทั้ง 26 คนออกจากตำแหน่ง เนื่องจากกอจ.กรุงเทพฯ 26 คน ได้มีมติและรับรองมติให้จัดตั้ง มัสยิดอิบาดิรเราะห์มาน บนที่ดินวะกัฟของโรงเรียนสอนศาสนามะเซาะอะตุดดีน โดยขัดต่อคำวินิจฉัย (ฟัตวา)ของจุฬาราชมนตรี (นายสวาสดิ์ สุมาลยศักดิ์) โดยนายสมชาย ระบุว่า เป็นการกระทำที่ขัดต่อกฎหมาย ขัดต่อหลักการศาสนา ไม่เคารพผู้นำ เป็นผู้ที่ขาดความรู้ความเข้าใจในศาสนาเป็นอย่างดี และเป็นการฝ่าฝืนไม่ปฏิบัติตามหลักการอิสลามอย่างเคร่งครัดตามพ.ร.บ.บริหารองค์กรศาสนาอิสลาม 2540 จะต้องพ้นจากตำแหน่งหากปล่อยให้บริหารองค์กรโดยลุแก่อำนาจ ผิดแล้วไม่ยอมแก้ไข ไม่ยอมรับฟังคำท้วงติงจากผู้มีส่วนได้เสียโดยเฉพาะการไม่เคารพต่อผู้นำ มีแต่จะก่อให้เกิดความเสียหายต่อสังคมมุสลิม จึงขอให้คณะกรรมการกลางฯมีมติถอดถอนออกจากตำแหน่ง
นายสมชาย ทนายความ ยังได้แจ้งต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย แจ้งผลการขาดคุณสมบัติของกอจ.กรุงเทพฯทั้ง 26 คน โดยที่ทั้ง 26 คน ไม่ยอมสำนึกผิด ไม่เคารพในอำนาจหน้าที่ของจุฬาราชมนตรีที่ระบุไว้ในกฎหมาย ยังยืนยันในมติจัดตั้งมัสยิดอิบาดิรเราะห์มาน โดยอ้างว่า เป็นอำนาจของ กอจ.กรุงเทพฯ และระบุว่า คำวินิจฉัยของจุฬาราชมนตรี เป็นคำวินิจฉัยที่คลาดเคลื่อนไปจากข้อกฎหมาย และการลงมีการลงนามของผู้ทรงคุณวุฒิเพียงบางคนไม่มีอำนาจวินิจฉัยแทนจุฬาราชมนตรี เพราะการวินิจฉัยศาสนาเป็นเอกสิทธิ์เฉพาะจุฬาราชมนตรี กอจ.กรุงเทพฯ จึงได้ทำหนังสือคัดค้านคำวินิจฉัยดังกล่าว และคำวินิจฉัยดังกล่าวใช้เป็นบรรทัดฐานไม่ได้เลย
ฝ่ายกอจ.กทม. ให้การว่า โจทก์ทั้ง 26 คนมีอำนาจหน้าที่ในการบริหารมัสยิดในกรุงเทพฯ 175 แห่ง ได้ปฏิบัติหน้าที่ด้วยความซื่อสัตย์สุจริตมาโดยตลอด การกล่าวหาว่า โจทก์ขาดความรู้ความเข้าใจในหลักการศาสนาเป็นการกล่าวหาที่เป็นเท็จ เสียหายต่อชื่อเสียง และถูกดูหมิ่นเกลียดชัง จากคณะกรรมการกลางฯ รมว.มหาดไทยและผู้นับถือศาสนาอิสลามโดยทั่วไป ส่งผลให้เป็นที่รังเกียจหมด เสื่อมศรัทธา ขาดความน่าเชื่อถือ ขัดขวางและทำลายอนาคตของโจทก์ จึงขอเรียกค่าเสียหายคนละ 150,000 บาท ให้ตีพิมพ์คำพิพากษาในหนังสือพิมพ์ไทยรัฐ เดลินิวส์ กรุงเทพธุรกิจและกัมปง เป็นเวลา 7 วัน และในเวบไซด์ของคณะกรรมการกลางฯ
นายสมชาย จำเลยให้การว่าได้ยื่นร้องเรียนเป็นการใช้สิทธิ์โดยสุจริตตามกฎหมาย เพราะเห็นว่า การจัดตั้งมัสยิดจะต้องเป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดไว้ในกฎกระทรวง ระเบียบของ กอจ. คณะกรรมการมัสยิดและระเบียบคณะกรรมการกลางฯ และการดำเนินการใดๆจะต้องยึดหลักศาสนา การจัดตั้งมัสยิดเป็นเรื่องศาสนา จะต้องดำเนินการตามบทบัญญัติแห่งศาสนา เมื่อจุฬาราชมนตรี ซึ่งเป็นผู้มีอำนาจวินิจฉัยหลักการทางศาสนาแล้วว่า เป็นการดำเนินการที่ผิดจึงเท่ากับผิดบทบัญญัติของกฎหมายด้วย ซึ่งพ.ร.บ.บริหารองค์การศาสนาอิสลาม ได้กำหนดคุณสมบัติไว้ชัดเจน การยื่นเรื่องให้ถอดถอนเป็นการดำเนินการตามกฎหมาย โดยสุจริต
ศาลชั้นต้น มีคำพิพากษาให้ จำเลย คือนายสมชาย มีความผิดฐานละเมิดให้ชดใช้ค่าเสียหายให้โจทก์คนละ 150,000 บาท และให้ลงคำพิพากษาในหนังสือพิมพ์และเวบไซด์ตามที่ระบุไว้ ต่อมาจำเลยได้ยื่นอุทธรณ์ศาลอุทธรณ์ มีคำสั่งยกฟ้องให้โจทก์จ่ายค่าทนายความ 10,000 บาท
โจทก์ทั้ง 26 คนได้ยื่นฎีกา ซึ่งศาลฎีการับฎีกา โดยศาลฎีกาได้พิเคราะห์แล้วเห็นว่า ข้อเท็จจริงเบื้องต้น ฟังได้ว่า เดิมชาวมุสลิมได้ซื้อและวากัฟที่ดิน 2 งาน 83 ตารางวา แขวงและเขตสะพานสูง กทม.ให้เป็นสมบัติของโรงเรียนสอนศาสนามะเซาะฮะตุดดีน1เมื่อ 27 พฤษภาคม 2549 ต่อมา กอจ.กรุงเทพฯได้อนุมัติให้มีการจัดตั้งมัสยิดมีกอจ.กรุงเทพฯ 4 คนคัดค้าน ซึ่งที่ประชุม กอจ.กรุงเทพฯ มีมติไม่ทบทวน จึงได้ร้องเรียนไปยังจุฬาราชมนตรี ซึ่งคณะผู้ทรงคุณวุฒิจุฬาราชมนตรีได้มีคำวินิจฉัยไม่เห็นชอบให้จัดตั้งมัสยิด เนื่องจากผู้ขอจัดตั้งไม่ใช่เจ้าของหรือผู้ดูแลที่ดิน ซึ่งการจดทะเบียนมัสยิดมัสยิดมีผลให้มีการเปลี่ยนแปลงนิติบุคคลที่มีคณะกรรมการมัสยิดเข้ามาบริหารแทน และโรงเรียนก็จะตกเป็นสมบัติของมัสยิด
ความเห็นดังกล่าว เลขานุการคณะผู้ทรงคุณวุฒิลงนามในประกาศ และมีการทำหนังสือแจ้งให้กอจ.กทม.ทราบ เมื่อ 18 มิถุนายน 2551 แต่กอจ.กรุงเทพฯ ได้ทำหนังสือคัดค้านคำวินิจฉัยของผู้ทรงคุณวุฒิจุฬาราชมนตรี ระบุว่า ดำเนินการไม่ชอบด้วยกฎหมาย ต่อมาเลขาธิการสำนักจุฬาฯได้ทำหนังสือรับรองคำวินิจฉัยดังกล่าว
จำเลยคือ นายสมชายพวกได้ยื่นเรื่องต่อคณะกรรมการกลางฯให้พิจารณาถอดถอนโจทก์ทั้ง 26 คนออกจากตำแหน่งเนื่องจากคุณสมบัติตามกฎหมาย ต่อมาวันที่ 6 พฤศจิกายน 2551 จุฬาราชมนตรี ได้มีหนังสือรับรองคำฟัตวาของผู้ทรงคุณวุฒิ และจำเลยได้แจ้งการขาดคุณสมบัติต่อรมว.มหาดไทย
คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยว่าฎีกาของโจทก์ทั้ง 26 คน ต่อพฤติกรรมของจำเลยว่าเป็นการไขข่าวฝ่าฝืนความจริง เป็นที่เสียหายต่อชื่อเสียงเกียรติคุณหรือแก่ทางทำมาหาได้หรือทางเจริญของโจทก์ทั้ง 26 คนหรือไม่ โจทก์ระบุว่า การจำเลยร้องเรียนพฤติกรรมของโจทก์ต่อกอท.และรมว.มหาดไทย ศาลเห็นว่า เป็นการกล่าวไปตามเหตุการณ์ที่เกิดจริง และเมื่อผู้ทรงคุณวุฒิจุฬาฯ มีคำวินิจฉัยไม่เห็นชอบกับมติของโจทก์ให้จัดตั้งมัสยิด โจทก์ทั้ง 26 คนทำหนังสือคัดค้าน ต่อมาจุฬาราชมนตรีมีหนังสือรับรองคำวินิจฉัยผู้ทรงคุณวุฒิ พฤติกรรมของกอต.ทั้ง 26 คน จึงย่อมทำให้จำเลยทั้ง ซึ่งเป็นชาวไทยมุสลิมในกรุงเทพฯ ถือว่า มีส่วนได้เสียกับการกระทำของโจทก์
‘เชื่อและเห็นว่าการกระทำของโจทก์ทั้ง 26 คนเป็นการไม่เคารพต่อผู้นำแล้วยังลุแก่อำนาจ เป็นผู้ขาดความรู้ ความเข้าใจในศาสนาอิสลามเป็นอย่างดีและเป็นผู้ฝ่าฝืนไม่ปฏิบัติตามบทบัญญัติแห่งศาสนาโดยเคร่งครัด ตกเป็นผู้ขาดคุณสมบัติในการดำรงตำแหน่งกรรมการอิสลามประจำกรุงเทพมหานคร ต้องพ้นจากตำแหน่งตามกฎหมาย’
ศาลฎีกา เห็นว่า ซึ่งหากโจทก์ทั้ง 26 คนมีพฤติกรรมตามที่จำเลยเข้าใจและมีความเห็น ก็ถือว่า ขาดคุณสมบัติและต้องพ้นจากตำแหน่ง การกระทำของจำเลย จึงไม่เป็นการละเมิดฏีกาฟังไม่ขึ้น พิพากษายืนและให้ชำระค่าทนายชั้นฎีกา 6,000 บาท
ลงชื่อ ผู้พิพากษาศาลฎีกา 3 คน นายสมชาย พันธุมะโอภาส นายประทีป ดุลยพินิจธรรมา นายทรงศีลป์ ธรรมรักษ์
คำวินิจฉัยของศาลฎีกาถูกนำมาขยายผลอีกครั้ง หลังการคัดเลือกจุฬาราชมนตรี ที่เสียงส่วนใหญ่เลือกนายอรุณ ที่อยู่ในคณะกรรมการอิสลามประจำกรุงเทพฯ ชุดดังกล่าว ซึ่งโดยข้อเท็จจริงศาลฎีกา ไม่ได้ชี้ขาดคุณสมบัติของ กอจ.กทม.26 คน และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องก็ไม่ได้ชี้ขาดประเด็นคุณสมบัติแต่อย่าง
ตามกระแสที่มีการระบุว่า มีการยื่นถวายฎีกาคุณสมบัติของจุฬาราชมนตรี Mtoday ได้ตรวจสอบไปยังบุคคลที่เกี่ยวข้องเป็นคู่คดีกับกอ.กทม. ไม่พบมีการถวายฎีกาแต่อย่างใด ส่วนมีบุคคลอื่นยื่นหรือไม่ไม่สามารถตรวจสอบได้