“ปกรณ์ นิลประพันธ์” เลขาฯกฤษฎีกาโอด โดนด่าทำงานช้า ปมพ.ร.บ.กู้เงินทั้งที่เรื่องยังมาไม่ถึง ชี้ มติคณะกก.ดิจิทัลชุดใหญ่ ยังไม่ได้มอบหมายอะไรมาให้ เป็นเรื่อง ครม.ต้องตัดสินใจ ขณะที่ “เศรษฐา” ยันดิจิทัลวอลเล็ตสำคัญเร่งด่วน
วันที่ 21 พ.ย.2566 นายปกรณ์ นิลประพันธ์ เลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา กล่าวถึงกรณีที่ คณะกรรมการดิจิทัลวอลเล็ตชุดใหญ่ ที่มีนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และ รมว.คลัง เป็นประธาน ระบุว่าได้มอบให้ คณะกรรมการกฤษฎีกา พิจารณารายละเอียดขั้นตอนกฎหมายเพื่อนำมาใช้ในโครงการดิจิทัลวอลเล็ต แจกเงิน 10,000 บาทว่า มติมีเพียงแค่นั้น ยังไม่ได้ไปถึงขั้นตอนการยกร่างกฎหมาย ขอย้ำว่าเป็นการ ให้ถามคำถามเท่านั้น เมื่อส่งคำถามมาแล้วจะเข้าสู่กระบวนการพิจารณาของคณะกรรมการกฤษฎีกาตามปกติ โดยไม่มีการตั้งคณะกรรมการชุดพิเศษแต่อย่างใด ทุกอย่างเป็นไปอย่างตรงไปตรงมา ถ้าเข้าเงื่อนไขก็สามารถทำได้ ถ้าไม่เข้าเงื่อนไขก็ทำไม่ได้ คำตอบมีเพียงเท่านั้น หากสามารถทำได้ ก็จะเป็นการยกร่างกฎหมายอีกขั้นตอนหนึ่ง
“เมื่อเช้าผมทวงถามจากรัฐมนตรีเรื่องนี้ เพราะผมถูกด่าว่าทำงานช้า ทั้งที่เรื่องยังไม่ส่งมาถึงผม ทางสภาพัฒน์ก็รอ เพราะนึกว่าเรื่องได้ส่งมาที่ผมแล้ว ทุกคนคิดแบบนี้ แต่ปรากฏว่านักข่าวรู้มากกว่าผมอีก” นายปกรณ์กล่าว
ผู้สื่อข่าวถามว่า สภาพัฒน์บอกว่าถ้า คณะกรรมการกฤษฎีกาให้ความเห็นมาว่า ถ้า ครม.ไปต่อทางนี้ไม่ได้ อาจมีทางอื่นหรือไม่ นายปกรณ์กล่าวว่า ไม่รู้ เป็นเรื่องของรัฐบาลที่ต้องคิด ไม่ใช่เรื่องของตน คณะกรรมการกฤษฎีกาให้คำแนะนำไม่ได้เพราะไม่ใช่นักการเมือง แต่เป็นนักกฎหมาย กฎหมายที่จะนำมาประกอบการพิจารณามีทั้งรัฐธรรมนูญ เรื่องการจ่ายเงินแผ่นดิน และยังมีกฎหมายหลายฉบับประกอบ เช่น กฎหมายงบประมาณ กฎหมายการเงินการคลัง กฎหมายหนี้สาธารณะ พ.ร.บ.เงินตรา จึงไม่สามารถตอบแทนได้ว่าวิกฤตหรือไม่วิกฤต
เมื่อถามว่ารัฐบาลฝากความหวังไว้ที่คณะกรรมการกฤษฎีกา ถ้าวิธีออก พ.ร.บ.กู้เงิน ไม่ได้ จะใช้ช่องทางใดได้บ้าง นายปกรณ์กล่าวว่า การจะเข้าเงื่อนไขหรือไม่ ต้องดูสถานการณ์ทางเศรษฐกิจ ไม่รู้ ไม่สามารถตอบแทนได้
เมื่อถามย้ำว่าเลขาธิการนายกรัฐมนตรี อยากจะขอคำแนะนำจากคณะกรรมการกฤษฎีกา ว่าจะทำอย่างไรถึงจะเดินหน้าโครงการได้ นายปกรณ์กล่าวว่า คำถามที่ว่า ทำอย่างไรให้ทำได้ ไม่ควรมาถามเพราะไม่ใช่คนกำหนดนโยบาย ไม่ใช่หน้าที่ ขอย้ำว่าเรื่องวิกฤตหรือไม่วิกฤต ไม่ใช่หน้าที่ของคณะกรรมการกฤษฎีกา แต่เป็นหน้าที่ของ ครม.ที่จะหาข้อมูลมาสนับสนุน ที่โต้เถียงกันก็ไม่รู้
เมื่อถามกรณีที่ นายศรีสุวรรณ จรรยา ผู้นำองค์กรรักชาติรักแผ่นดิน ร้องคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติว่า รัฐบาลกระทำการขัดรัฐธรรมนูญ นายปกรณ์กล่าวว่า เรื่องยังไม่มีอะไรเกิดขึ้น เป็นการไปร้องล่วงหน้าก่อนหรือไม่ก็ไม่ทราบ เพราะคณะกรรมการยังไม่มีมติ นายกฯยันไม่มีใครโทษกฤษฎีกา
ขณะที่ นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ให้สัมภาษณ์กรณีเลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา ระบุว่ายังไม่ได้รับหนังสือสอบถามความเห็นเรื่องการออกพระราชบัญญัติกู้เงิน 5 แสนล้านบาท เพื่อนำมาใช้ในโครงการดิจิทัลวอลเล็ตแจกเงิน 1 หมื่นบาทจากรัฐบาล ว่า ยังไม่ทราบ ยังไม่คุยเรื่องนี้ ปล่อยให้เขาทำงานกันไป เมื่อถามว่า นายกฯจะต้องไปจี้และไปติดตามหรือไม่ นายเศรษฐากล่าวว่า ก็จี้ติดตามทุกเรื่อง
ผู้สื่อข่าวถามว่า นายปกรณ์ นิลประพันธ์ เลขาฯกฤษฎีกา ระบุว่าขณะนี้เหมือนถูกด่าฟรี นายกรัฐมนตรีกล่าวว่า “ผมไม่เห็นมีใครไปโทษ จะใช้คำว่าด่าได้อย่างไร เลขาฯกฤษฎีกาและทุกคนก็ทำงานกัน”
ต่อมานายเศรษฐากล่าวถึงนโยบายดิจิทัลวอลเล็ต ที่พรรคเพื่อไทยว่า มีผู้สื่อข่าวอยู่เยอะ ก็ไม่อยากพูดถึงนโยบายนี้ แต่ถึงอย่างไรก็ต้องพูด เพราะเรื่องนี้เป็นเรื่องจำเป็น เชื่อว่า ส.ส.ของพรรค พท.ในฐานะที่เป็นตัวแทนของพี่น้องประชาชน เข้าใจถึงความจำเป็นเร่งด่วนที่ จะต้องกระตุ้นเศรษฐกิจมากๆ อย่างรวดเร็วให้เกิดขึ้นได้ ตรงนี้ก็ต้องขอฝากไว้ด้วย ทั้งนี้ เลขาฯสภาพัฒน์บอกกับตนเองโดยตรงว่า นึกว่าจะเห็นจีดีพีขึ้นเลข 2 แต่ปรากฏว่าเป็น 1.5 ซึ่งถือว่าต่ำมาก ต่ำจริงๆ เป็นตัวเลขที่ฟังดูแล้วน่าตกใจ ดังนั้นขอย้ำอีกครั้งว่านโนบายดิจิทัลวอลเล็ตเป็นเรื่องจำเป็น สำคัญและเร่งด่วนสำหรับประเทศนี้