สารจาก “ดร.วิสุทธิ์ บิลล่าเต๊ะ” ทำไมถึงตัดสินใจลงสมัครเป็นจุฬาราชมนตรี

กระทรวงมหาดไทย โดยนายอนุทิน ชาญวีรกูล รมว.มหาดไทย ประกาศให้ วันที่ 22 พฤศจิกายน 2566 เป็นวันเลือกตั้งบุคคลที่นับถือศาสนาอิสลาม ที่มีความรู้ความสามารถ ดำรงตำแหน่งจุฬาราชมนตรี แทน นายอาศิส พิทักษ์คุมพล ที่เสียชีวิต โดยมีบุคคลที่มีความรู้ความสามารถหลายคนเสนอตัวแข่งขัน ซึ่ง1ในจำนวนนั้นมีชื่อของ “ดร.วิสุทธิ์ บิลล่าเต๊ะ” อยู่ด้วย ซึ่ง “ดร.วิสุทธิ์” ได้ส่งสารเสนอตัวมีรายละเอียดดังนี้

สารจาก…ดร.วิสุทธิ์ บิลล่าเต๊ะ “ทำไมข้าพเจ้าจึงตัดสินใจลงสมัครรับการคัดสรรเป็นจุฬาราชมนตรี”

1. เพราะคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดสงขลา ได้มีมติเป็นเอกฉันท์ในคราวประชุมสมัยวิสามัญ เมื่อวันที่ 1 พฤศจิกายน 2566 เห็นชอบให้ส่งข้าพเจ้าเป็นผู้สมัครรับการคัดสรรเป็นจุฬาราชมนตรี มติดังกล่าวมิได้ขัดแย้งกับการที่คณะกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทย แสดงท่าทีสนับสนุน อ.อรุณ บุญชม เป็นแคนดิเดตจุฬาราชมนตรีแต่อย่างใด เนื่องจากการสนับสนุนดังกล่าวไม่ถือเป็นมติของคณะกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทย ด้วยเหตุที่คณะกรรมการกลางฯ มิใช่องค์กรที่มีอำนาจ เสนอชื่อผู้ที่จะดำรงตำแหน่งจุฬาราชมนตรี แต่อำนาจดังกล่าวเป็นของคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดเท่านั้น

2. เพราะมุสลิมส่วนใหญ่ในประเทศไทยอาศัยอยู่ในภาคใต้ และส่วนใหญ่นี้ ก็อยู่ในจังหวัดปัตตานี นราธิวาส สงขลา ยะลา และ สตูล โดยหากดูจำนวนมัสยิดซึ่งมีมากกว่า 4,000 แห่ง ในประเทศไทย เฉพาะใน 5 จังหวัดที่กล่าวมา ก็มีมากกว่า 2,500 แห่งแล้ว พื้นที่5จังหวัดชายแดนภาคใต้นั้น มีประวัติศาสตร์และอัตลักษณ์ของตนเอง และความไม่เข้าใจต่อบริบทแห่งวัฒนธรรมของพื้นที่ ก่อเกิดปัญหาที่ละเอียดซับซ้อน นำมาซึ่งความรุนแรงจนกระทบต่อความมั่นคงของประเทศมายาวนาน

ข้าพเจ้าเป็นคนสงขลาโดยกำเนิด และเริ่มต้นชีวิตการศึกษาอิสลามในระบบที่ ปอเนาะสะกำ อ.มายอ จ.ปัตตานี และ โรงเรียนมาอาฮัดดารุลมาอาเรฟ ในอุปถัมภ์ของสำนักงานคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดปัตตานีกว่า 10 ปี จึงสัมผัสสัมพันธ์กับปัญหามายาวนาน และมีความตั้งใจว่าหากมีโอกาสจะร่วมมือกับทุกฝ่ายเพื่อแก้ปัญหาอย่างจริงจังเท่าที่สามารถ

3. เพราะข้าพเจ้าตระหนักว่าสังคมมนุษย์ยุคปัจจุบัน ไม่ว่าเราจะอยู่ที่ใด กำลังเผชิญวิกฤติใหญ่แห่งยุคปลายสมัยของโลก (อาคิรซามาน) อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ทั้งวิกฤติจากความเสื่อมทรามทางศีลธรรม ซึ่งนำสู่สงครามและการฆ่าฟันอย่างรุนแรง วิกฤติทางสิ่งแวดล้อมซึ่งนำสู่ภัยพิบัติอย่างต่อเนื่อง วิกฤติทางเศรษฐกิจที่นำความยากจนและความเหลื่อมล้ำมาสู่ผู้คนในสังคมมากขึ้น จำเป็นที่สังคมมุสลิมและสังคมไทยโดยรวมจักต้องเตรียมการเพื่อเผชิญวิกฤติใหญ่นี้อย่างจริงจัง โดยการวางโครงสร้างจำเป็นต่างๆ แก่สังคมให้เกิดความแข็งแกร่งมั่นคง ทั้งโครงสร้างการศึกษา สังคม วัฒนธรรม และโครงสร้างทางเศรษฐกิจ

การวางโครงสร้างแก่สังคมตามที่ว่านี้ ต้องอาศัยเครื่องมือที่จำเป็นอย่างยิ่ง คือ ตำแหน่งผู้นำในสังคม เพราะการทำโดยปัจเจกมักขาดการบูรณาการที่ดี ข้าพเจ้าเห็นว่าตำแหน่งจุฬาราชมนตรี เป็นเครื่องมือหนึ่งในการเตรียมพร้อมสังคมเพื่อเผชิญวิกฤติแห่งอาคิรซามาน มิใช่ตำแหน่งที่แสวงหาเพื่อความมีหน้ามีตาของตนเอง อนึ่ง การวางโครงสร้างที่จำเป็นแก่สังคมดังว่านี้ มิใช่สิ่งใหม่สำหรับข้าพเจ้า เพราะตลอดเวลาที่ข้าพเจ้าดำรงตำแหน่งเป็นอิหม่ามมัสยิดบ้านเหนือกว่า 20 ปีที่ผ่านมา ก็ได้ดำเนินการวางโครงสร้างทั้งหลายแก่ชุมชน จนบัดนี้ ชุมชนมัสยิดบ้านเหนือมีโครงสร้างพร้อมทั้งด้านการศึกษา คือโรงเรียนกัลยาณชนรังสรรค์มูลนิธิ มัสยิดบ้านเหนือ , โครงสร้างทางเศรษฐกิจ เช่น กลุ่มออมทรัพย์และกองทุนต่างๆ และโครงสร้างทางสังคมที่มีมัสยิดเป็นศูนย์กลาง

4. การให้สังคมพิจารณาผู้ที่จะมาเป็นผู้นำของตนเองโดยมีตัวเลือกหลายคน มิได้เป็นสิ่งเลวร้าย แต่เป็นสิ่งที่บรรพชนมุสลิมในยุคสะลัฟซอและห์ (ยุคต้นอิสลาม) เคยปฏิบัติมาก่อน กล่าวคือ เมื่อคอลีฟะฮฺผู้ทรงธรรม อุมัร บินอัลค็อฏฏอบ สำเหนียกว่า ตนเองกำลังจะจบชีวิตลง ท่านได้เสนอบุคคลให้สังคมมุสลิมในยุคนั้นได้พิจารณาเลือกเป็นผู้นำถึง 6 คน จนในที่สุดสังคมก็ได้เลือกท่านอุศมาน อิบนุอัฟฟาน เป็นคอลีฟะฮฺสืบต่อไป

ข้าพเจ้าเห็นว่า ผู้ถูกเสนอชื่อเพื่อคัดสรรเป็นจุฬาราชมนตรีทุกคน เป็นคนดี และทุกคนไม่มีเหตุให้ต้องบาดหมางต่อกันและกัน เมื่อคนหนึ่งคนใดได้รับคัดเลือกเป็นจุฬาราชมนตรี ที่เหลือซึ่งไม่ได้รับเลือกก็สามารถทำงานเป็นผู้ช่วยกันได้ ดังที่อดีตจุฬาราชมนตรี อัลมัรฮูมอาศิส พิทักษ์คุมพลปฏิบัติให้เห็นเป็นแบบอย่างมาแล้ว

5. เพราะข้าพเจ้าเห็นว่า ตำแหน่งจุฬาราชมนตรีควรเป็นตำแหน่งที่ทำงานเพื่อศาสนาอย่างแท้จริง มิควรตกเป็นเครื่องมือทางการเมือง หรือเพื่อแสวงหาผลประโยชน์ทางโลกของบุคคลใด หรือคนกลุ่มใด จนสูญเสียจุดยืนที่ต้องเป็นแบบอย่างแก่คนทั่วไป

วิสุทธิ์ บิลล่าเต๊ะ
3 พ.ย. 66