“ชาดา” สั่ง “แยกน้ำแยกปลา” นำประชุมคณะอนุฯ ขับเคลื่อนปราบผู้มีอิทธิพลฯ ส่วนใหญ่ เอี่ยวยาเสพติด กำชับ ! มท. ต้อง ระวังผู้เสพ-ผู้ค้า โดยเฉพาะเยาวชน ย้ำ! จะแก้ผู้มีอิทธิพลได้ รัฐต้องเข็มแข็ง
วันที่ 15 พ.ย.2566 เวลา 9.00 น. ที่ ห้องประชุมสำนักนโยบายและแผน ชั้น 7 อาคารดำรงราชานุสรณ์ กระทรวงมหาดไทย นายชาดา ไทยเศรษฐ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย เป็นประธานการประชุมคณะอนุกรรมการขับเคลื่อนการดำเนินการป้องกันและปราบปรามผู้มีอิทธิพล ครั้งที่ 1/2566 ณ กระทรวงมหาดไทย
โดยฝ่ายเลขาฯ ได้รายงานบัญชีรายชื่อผู้มีอิทธิพล ที่พิจารณากลั่นกรองจากคณะกรรมการระดับจังหวัด จำนวน 66 จังหวัด ซึ่งมีจังหวัดที่ได้รับการประเมินเป็นพื้นที่สีเขียว 10 จังหวัด ไม่พบรายชื่อผู้มีอิทธิพล สำหรับบุคคลต้องสงสัยว่ามีพฤติการณ์เป็นผู้มีอิทธิพล สีแดง และ สีเหลือง ได้แบ่งตามพฤติการณ์การกระทำผิด โดยผู้มีอิทธิพลส่วนมาก มีความเกี่ยวข้องกับยาเสพติด รองลงมาคือ นายทุนปล่อยกู้นอกระบบ บุกรุกที่ดินสาธารณะ/ทำลายทรัพยากรธรรมชาติ และเปิดบ่อนการพนันออนไลน์ รวมถึงยังได้รับรายงานรายชื่อบุคคลต้องสงสัย ว่ามีพฤติการณ์ เป็นผู้มีอิทธิพล จากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องด้วยเช่นกัน
สำหรับการเปิดปฏิบัติการ (Kick off) มหาดไทย ได้ให้จังหวัด และอำเภอ จัดตั้งชุดปฏิบัติการพิเศษ เพื่อเริ่มดำเนินการในส่วนนี้แล้ว พร้อมมาตรการจัดระเบียบสังคม และการป้องกันและปราบปรามผู้มีอิทธิพล รวมถึงการกำกับดูแลควบคุมการใช้อาวุธปืน เพื่อความปลอดภัยของประชาชน การควบคุมและดูแลสถานบริการ หรือสถานบริการที่เปิดให้บริการลักษณะเดียวกับสถานบริการ การแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบ และมาตรการสกัดกั้น และปราบปรามยาเสพติด
คำว่า “ผู้มีอิทธิพล” ในที่นี้ได้ถูกให้คำนิยาม หมายถึง บุคคลหรือกลุ่มบุคคลที่กระทำการ หรือสั่งการอันละเมิดต่อกฎหมาย โดยใช้อำนาจทางการเงิน ตำแหน่งหน้าที่การงาน สถานะทางสังคม หรือปัจจัยอื่นใดไปคุกคาม กดขี่ ข่มเหง หรือรังแกประชาชน ให้ได้รับความเดือดร้อน ไม่ว่าจะเป็นทางร่างกาย จิตใจ เสรีภาพ ชื่อเสียง หรือทรัพย์สิน” ดังนั้นผู้มีอิทธิพล จะไม่สามารถเกิดขึ้นได้ ถ้าอำนาจรัฐเข้มแข็ง ภาครัฐจึงต้องบูรณาการอย่างเข้มแข็ง ทีมอำเภอ ทีมจังหวัดต้องเข้มแข็ง เพื่อบำบัดทุกข์ บำรุงสุข ให้กับพี่น้องประชาชน “ผู้มีอิทธิพล เกิดจากช่องโหว่ของรัฐ ช่องว่างของอำนาจรัฐ การที่ภาครัฐไม่สามารถแก้ไขปัญหาให้ประชาชนได้ ทำให้ประชาชนต้องหาหนทางเอง ถ้าไปเจออิทธิพลดี ก็ช่วยประชาชน แต่ถ้าอิทธิพลที่ไม่ดี แสวงหาผลประโยชน์ ก็ทำให้เกิดอาชญากรรมต่าง ๆ ทั้งเรื่องยาเสพติด การทำลายทรัพยากรธรรมชาติ ดังนั้น หากรัฐที่สามารถดูแลพี่น้องประชาชนได้ดี เป็นที่พึ่งของประชาชนได้ ก็จะไม่เกิดผู้มีอิทธิพล สิ่งนี้เป็นต้นตอของปัญหาจากการที่รัฐใช้อำนาจไม่เป็นธรรม” นายชาดา กล่าว
นายชาดา ย้ำว่า การป้องกันปราบปรามผู้มีอิทธิพลนี้ จำเป็นจะต้องอาศัยความร่วมมือกันของทุกส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง และกลไกในระดับพื้นที่ โดยในขั้นต้นจะได้แจ้งให้ทุกจังหวัดดำเนินการตรวจสอบกลั่นกรอง ทบทวนปรับปรุงแก้ไขข้อมูลบัญชีรายชื่อบุคคลต้องสงสัยว่ามีพฤติการณ์เป็นผู้มีอิทธิพล รวมถึงข้าราชการ นักการเมือง และเจ้าหน้าที่ของรัฐทุกประเภทร่วมกับส่วนราชการจังหวัดที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้มีฐานข้อมูลถูกต้อง ครบถ้วน เป็นธรรม และเป็นปัจจุบัน รวมทั้งได้กำหนดกรอบระยะเวลาการดำเนินงาน เพื่อที่จะทำให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ โดยเฉพาะปัญหายาเสพติด ต้อง “แยกปลาแยกน้ำ” สอบสวนให้ชัดระหว่างผู้เสพ และผู้ค้า โดยควรจัดตั้งศูนย์อบรมภาค โดยทีมสหวิชาชีพ ทั้งนักจิตวิทยา นักสังคมสงเคราะห์ นักบำบัด การส่งเสริมและฝึกอาชีพ ฝึกร่างกาย วินัย และธรรมะ เราต้องแก้ไขปัญหานี้อย่างจริงจัง โดยเฉพาะเด็กเยาวชนในคดียาเสพติด