“อนุทิน ชาญวีรกูล” เป็นนักการเมืองไทยคนแรก ที่ได้รับรางวัล ปริญญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สบช. สาขาสาธารณสุขศาสตร์ โดยสร้างผลงานยอดเยี่ยมในสมัย รมว.สาธารณสุข และโดดเด่นจาก “ภารกิจหัวใจติดปีก”
วันที่ 12 พ.ย. 2566 ศ.พิเศษ นพ.วิชัย เทียนถาวร อธิการบดีสถาบันพระบรมราชชนก (สบช.) ให้สัมภาษณ์ว่า เมื่อวันที่ 10 พฤศจิกายนที่ผ่านมา สบช.ได้ประกาศมอบปริญญาสาธารณสุขศาสตรดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ ประจำปี 2566 ให้แก่ นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย (มท.) ทั้งนี้ ปริญญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ โดยปกติแล้วเป็นปริญญาที่ให้กับผู้นำ หรือผู้บริหารสูงสุดในประเทศ พร้อมกับเป็นผู้ที่ทำคุณประโยชน์ให้กับบ้านเมือง ประเทศชาติ และสถาบันพระมหากษัตริย์
“ในส่วนของ นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการ มท. นั้น ขณะที่ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ได้ลงนามบันทึกความร่วมมือ (เอ็มโอยู) กับกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) โดยขณะนั้น น.ส.ตรีนุช เทียนทอง เป็นรัฐมนตรีว่าการ ศธ. ทำโครงการ สบช. สัญจร เดินทางไปแนะแนวนักเรียนทั่วประเทศกว่า 2,360 แห่ง สร้างความเสมอภาคให้กับนักเรียนทุกคนในการเข้าศึกษาในสถาบันฯ ในสาขาพยาบาลศาสตร์ ซึ่งเป็นครั้งแรกที่ทุกโรงเรียนในระดับอำเภอได้เข้าเรียนในสถาบันฯ ขณะนี้ เรากระจายนักศึกษาสาขาพยาบาล 1 คน กับสาขานักการสาธารณสุข 2 คน เพื่อให้เกิดการกระจายบุคลากรไปทั่วประเทศ พร้อมทั้งให้โอกาสเด็กในถิ่นทุรกันดารในชนบทได้ศึกษาและทั้ง 2 หลักสูตรนี้ ซึ่งเป็นดำริของนายอนุทินในขณะที่ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการ สธ.” ศ.พิเศษ นพ.วิชัยกล่าว
ศ.พิเศษ นพ.วิชัยกล่าวว่า ในเรื่องถัดมา นายอนุทินได้ส่งเสริมให้อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) เข้าเรียนในหลักสูตรผู้ช่วยพยาบาล ขณะนี้เรียนจบไปกว่า 2,000 คน แล้ว เพื่อให้โครงการ 3 หมอสำเร็จลุล่วงอย่างสมบูรณ์ นอกจากนั้น นายอนุทินยังมีดำริว่า กรณี อสม.ที่จบในหลักสูตรผู้ช่วยพยาบาล และมีผลการเรียนดี มีความมุ่งมั่นตั้งใจดี ก็ควรได้รับทุนเรียนต่อในระดับชั้นปริญญาตรี เช่น สาขาพยาบาลศาสตร์ หรือสาขานักการสาธารณสุขศาสตร์
“ตอนนั้นท่านพูดแกล้งผมว่า ได้ไหม ได้ไหม ให้เรียนต่อเลยได้ไหม อาจารย์หมอก็เห็นว่า ควรจะทำเช่นนั้น เพราะยังไม่มีใครทำ จึงรับปาก นำมาสู่การปฏิบัติ ซึ่งนโยบายนี้ก็เกิดผลสัมฤทธิ์เป็นที่ประจักษ์” ศ.พิเศษ นพ.วิชัยกล่าว
ต่อข้อถามว่า ขณะนี้ นายอนุทินไปเป็นรัฐมนตรีว่าการ มท.แล้ว เหตุใดเพิ่งมีการประกาศให้เข้ารับปริญญาสาธารณสุขศาสตรดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ของ สบช. ศ.พิเศษ นพ.วิชัย กล่าวว่า ปริญญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ ซึ่งครั้งแรกเมื่อปี 2565 ได้ทูลเกล้าฯ ถวายแด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และ สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี, สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี อีกทั้งยังได้ถวายแด่สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก รวมถึงมอบให้ พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ ประธานองคมนตรี ซึ่งจะมีการมอบในวันที่ 24 พฤศจิกายน 2556
“ส่วนของนายอนุทินเป็นนักการเมืองคนแรกได้เข้ารับปริญญาสาธารณสุขศาสตรดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์จาก สบช. คาดว่า จะมีกำหนดการเข้าไปรับในช่วงเดือนเมษายน 2567” ศ.พิเศษ นพ.วิชัยกล่าว และว่า ผลงานของนายอนุทินเป็นที่ประจักษ์ แม้กระทั่งเรื่องสถานที่ตั้งสถาบันฯ ที่หางบประมาณไม่ได้ แต่นายอนุทินก็หามาให้ได้อยู่ภายในกระทรวงสาธารณสุข บริเวณหลังโรงพยาบาล (รพ.) ศรีธัญญา
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับผลงานของนายอนุทินที่ได้รับปริญญาบัตรสาธารณสุขศาสตร์ดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ ของ สบช. โดยภารกิจที่เกี่ยวข้องกับสาขาวิชา/ปริญญา คือ
1.นโยบายเกี่ยวข้องกับงานด้านสาธารณสุข ที่ทำให้ระบบปฐมภูมิมีความเข้มแข็ง ให้คนไทยทุกคนมีหมอ 3 คน คอยดูแลประจำ คือ อสม. หมออนามัย และหมอครอบครัว เพราะมีการส่งเสริมรายได้ให้กับประชาชนในการใช้พืชสมุนไพรกัญชากันชง ผลักดันพัฒนาเทคโนโลยีทางการแพทย์และการสาธารณสุข ให้ประชาชนเข้าถึงบริการทางการแพทย์อย่างมีคุณภาพลดความเหลื่อมล้ำ เป็นต้น
2.ส่วนผลงานที่เกี่ยวข้องกับสถาบันฯ เช่น บันทึกความร่วมมือกับทางสถาบันฯ เพื่อเป็นเครือข่ายสร้างความร่วมมือในการผลิตบุคลากรตามความต้องการของกระทรวงสาธารณสุข, โครงการ สบช.โมเดล สร้างสุขภาพที่ดีให้กับประชาชน ปรับเปลี่ยนพฤติกรรม ลดโรคแทรกซ้อน, พร้อมทั้งให้โอกาส อสม. กว่า 3,000 คน อบรมหลักสูตรผู้ช่วยพยาบาล, ผู้ริเริ่มโครงการอบรม “พระบริบาลภิกษุไข้” ประจำ 1 วัด 1 รูป เป็นต้น
นอกจากนั้น ยังมีผลงานโดดเด่นคือ “ภารกิจหัวใจติดปีก” ซึ่งเป็นปฐมบทของภารกิจเหนือการเมืองเริ่มต้นตั้งแต่ปี 2557 ซึ่งเป็นความร่วมมือระหว่างนายอนุทิน และ นพ.พัชร อ่องจิต อาจารย์ศัลยแพทย์ หัวหน้าสาขาศัลยศาสตร์หัวใจและทรวงอก รพ.จุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย