“การบินไทย” โชว์กระแสเงินสดในมือพุ่งสูงเป็นประวัติการณ์กว่า 6.3 หมื่นล้านบาท รับการเดินทางและท่องเที่ยวฟื้นตัวต่อเนื่อง ยันเตรียมจ่ายหนี้ก้อนใหญ่ปีหน้าแตะ 1 หมื่นล้านบาท
บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) แถลงผลการดำเนินงานในรอบไตรมาส 3 ปี 2566 ท่ามกลางการฟื้นตัวของอุตสาหกรรมการบินโลก ปริมาณความต้องการเดินทางที่เพิ่มต่อเนื่อง ส่งผลบวกต่อผลการดำเนินงานของการบินไทย และบริษัทย่อย มีรายได้รวม (ไม่รวมรายการที่เกิดขึ้นครั้งเดียว) ทั้งสิ้น 37,008 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนซึ่งมีรายได้รวม 32,860 ล้านบาท หรือ 12.6%
ขณะเดียวกันยังมีกำไรสุทธิจำนวน 1,546 ล้านบาท สูงกว่าปีก่อน 6,326 ล้านบาท โดยเป็นกำไรส่วน ที่เป็นของบริษัทใหญ่ 1,538 ล้านบาท ซึ่งในช่วงดังกล่าวมีผู้โดยสารรวมทั้งสิ้น 3.27 ล้านคน เป็นส่วนของการบินไทย 2.19 ล้านคน และไทยสมายล์ 1.08 ล้านคน มีอัตราการบรรทุกผู้โดยสาร (Cabin Factor) เฉลี่ย 77.3% (การบินไทย 77.1% และไทยสมายล์ 80.9%) ใกล้เคียงกับช่วงเดียวกันของปีก่อนซึ่งเฉลี่ย 77.0%
นายปิยสวัสดิ์ อัมระนันทน์ ประธานคณะผู้บริหารแผนฟื้นฟูกิจการ บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) เผยว่า ภาพรวมธุรกิจในขณะนี้สามารถทำรายได้และกำไรอย่างต่อเนื่อง โดยปัจจุบันมีกระแสเงินสดในมือ (แคช์โฟว์) สูงถึง 6.3 หมื่นล้านบาท และคาดการณ์ว่าผลประกอบการในปีนี้ 1.5 แสนล้านบาท เพิ่มขึ้นจากงวด 9 เดือนแรกของปี 2566 ที่มีรายได้สะสม 1.1 แสนล้านบาท ขณะที่คาดการณ์รายได้ปี 2567 ประเมินว่าจะกลับมาเทียบเท่าช่วงก่อนเกิดโควิด-19 ที่มีรายได้ 1.8 แสนล้านบาท และรายได้ของการบินไทยจะเพิ่มต่อเนื่องจนในปี 2568 ที่คาดว่าจะมีรายได้มากกว่าก่อนเกิดโควิด-19
สำหรับกระแสเงินสดที่การบินไทยมีสะสมในขณะนี้ พบว่าสูงสุดเป็นประวัติการณ์ โดยเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องนับจากปี 2562 ก่อนเกิดโควิด-19 ประกอบด้วย
– ปี 2562 กระแสเงินสดสะสม จำนวน 20,873 ล้านบาท
– ปี 2563 กระแสเงินสดสะสม จำนวน 8,144 ล้านบาท
– ปี 2564 กระแสเงินสดสะสม จำนวน 5,813 ล้านบาท
– ปี 2565 กระแสเงินสดสะสม 34,689 ล้านบาท
– ปี 2566 (30 ต.ค.) กระแสเงินสดสะสม 63,652 ล้านบาท
ทั้งนี้ แม้การบินไทยจะมีความสามารถทำกำไรและเพิ่มกระแสเงินสดในมืออย่างต่อเนื่อง แต่ก็ยังไม่สามารถนิ่งนอนใจในการนำมาขยายธุรกิจได้ เพราะกระแสเงินสดดังกล่าวมีความจำเป็นที่จะต้องชำระหนี้เงินต้นพร้อมดอกเบี้ยจากการดำเนินธุรกิจเป็นไปตามแผนฟื้นฟูกิจการกำหนดไว้ โดยในปี 2567 การบินไทยมียอดหนี้ที่ต้องเตรียมจ่ายเกือบ 1 หมื่นล้านบาท ซึ่งส่วนนี้รวมถึงหนี้ครบกำหนดชำระอย่างหนี้บัตรโดยสารด้วย
“แม้ว่าการบินไทยจะมีเงินสดในมือจำนวนมาก แต่ก็นิ่งนอนใจไม่ได้ ยังต้องลดค่าใช้จ่ายและคุมต้นทุนให้ดี เพราะปัจจัยภายนอกเรื่องเศรษฐกิจโลก สงครามอิสราเอล-ฮามาส และตลาดจีนที่ยังไม่ฟื้นตัว ยังเป็นเรื่องที่ต้องประเมินสถานการณ์ อีกทั้งเงินสดที่มีอยู่ก็มีความจำเป็นจะต้องใช้เพื่อจ่ายหนี้ครบกำหนดชำระ โดยในปีหน้าการบินไทยต้องเริ่มจ่ายหนี้ก้อนใหญ่” นายปิยสวัสดิ์ กล่าว