รัฐบาล แจงปมคาใจ นโยบาย “เงินดิจิทัลวอลเล็ต” ยัน พ.ร.บ.เงินกู้ ไม่ขัดกฎหมาย

โฆษกรัฐบาล แจงทุกคำตอบคาใจปชช. ปม “Digital Wallet” ผ่านข้อมูล “infographics” ขณะ ที่ปรึกษานายกฯ ย้ำ “พ.ร.บ.เงินกู้”ได้ไม่ขัดกฎหมาย ปมแจกเงินดิจิทัลวอลเล็ต

วันที่ 11 พ.ย. 2566 นายชัย วัชรงค์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เผยแพร่ infographics คำถามคาใจ Digital Wallet ฉบับประชาชน ตอบทุกคำถามที่ประชาชนสงสัยต่อนโยบาย Digital Wallet โดย ชี้แจงประเด็นที่ยังมีข้อสงสัยต่อนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจ ในสังคมไทยผ่าน infographics เพื่อให้ประชาชนได้เข้าใจถึงแนวคิด หลักคิด การดำเนินมาตรการ ซึ่งล้วนเกิดขึ้นจากการพิจารณาอย่างถ้วนถี่ของรัฐบาล นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ซึ่งต้องการกระตุ้นการใช้จ่ายให้เกิดเงินหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจ เพิ่มโอกาส ยกระดับวิถีชีวิต พัฒนาความเป็นอยู่ ลดความเหลื่อมล้ำในสังคม

“นายกรัฐมนตรียืนยันการทำงานตั้งแต่วันแรกที่เข้ารับตำแหน่ง ต้องการพัฒนาชาติบ้านเมืองให้เกิดการเปลี่ยนแปลง และที่สำคัญที่สุดคือทำให้ชีวิตพี่น้องประชาชนดีขึ้น ซึ่งมีหลายการทำงานที่ประสบความสำเร็จแล้วเพียงช่วงเวลา 60 วันที่เข้ารับหน้าที่ และตอนนี้ รัฐบาลมุ่งหน้าที่จะพัฒนาภาพรวมของระบบเศรษฐกิจทั้งระบบให้ดีขึ้น แก้ปัญหาเก่า เพิ่มโอกาสไม่ให้เกิดปัญหาทางเศรษฐกิจในอนาคต” นายชัย กล่าว

ด้านนายพิชิต ชื่นบาน ที่ปรึกษาของนายกรัฐมนตรี เขียนบทความกรณีที่มีการวิจารณ์ถึงการออกพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) เงินกู้ เพื่อใช้ในนโยบายเงินดิจิทัลวอลเล็ต 1 หมื่นบาท ตอนหนึ่งระบุว่า พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ. 2561 ได้กำหนดหลักการเกี่ยวกับวินัยการเงินการคลัง และช่วยให้หน่วยงานของรัฐมีการรักษาวินัยการเงินการคลังและดำเนินนโยบายด้านการคลังตามกรอบที่กฎหมายกำหนดไว้ รวมทั้งกำหนดหลักการให้รัฐบาลสามารถตรากฎหมายพิเศษเพื่อกู้เงินได้ โดยเงินที่กู้กระทรวงการคลังจะเก็บไว้เพื่อจ่ายออกไปตามโครงการเงินกู้ ไม่ต้องนำส่งคลังเพื่อเข้าบัญชีเงินคงคลัง ทำให้ปัจจุบันรัฐบาลสามารถตรากฎหมายพิเศษเพื่อกู้เงิน และจ่ายเงินแผ่นดินตามพ.ร.บ.วินัยการเงินฯได้ โดยไม่ถือว่าเป็นการขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา 140 แต่อย่างใดส่วนที่มีมองว่าขัดต่อพ.ร.บ.วินัยการเงินฯ มาตรา 53 ที่มีการระบุว่า หากใช้เงินที่ไม่ได้เป็นไปตามงบประมาณปกติจะทำได้กรณีมีความจำเป็นเร่งด่วนเท่านั้น ยืนยันว่ารัฐบาลสามารถตรากฎหมายเฉพาะเพื่อกู้เงินได้ ซึ่งรัฐบาลเลือกกู้เงินโดยออกเป็นพ.ร.บ.แทนที่จะออกเป็นพ.ร.ก.นั้น มีเจตนาที่จะให้ผ่านการตรวจสอบ ถ่วงดุลตามกลไกของรัฐสภา และเปิดโอกาสให้เสนอความเห็นไปยังศาลรัฐธรรมนูญเพื่อตรวจสอบร่างพ.ร.บ.เงินกู้ ว่าขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญหรือไม่ด้วย เพื่อให้นโยบายนี้ได้กระทำบนพื้นฐานโดยสุจริตและมิได้ใช้ดุลพินิจบิดเบือนหลักการของรัฐธรรมนูญแต่อย่างใด รวมทั้งไม่มีเจตนาซ่อนเร้นหรือแอบแฝงเพื่อหาทางลงตามที่มีหลายฝ่ายวิจารณ์แต่ประการใด

“ส่วนที่วิจารณ์ว่านโยบายไม่ตรงปก เพราะเป็นการกู้มาแจก 100% ไม่เหมือนตอนยื่นนโยบายต่อคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ที่บอกจะนำเงินมาจากงบประมาณแผ่นดินนั้น เมื่อครั้งที่พรรคเพื่อไทย (พท.) ได้ชี้แจงกกต.ได้มีการระบุเงื่อนไขว่าอย่างชัดเจนว่า ที่มาของวงเงินที่จะใช้ในการดำเนินการสามารถปรับเปลี่ยนตามความเหมาะสมตามสถานการณ์ด้านการคลังของประเทศ วันนี้รัฐบาลได้หาข้อสรุปจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทุกภาคส่วนแล้ว เห็นว่าในการกระตุ้นและสร้างความมั่นคงทางเศรษฐกิจต้องมีการเติมเงินลงไปในระบบเศรษฐกิจมูลค่า 6 แสนล้านบาท โดยจะต้องออกเป็นพ.ร.บ.เงินกู้ 5 แสนล้านบาท และมาจากเงินงบประมาณรายจ่ายประจำปี 67 จำนวน 1 แสนล้านบาท จึงเป็นการปรับเปลี่ยนตามความเหมาะสมตามสถานการณ์ด้านการคลังของประเทศตามที่ได้แจ้งต่อกกต.แล้ว” นายพิชิต ระบุ

นายพิชิต กล่าวว่า การออกพ.ร.บ.เงินกู้ เป็นการดำเนินการเพื่อแก้ไขปัญหาวิกฤตทางเศรษฐกิจของประเทศ และเป็นการวางโครงสร้างพื้นฐานเพื่อนำประเทศไปสู่ระบบเศรษฐกิจดิจิทัล แม้มีหลายฝ่ายมีข้อกังวลว่าอาจขัดต่อรัฐธรรมนูญ แต่การตีความกฎหมายนั้น ศาลรัฐธรรมนูญจะเป็นผู้วินิจฉัยชี้ขาดในประเด็นนี้เอง

“ตนขอยกสุภาษิตที่ว่า “สองคนยลตามช่อง คนหนึ่งมองเห็นโคลนตม คนหนึ่งตาแหลมคม มองเห็นดาวอยู่พราวพราย” จึงเป็นเรื่องสองคนย่อมเห็นต่างกันได้อย่างสร้างสรรค์ แต่ต้องคำนึงถึงประโยชน์ของประเทศชาติและที่สำคัญประชาชนรอความหวังกับโครงการนี้อยู่ เมื่อวิกฤตปัญหาเศรษฐกิจของประเทศที่กำลังเผชิญอยู่ในวันนี้ และมีแนวโน้มที่จะก่อให้เกิดปัญหาอีกหลายประการตามมา รัฐบาลภายใต้การนำของนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรมว.คลังจึงมีหน้าที่ที่จึงต้องรีบดำเนินการจัดการกับปัญหาที่เกิดขึ้นเสียก่อน เพราะทุกปัญหาย่อมมีไว้ให้แก้ แต่ผู้นำที่ดีย่อมแก้ก่อนมีปัญหา” นายพิชิต ระบุ