“กรมใหม่” ใน กระทรวงอุตสาหกรรมเป็น “กรมผลิตภัณฑ์ฮาลาล” จะดีกว่าไหม???

นายกฯ เล็งยกระดับ คณะทำงานอาหารฮาลาล เป็น “กรมอาหารฮาลาล” หรือ “กรมผลิตภัณฑ์ฮาลาล” ในกระทรวงอุตสาหกรรม ขณะ” ดร.วินัย ดะห์หลัน ผอ.ศูนย์วิทยาศาสตร์ฮาลาล หรือ  ศวฮ.จฬ. ชูธงหนุนเต็มที่ เพื่อส่งเสริมผลิตภัณฑ์ฮาลาล ไปแข่งขันในตลาดโลก

วันที่ 7 พ.ย. 2566 นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และ รมว.คลัง เปิดเผยหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.)ว่า รัฐบาลตระหนักถึงความสำคัญของ “อาหารผลิตภัณฑ์ฮาลาล” ในทางเศรษฐกิจ ซึ่งสามารถส่งออกไปในพื้นที่ที่มีชาวมุสลิมสูง อย่างแอฟริกา ตะวันออกกลาง จึงประสงค์ จะยกระดับงานนี้ให้ขึ้นเป็นกรม ทำนองว่าจะจัดตั้งเป็น “กรมอาหารฮาลาล” หรือ “กรมฮาลาล” ในกระทรวงอุตสาหกรรม งานนี้หากเกิดขึ้นจริง จะเป็นผลงานชนิดจับต้องได้ชิ้นแรกๆของรัฐบาลชุดนี้ สังคมจะมีปฏิกิริยาตอบสนองเช่นไร รัฐบาลก็ต้องบริหารจัดการให้เป็นเรื่องเชิงบวกให้ได้

ด้าน ดร.วินัย ดะห์หลัน ผู้อำนวยการศูนย์วิทยาศาสตร์ฮาลาล ในฐานะที่คณะทำงานด้านดูแล “ศูนย์วิทยาศาสตร์ฮาลาล จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย” (ศวฮ.จฬ.) ซึ่งเป็นผลจากมติคณะรัฐมนตรีวันที่ 13 สิงหาคม พ.ศ.2546 ได้รับรางวัลจากรัฐบาลมาเลเซียใน พ.ศ.2549 ในฐานะหน่วยงานแรกในโลกด้านวิทยาศาสตร์ฮาลาล ทั้งยังเกี่ยวข้องกับอีกสามมติคณะรัฐมนตรี ได้แก่ มติวันที่ 2 มิถุนายน พ.ศ.2558 ด้านการพัฒนาระบบ Thailand Diamond Halal มติวันที่ 10 กันยายน พ.ศ.2562 พัฒนาระบบ Thailand Halal Blockchain มติวันที่ 8 สิงหาคม พ.ศ.2566 ขับเคลื่อนงาน Halal SMEs และพัฒนาเทคโนโลยีดิจิตอลสนับสนุนงานการท่องเที่ยวมุสลิม มีประสบการณ์ด้านข้อมูลฮาลาลมายาวนานจึงขอออกความเห็นถึงรัฐบาลสักหน่อย

ประการแรก ศักยภาพของผลิตภัณฑ์ฮาลาลไม่ได้นับเฉพาะผู้บริโภคมุสลิมซึ่งมีอยู่ประมาณสองพันล้านคนหรือหนึ่งในสี่ของประชากรโลก ศักยภาพของฮาลาลครอบคลุมไปถึงผลิตภัณฑ์และบริการสำหรับประชากรโลกที่ไม่ใช่มุสลิมอีก 4,900 ล้านคน รวมเป็น 6,900 ล้านคนหรือ 88% ของประชากรโลก จะเป็นไปได้เช่นนั้นหรือไม่ก็ขึ้นกับวิธีบริหารจัดการ ประเทศอย่างบราซิล ฝรั่งเศส ออสเตรเลีย ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ไต้หวัน ฯลฯ แม้มิใช่ประเทศมุสลิมพากันกำหนดยุทธศาสตร์ด้านนี้กันไปแล้ว นั่นคือการมุ่งไปยังตลาดฮาลาลที่ไม่ใช่มุสลิม

ประการที่สองคือผลิตภัณฑ์ฮาลาลที่ไม่ใช่อาหาร (Non-food products) เป็นต้นว่า ผลิตภัณฑ์ครัวเรือน แฟชั่น คอสเมติกส์ ผลิตภัณฑ์ยาและการแพทย์ บรรจุภัณฑ์ ฯลฯ มีมูลค่าสูงถึง 76.4% ของมูลค่าเศรษฐกิจฮาลาลทั้งหมดหรือมีมูลค่า 4.2 ล้านล้านเหรียญสหรัฐต่อปี ขณะที่ผลิตภัณฑ์อาหารและการเกษตรมีมูลค่า 1.3 ล้านล้านเหรียญต่อปี กระทรวงอุตสาหกรรมดูแลผลิตภัณฑ์ครอบคลุมกว้างขวางทั้งอาหารและมิใช่อาหารหากจะดำเนินการสมควรจัดตั้งเป็น “กรมผลิตภัณฑ์ฮาลาล” หรือ “กรมพัฒนาผลิตภัณฑ์ฮาลาล” ซึ่งเป็นพันธกิจของกระทรวงอย่างชัดเจน ในส่วนมติคณะรัฐมนตรีในอดีตที่เกี่ยวข้องกับ ศวฮ.จฬ.บางมติมาจากกระทรวงอุตสาหกรรมซึ่งประสงค์ให้ ศวฮ.จฬ.พัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมเพื่อให้อุตสาหกรรมฮาลาลแข่งขันในตลาดโลกได้ เป็นส่วนที่ ศวฮ.จฬ.เดินหน้าพัฒนาไปแล้ว ทางกระทรวงอุตสาหกรรมและรัฐบาลสามารถนำผลงานของ ศวฮ.จฬ.ไปใช้ประโยชน์ได้อย่างเต็มที่

#ดรวินัยดะห์ลัน,