แจกเงินดิจิทัล ใช้ “เป๋าตัง” ไม่ต้องลงทุนทำใหม่ ทำได้ทันที อย่ากลัวเสียหน้า

โครงการเติมเงินดิจิทัล 10,000 บาท ที่ ” เศรษฐา ทวีสิน” ยืนยันว่าต้องทำให้ได้ เพราะเป็นนโยบาย “เรือธง” ของพรรคเพื่อไทย (พท.) ที่หาเสียงไว้ โดยจะแจกให้แก่ผู้มีอายุตั้งแต่ 16 ปีขึ้นไป ผ่านระบบ “บล็อกเชน” เพื่ออัดฉีดเงินประมาณ 5.6 แสนล้าน เข้าไปกระตุ้นเศรษฐกิจครั้งใหญ่ หลังจากถดถอยมาหลายปี กำลังเป็นประเด็นร้อนที่อยู่ในกระแสวิพากวิจารณ์ และเต็มไปด้วยคำถาม

และหนึ่งในคำถามยอดฮิต คือ ในเมื่อจะแจกแล้ว ทำไม่ไม่แจกเป็นเงินสด ผ่านแอปพลิเคชัน “เป๋าตัง” ที่คนคุ้นเคยดีอยู่แล้ว ทำไมต้องเป็น ดิจิทัลวอลเล็ต ทำไมต้องทำบล็อกเชนใหม่ ตรงนี้มีผลประโยชน์แอบแฝงหรือไม่ ??

ที่สำคัญ ถึงขั้นมีกระแสข่าวออกมาว่า จะต้องใช้งบประมาณถึง 1.2 หมื่นล้านบาท ในการทำ “ซูเปอร์แอปฯ” สำหรับจ่ายเงินดิจิทัลวอลเล็ต

งานนี้ เล่นเอา “จุลพันธ์ อมรวิวัฒน์” รมช.คลัง นิ่งเฉยอยู่ไม่ได้ ต้องรีบออกมาชี้แจงว่า “ซูเปอร์แอปฯ” หรือ แอปพลิเคชั่นในการจ่ายเงินดิจิทัลวอลเล็ต ที่จะทำนั้น ไม่ใช่บริษัท แต่เป็นธนาคารที่อยู่ในการกำกับของรัฐ เป็นผู้ดำเนินการ โดยไม่ได้มีการจ้างบริษัทภายนอก ยืนยันว่า ไม่มีการจัดซื้อ จัดจ้าง

ส่วนธนาคารใด ผู้จะทำแอปฯ นั้น ต้องให้ธนาคารในการกำกับดูแลของรัฐ ไปประชุมและมอบหมายกันเอง โดยจะมีการประชุมในวันพฤหัสบดีที่ 19 ต.ค.นี้ ที่มีการปล่อยข่าวว่า ค่าจัดทำแอปฯสูงถึง 12,000 ล้านบาทนั้น ไม่มีทาง ฟังแล้วก็ยังตลกอยู่เลย ไม่มีแอปฯ ไหนพัฒนาในราคานั้น ส่วนจะราคาเท่าไร ยังไม่กล้าตอบตัวเลขที่ชัดเจน แต่ไม่ได้มากมายอะไรขนาดนั้น

รมช.คลัง ยังบอกว่า ที่ไม่ใช้แอปฯ “เป๋าตัง” เพราะมีความแตกต่างในระบบ และวัตถุประสงค์ก็แตกต่าง โดยเฉพาะ “บล็อกเชน” นั้นมีกลไกที่โปร่งใส ป้องกันการทุจริตได้ด้วย นอกจากนี้แอปฯในอดีต ข้อมูลยังเป็นของรัฐ แต่ตัวแอปฯ ไม่ใช่ของรัฐ ดังนั้นการต่อยอด จึงมีข้อจำกัด แต่แอปฯใหม่จะดึงข้อมูลของรัฐที่เป็นประโยชน์มาใช้ได้

ล่าสุด คณะอนุฯขับเคลื่อนโครงการเติมเงินดิจิทัล 10,000 บาท ได้เสนอปรับเงื่อนไข ขยายขอบเขตการใช้จ่ายจากรัศมี 4 กม. เป็นภายในเขตอำเภอ ตามที่อยู่ในภูมิลำเนา เพราะมีรหัสไปรษณีย์ตรวจสอบได้ ซึ่งจะเสนอให้นายกรัฐมนตรี เคาะ 24 ต.ค.นี้

ขณะที่ “เศรษฐา ทวีสิน” นายกรัฐมนตรี ที่อยู่ระหว่างการเดินทางเยือนจีน พอได้ข่าวเรื่องค่าจัดทำ “ซูเปอร์แอปฯ” 1.2 หมื่นล้านบาท แถมอ้างว่าบริษัทในเครือข่ายของนายกฯเป็นผู้รับงาน ก็รีบชี้แจงทันทีเช่นกันว่า การจัดทำแอปฯ ไม่มีเรื่องค่าคอมมิชชั่น ไม่มีการหักเบี้ยใบ้รายทาง หรือ ถูกหักเงิน 3% และไม่มีการจ้างเป็นหมื่นล้านบาท อย่างที่กล่าวหา แต่ตัวเลขน้อยมาก และไม่เกี่ยวกับ “แสนสิริ” หรือ บริษัทเอ็กซ์สปริง แคปปิตอล (XPGX) ที่ตนเองเคยเป็นกรรมการอยู่ แน่นอน

ส่วนที่ไม่ได้ชี้แจงให้กระจ่างในช่วงนี้ เพราะ ต้องรอให้คณะกรรมการศึกษาเงินดิจิทัลฯ ซึ่งประกอบด้วยผู้ชำนาญการจากหลายฝ่าย มีข้าราชการระดับสูง ที่เห็นตรงกันบ้าง เห็นต่างกันบ้าง ได้มีข้อสรุปก่อน แล้วชี้แจงทีเดียวจะได้ไม่เกิดความสับสน ระหว่างนี้ถ้ามีข้อเสนอแนะเข้ามา เราก็พร้อมนำไปพิจารณา

สำหรับโครงการดิจิทัลวอลเล็ต ในสายตาของผู้นำภาคธุรกิจอย่าง “สนั่น อังอุบลกุล” ประธานกรรมการหอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย บอกว่า เห็นด้วยกับมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ เพราะที่ผ่านมาการส่งออกก็ชะลอตัว อุตสาหกรรมต่างๆ หรือแม้แต่ภาคเกษตรก็เช่นกัน ถ้าเราสามารถทำให้ประชาชนมีอำนาจการซื้อ มีกำลังซื้อ ก็จะทำให้อุตสาหกรรมเหล่านี้ สามารถเพิ่มกำลังการผลิต การจ้างงานก็จะเพิ่มขึ้น

แต่ขอเสนอแนะว่า อยากจะให้ใช้แพลตฟอร์มที่มีอยู่แล้วเช่น “เป๋าตัง” ของแบงก์กรุงไทย สามารถใช้ได้ทันที ไม่ต้องไปลงทุนทำใหม่ และไม่ต้องกลัวว่าเงินจะไม่หมุน เพราะเมื่อมีเงินอัดฉีดเข้าไปในระบบ การสร้างงานแล้ว ก็จะทำให้เงินมีการหมุนเวียนหลายรอบได้เช่นกัน

ที่ผ่านมา มีเสียงวิพากวิจารณ์ว่า ที่ไม่ใช้แอปฯ “เป๋าตัง” กับแบงก์กรุงไทย เพราะรัฐบาลกลัวเสียหน้า ที่ไปรับมรดกจาก “รัฐบาลลุงตู่” กลัวเป็นการให้ “เครดิตลุงตู่” แล้วลุงตู่จะได้หน้า จะอยู่ในใจประชาชนต่อไป ซึ่งถือว่าเป็นการให้น้ำหนักในทางการเมืองแบบคิดเล็กคิดน้อยจนเกินไป

ถ้ามองมุมกลับ ก็ต้องไม่ลืมว่า ที่มี “เศรษฐา” ขึ้นมาได้ ไม่ใช่เพราะ “ลุงตู่” ให้การสนับสนุนหรอกหรือ ???