“เศรษฐา” โรดโชว์ “แลนด์บริดจ์” 1 ล้านล้าน ควงปากกาวาดเส้นแผนที่ประเทศไทย จุดที่โครงการตัดผ่านให้ฝ่ายจีนเข้าใจง่าย จะได้เห็นภาพโครงการสองท่าเรือ ยอมรับ รีบวาด รีบคุย ภาพเลยออกมาไม่สวย แต่สื่อสารได้ผลดี
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และรมว.คลัง ทวิตผ่านโซเชียลมีเดียระบุถึงภารกิจในการเข้าร่วมประชุมเวทีข้อริเริ่มสายแถบและเส้นทาง ครั้งที่ 3 (Belt and Road Forum for International Cooperation: BRF) ณ กรุงปักกิ่ง สาธารณรัฐประชาชนจีน ว่า
ผมลองวาดเส้นทางของ Landbridge ให้กับทางผู้ประกอบการรถไฟในประเทศจีนให้เข้าใจง่ายขึ้น ทำให้เห็นภาพของโครงการสองท่าเรือ แต่นับรวมเป็นหนึ่ง โครงการจะลดปัญหาการจัดการซ้ำซ้อน (Double Handling) ได้ครับ
รีบวาดรีบคุยให้เข้าใจ แม้ภาพออกมาไม่ค่อยสวยเท่าไรแต่สื่อสารได้ผลดีเลยครับผู้สื่อข่าวรายงานว่า โครงการสะพานเศรษฐกิจภาคใต้เชื่อมฝั่งทะเลอ่าวไทย -อันดามัน (ชุมพร-ระนอง) หรือโครงการ แลนด์บริดจ์ ที่ประชุมครม.ได้มีมติเมื่อ 16 ต.ค.ที่ผ่านมา ให้อนุมัติทำการศึกษาซึ่งมีมูลค่าการลงทุน 1 ล้านล้านบาท
โดยก่อนหน้านี้ ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 16 ต.ค. 2566 มีมติรับทราบหลักการโครงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านการคมนาคมขนส่ง เพื่อพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคใต้เพื่อเชื่อมโยงการขนส่งระหว่างอ่าวไทยและอันดามัน (โครงการแลนด์บริดจ์) และให้กระทรวงคมนาคมดำเนินการรับฟังความคิดเห็นจากนักลงทุนต่างประเทศ (Road Show) ในการพัฒนาโครงการแลนด์บริดจ์เพื่อนำมาประกอบในการจัดทำร่างเอกสารเชิญชวนผู้ลงทุนในการร่วมลงทุนโครงการ (RFP) ในลำดับต่อไปโครงการแลนด์บริดจ์ (ชุมพร-ระนอง) ประมาณการวงเงินลงทุนโครงการทั้งหมด 1,001,206.47 ล้านบาท ประกอบด้วย 4 เนื้องาน ประกอบด้วย
1. ท่าเรือน้ำลึกฝั่งทะเลอันดามัน ที่แหลมอ่าวอ่าง อำเภอราชกรูด จังหวัดระนอง ออกแบบให้สามารถรองรับสินค้าได้ 20 ล้าน TEUs ขนาดร่องน้ำลึก 21 เมตร
2. ท่าเรือน้ำลึกฝั่งอ่าวไทย ที่แหลมริ่ว อำเภอหลังสวน จังหวัดชุมพร รองรับสินค้าได้ 20 ล้าน TEUs ขนาดร่องน้ำลึก 17 เมตร
3. เส้นทางเชื่อมโยงท่าเรือทั้งสองฝั่งมีระยะทางประมาณ 90 กม. ประกอบด้วย ทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง (มอเตอร์เวย์) ขนาด 6 ช่องจราจร โดยเป็นอุโมงค์ 3 แห่ง ระยะทางอุโมงค์ประมาณ 21 กม., ทางรถไฟขนาดราง 1.435 เมตร (Standard Gauge) จำนวน 2 ทาง โดยเป็นอุโมงค์ 3 แห่ง ระยะทางอุโมงค์ประมาณ 21 กม. ออกแบบเพื่อรองรับการขนส่งตู้สินค้า 2 ชั้นบนแคร่ (Double Stack), ทางรถไฟขนาดราง 1.0 เมตร (Meter Gauge) จำนวน 2 ทาง โดยเป็นอุโมงค์ 3 แห่ง ระยะทางอุโมงค์ประมาณ 21 กม. เพื่อเชื่อมต่อกับระบบโครงข่ายทางรางหลักของประเทศ และพื้นที่สำหรับวางท่อขนส่งน้ำมันสำเร็จรูปและก๊าซธรรมชาติ เพื่อสนับสนุนการขนส่งน้ำมันและก๊าซธรรมชาติทางท่อในพื้นที่ของโครงการ
และ 4. การพัฒนาพื้นที่เชิงพาณิชย์หลังท่าโดยการถมทะเลเพื่อพัฒนากิจการสนับสนุนท่าเรือ