‘พิสิฐ’ ชำแหละ แจกเงินดิจิทัล ตำน้ำพริกละลายแม่น้ำ เตือนอย่าคิด ผลาญเงินเด็ก

‘พิสิฐ ลี้อาธรรม’ อดีตรมช.คลัง เสียดาย 5.6 แสนล้าน ตำน้ำพริกละลายแม่น้ำแจกเงินดิจิทัล ชี้หากช่วยแค่คนจนก่อนยังพอรับได้ เตือนรัฐบาลอย่าริอ่านใช้เงินออมสินเด็กมาผลาญเล่น ไม่อยากเชื่อรัฐบาลเอาอนาคตมาเสี่ยงอย่างนี้

วันที่ 18 ต.ค.2566 นายพิสิฐ ลี้อาธรรม อดีต สส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) และ อดีตรมช.คลัง ประธานนโยบายพรรคปชป. กล่าวแสดงความเห็นต่อนโยบายดิจิทัลวอลเล็ต 10,000 บาท ของรัฐบาล ว่า ในช่วงการหาเสียงเลือกตั้ง พยายามละเว้นจะวิจารณ์นโยบายของพรรคการเมืองคู่แข่ง แต่ในเมื่อรัฐบาลจะเอาจริงเอาจังกับเรื่องนี้ จึงขอตั้งข้อสังเกตไว้ว่า รู้สึกเสียดายเงิน 5.6 แสนล้านบาท เงินจำนวนดังกล่าวหากนำมาแจกคนยากจน ประมาณ 10 ล้านคน เป็นจำนวน 1 แสนล้านบาท ยังพอรับได้ แต่หากนำมาแจกให้พวกเศรษฐี ชนชั้นกลางด้วย ซึ่งใช้เงินไม่กี่วันก็หมด มองว่าเป็นการตำน้ำพริกละลายแม่น้ำโดยใช่เหตุ

“เรานำเงินจำนวนนี้ไปทำประโยชน์ให้กับประเทศได้อีกมากมาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งเราสามารถสร้างรถไฟฟ้าความเร็วสูงจากกรุงเทพฯ ไปเชียงใหม่ ด้วยเงินเพียงกว่า 4 แสนล้านบาท จะสามารถอยู่ได้เป็นสิบๆ ร้อยๆ ปี เทียบกับที่เราเอามาใช้หมดเปลืองในเวลาเพียงไม่กี่วัน ด้วยเหตุผลว่าได้หาเสียงไว้แล้ว” นายพิสิฐ กล่าว

นายพิสิฐ กล่าวว่า เห็นด้วยกับนักวิชาการที่ออกมาคัดค้าน อีกทั้งเงินดิจิทัลฯ ยังไม่มีรัฐบาลอื่นใดในโลกทำ จึงถูกจับตามองอย่างเป็นข้อกังขาว่าเหตุใดรัฐบาลมาแตะต้องเรื่องนี้ รวมถึงกฎหมายของธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.)ก็ระบุไว้ชัดว่า การพิมพ์ธนบัตรและออกเงินตราเป็นหน้าที่ของ ธปท. จริงอยู่ที่กฎหมายอนุญาตว่า เว้นแต่ได้รับอนุญาตจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง แต่เชื่อว่าตำแหน่งดังกล่าว ก็ใช่ว่ามีความรู้ก็มาเซ็นอนุมัติ แต่ต้องมีเหตุผล เพราะหากมีการพิมพ์ธนบัตรดิจิทัลปลอมขึ้นมา ใครจะติดตามรับผิดชอบ เพราะยังไม่มีโครงสร้างพื้นฐานเพื่อรับผิดชอบเรื่องนี้ ทำไมจึงใช้ช่องว่างของกฎหมายให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคลังดำเนินการได้

นายพิสิฐ กล่าวด้วยว่า สำหรับการชดเชยการขาดดุลก็ยังไม่ชัดเจน แต่เท่าที่ฟังจากรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลังชี้แจง เห็นว่าจะนำมาจากงบประมาณที่รัฐเก็บได้สูงเกินเป้าหมาย แต่ความจริงเงินจำนวนดังกล่าวถือเป็นเงินคงคลัง ซึ่งวิธีดังกล่าวจึงเป็นการเบียดบังเงินคงคลังโดยใช่เหตุ หากจะนำเงินของธนาคารออมสินมาใช้ เงินดังกล่าวส่วนใหญ่เป็นของนักเรียนที่ส่งเสริมให้เด็กออมเงิน แปลว่ารัฐบาลนี้ทำตัวอย่างที่ไม่ดี คือนำเงินมาแจกให้บริโภค ซึ่งเป็นเรื่องย้อนแย้งกัน

“ธนาคารออมสินก่อตั้งโดยรัชกาลที่ 6 และมีคำว่าออมอยู่ในชื่อ แต่กลายเป็นว่ารัฐบาลนี้ริอ่านจะนำเงินนี้มาผลาญเล่น ซึ่งจะกลายเป็นหนี้สาธารณะ ที่อนาคตเราก็ต้องมาเก็บภาษีคืนให้ ซึ่งก็ไม่ถูกต้อง” นายพิสิฐ กล่าวและว่า ไม่เชื่อว่างบประมาณของนโยบายดังกล่าวจะมาจากงบประมาณปี 2567 เพราะต้องใช้เป็นรายจ่าย หากเอาเงินนอกงบประมาณมาใช้ผลาญเล่นก็จะเกิดผลกระทบกับระบบการเงิน จึงไม่อยากเชื่อว่าจะนำอนาคตมาเสี่ยงอย่างที่หลายคนเตือน และทั้งคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) และ สำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน(สตง.)ก็ตั้งแท่นศึกษาแล้วว่า จะเป็นการทุจริตครั้งใหญ่หรือไม่ ส่วนกรณีหุ้นตกนั้นก็เป็นปัจจัยหนึ่งที่สะท้อนความรู้สึกของนักลงทุน ว่าไม่มั่นใจกับโครงการนี้