“จุลพันธ์ อมรวิวัฒน์” คอนเฟิร์มแจกเงิน 10,000 บาทผ่าน “ดิจิทัลวอลเล็ต” ไม่เกิน Q1/67 ยืนยันเศรษฐกิจโตแผ่ว จำเป็นต้องกระชากให้ฟื้น พร้อมลุยพบ ป.ป.ช. ชี้แจงทุกข้อกังวล วอนทุกฝ่ายไม่ต้องห่วงเรื่อง “คอร์รัปชั่น” เดินหน้าตามหลักเกณฑ์กฎหมาย
วันที่ 13 ต.ค. 2566 นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รมช.คลัง กล่าวในการประชุมคณะอนุกรรมการขับเคลื่อนโครงการเติมเงิน 10,000 บาท ผ่านดิจิทัลวอลเล็ต ครั้งที่ 1/2566 ว่า นโยบายการเติมเงิน 10,000 ผ่านบาท ดิจิทัลวอลเล็ต เป็นนโยบายที่ผ่านความเห็นชอบจาก รัฐสภาเป็นที่เรียบร้อยแล้ว เพื่อเป็นกลไกในการขับเคลื่อนและฟื้นฟูเศรษฐกิจครั้งใหญ่ จากที่ผ่านมาเศรษฐกิจไทยมีความเปราะบาง ฟื้นตัวไม่เต็มศักยภาพ ประชาชนเดือดร้อน การเติบโตของเศรษฐกิจไทยเฉลี่ยในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา อยู่ที่ 2% เทียบกับประเทศอื่น ๆ ที่เติบโตได้สูงกว่า
ทั้งนี้ มาตรการการดิจิทัลวอลเล็ต จะเป็นตัวฉุดกระชากเศรษฐกิจให้โตตามศักยภาพ เป็นการกระจายเม็ดเงินลงไปในระดับฐานรากอย่างทั่วถึง โดยมีการกำหนดเงื่อนไขการใช้ให้เม็ดเงินมีการหมุนเวียนในท้องถิ่น และจะผลักดันให้เศรษฐกิจไทยขยายตัวได้ในระดับ 5% ต่อปี เป็นการให้ความสำคัญกับเสถียรภาพเศรษฐกิจ โดยมีเป้าหมาย คือ คุณภาพชีวิตของประชาชนต้องดีขึ้น
มาตรการดิจิทัลวอลเล็ตจะใช้ประชาชนเป็นกลไกในการขับเคลื่อนเงินทุกบาทจะไม่มีการรั่วไหล ถึงมือทุกคน ไม่ต้องห่วงปัญหาคอร์รัปชั่น โดยรัฐบาลและกระทรวงการคลัง พร้อมรับการตรวจสอบทุกรูปแบบ โดยได้ติดตามข้อเสนอและข้อห่วงใยของสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ที่ได้มีการตั้งคณะกรรมการพิจารณาศึกษาโครงการดิจิทัลวอลเล็ต 10,000 บาท โดยในส่วนของคณะอนุกรรมการฯ ก็เห็นว่าเป็นเรื่องที่ดีที่จะมีหน่วยงานมาช่วยเป็นหูเป็นตา รอบคอบ รัดกุม และเป็นประโยชน์
“ผมพร้อมเข้าไปพบกับ ป.ป.ช. ด้วยตัวเอง หลังจากที่ได้ทราบว่า ป.ป.ช. มีการตั้งคณะกรรมการติดตามและตรวจสอบ ก็พร้อมที่จะเข้าไปรับฟัง แลกเปลี่ยนข้อสงสัย เพื่อให้เกิดความเข้าใจที่ตรงกัน และนำข้อเสนอแนะจาก ป.ป.ช. มาปรับใช้ให้มาตรการมีความรอบคอบที่สุด และแม้ว่ามาตรการนี้จะมีกรอบระยะเวลาที่กระชั้น แต่คณะอนุกรรมการก็จะพิจารณาให้รอบคอบ ถี่ถ้วน โดยคำนึงถึงความเห็นของทั้งประชาชน เอกชน และหน่วยงานภาครัฐให้รอบด้านมากที่สุด” นายจุลพันธ์ กล่าว
นอกจากนี้ ที่ผ่านมามีภาคประชาชนและนักวิชาการออกมาให้เสียงสะท้อนถึงมาตรการดังกล่าว ซึ่งมีทั้งที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วย ในฐานะอนุกรรมการฯ ก็ต้องนำความเห็นและข้อเสนอแนะทั้งหมดมาพิจารณา และออกแบบนโยบายให้รอบคอบรัดกุม เกิดประโยชน์สูงสุดตามวัตถุประสงค์ ก่อนที่จะนำเสนอคณะกรรมการขับเคลื่อนนโยบายดิจิทัล 10,000 บาท ซึ่งเป็นคณะกรรมการชุดใหญ่เห็นชอบ เพื่อนำเสนอต่อที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ต่อไป
ทั้งนี้ ได้ขอให้คณะอนุกรรมการ ยึดแนวทางความถูกต้องตามหลักข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้อง 3 เรื่อง คือ 1. พระราชกฤษฎีกาว่าด้วยหลักเกณฑ์และวิธีการบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดี 2. พระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.)วินัยการเงินการคลัง และ 3. พ.ร.บ. วิธีการงบประมาณ ต้องดำเนินการด้วยความโปร่งใส บริหารเม็ดเงินงบประมาณอย่างคุ้มค่า และเนื่องจากนโยบายดังกล่าว เป็นนโยบายสาธารณะที่มุ่งการฟื้นฟูเศรษฐกิจ จึงขอให้ไม่ต้องมองในเรื่องของกำไรขาดทุน ให้ดูความคุ้มค่า ผลได้ ผลเสีย ที่ไม่ได้คำนวณเป็นตัวเงินด้วย และต้องดำเนินการตามระเบียบวิธีการราชการ ท้ายที่สุดคือต้องประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนรับทราบโดยเร็ว
สำหรับกรอบระยะเวลาการดำเนินโครงการ ยอมรับว่ามีความตึงตัวพอสมควร แต่การกระตุ้นเศรษฐกิจก็มีความจำเป็น เนื่องจาก พรบ. งบประมาณรายจ่ายปี 2567 จะล่าช้า โดยคาดว่าจะมีผลเร็วสุดคือกลางเดือน เม.ย. 2567 และกว่าจะมีการจัดซื้อจัดจ้าง เบิกจ่าย ผลบวกต่อเศรษฐกิจจะล่าช้าออกไปอีก ดังนั้นจึงเป็นโอกาสที่ในช่วงต้นปี จึงเหมาะที่จะมีมาตรการในการผลักดันเม็ดเงินเข้าสู่ระบบ โดยคาดว่ามาตรการดิจิทัลวอลเล็ต จะดำเนินการได้ภายในไตรมาส 1/2567 เป็นมาตรการที่ต้องทำให้สำเร็จ เพราะถ้าล่าช้าผลดีในการกระตุ้นเศรษฐกิจก็จะลดลงด้วย
อย่างไรก็ดี จากนี้จะมีการประชุมคณะอนุกรรมการฯ บ่อยครั้งขึ้นกว่าปกติ เพื่อเร่งเสนอข้อสรุปมาตรการทั้งหมดให้แล้วเสร็จโดยเร็ว โดยจะพิจารณาในเรื่องของหลักเกณฑ์ เงื่อนไข แหล่งเงินที่จะนำมาใช้ การจัดการฐานข้อมูล การติดตามตรวจสอบการทุจริตคอร์รัปชั่น การประเมินผลมาตรการก่อนและหลัง โดยจะต้องขอความร่วมมือจากสำนักงานคณะกรรมการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) สภาพัฒน์, สำนักงบประมาณ, กระทรวงการคลัง, กรมบัญชีกลาง และสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ (กพร.) มาร่วมให้ความเห็นและประเมินความคุ้มค่าของมาตรการทั้งก่อนและหลัง