ปาเลสไตน์: สมภูมิแห่งนี้ไม่มีวันจบสิ้น”

หลายคนคงเห็นข่าวคราว “ความรุนแรงในอิสราเอลระลอกใหม่” ซึ่งมีผู้เสียชีวิตจำนวนมาก

นักวิเคราะห์หลายสำนักประนามการลงมือของฮามาสในครั้งนี้ เนื่องจากมีผู้คนจำนวนมากเสียชีวิต อย่างน้อยก็ทั้งในอิสราเอลและปาเลสไตน์มากกว่า 1,000 ราย
การประนามการกระทำครั้งนี้ เกิดขึ้นหลายภาคส่วนทั่วโลกรวมทั้ง “นายกรัฐมนตรีของประเทศไทย” โดยไม่รู้เรื่องรู้ราวอะไรเลยว่า “สมรภูมิแห่งนี้เป็นแบบไหน”

เมื่อนักข่าวถามผู้นำปาเลสไตน์ เขาพูดแค่คำเดียวว่า “ชาวโลกอาจตกใจและสะพรึงกลัวกับเหตุการณ์ครั้งนี้ที่มีผู้เสียชีวิตจากการถล่มของฮามาส แต่แปลกที่ชาวโลกไม่ได้ตกใจและเสียใจกับการจากไปของชาวปาเลสไตน์ที่เกิดขึ้นทุกวัน และเกิดขึ้นแบบนี้มาเป็นร้อยปี”
ใช่ อย่างที่ผู้นำปาเลสไตน์ว่า
การรุกตั้งถิ่นฐานของอิสราเอลในบ้านเกิดและแผ่นดินของชาวปาเลสไตน์ตั้งแต่ทศวรรษ 1880 นั้น มีผู้สูญเสียและพลัดถิ่นจำนวนมาก
แต่ไม่มีใครตระหนก และตระหนัก แต่กลับวิพากษ์วิจารณ์เมื่อฮามาสถล่มอิสราเอล

คำพูดของผู้นำปาเลสไตน์ยังดังก้องว่า
“ชาวโลกอาจตกใจและสะพรึงกลัวกับเหตุการณ์ครั้งนี้ที่มีผู้เสียชีวิตจากการถล่มของฮามาส แต่แปลกที่ชาวโลกไม่ได้ตกใจและเสียใจกับการจากไปของชาวปาเลสไตน์ที่เกิดขึ้นทุกวัน และเกิดขึ้นแบบนี้มาเป็นร้อยปี”
ด้วยเหตุนี้ เราอย่าตกเป็นเหยื่อของสถานการณ์รายวัน แต่ควรเข้าใจภาพรวมของเหตุการณ์ทั้งหมด เพราะปัญหาความขัดแย้ง ณ สมรภูมิแห่งนี้เกิดขึ้นตั้งแต่ปี 1880 เป็นต้นมา และเริ่มชัดขึ้นในปี 1917 และเป็นระบยิวในปี 1948 ส่งผลให้รุกคืบเรื่อยมาจนกระทั่งปัจจุบัน

🔸 คำถามก็คือ “ทำไมฮามาสถึงถล่มอิสราเอลเมื่อมีโอกาส”

เพราะพวกเขาคือ กลุ่มติดอาวุธที่ต่อสู้กับอิสราเอลมาอย่างยาวนาน
แล้วทำไมฮามาส รวมถึงชาวปาเลสไตน์คนอื่น ๆ จะต้องต่อสู้และยอมสละชีพเพื่อปะทะกับอิสราเอล
ก็เพราะแผ่นดินเกิดของพวกเขานั้นถูกอิสราเอลรุกล่าอาณานิคมแบบตั้งถิ่นฐาน โดยอิสราเอลเริ่ม โครงการนิยมชาวยิวตั้งแต่ทศวรรษ 1880 เป็นต้นมา
พวกเขาเข้ามาในปาเลสไตน์ครั้งแรกด้วยการทำเกษตร ซึ่งชาวปาเลสไตน์บางส่วนสอนให้เพาะปลูก และให้ที่ทางอาศัย โดยไม่รู้เลยว่า “แผนการของพวกเขาคือ ตั้งนิคมชาวยิว”
จนกระทั่ง ชาวยิวไซออนนิสต์ เริ่มรุกคืบมาเรื่อย ๆ เห็นได้จากภาพปี 1917 ที่ยึดเพิ่งจนกระทั่งปัจจุบัน

ซึ่งสถานการณ์ในกาซาก็ค่อนข้างย่ำแย่ลง เพราะตั้งแต่ปี 2008 นั้นมีสงครามระหว่างอิสราเอล-ปาเลสไตน์เกิดขึ้น 4 ครั้ง ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตมากกว่า 4,000 คน ซึ่งพื้นที่ดังกล่าวนั้นถูกขนานนามว่า “คุกเปิดที่ใหญ่ที่สุดในโลก” (the world’s largest open-air prison)

จนเกิด “การอพยพชาวปาเลสไตน์” ที่ลงทะเบียนไว้มากกว่า 6 ล้านคน ซึ่งอยู่ใน 58 ค่ายอพยพ ทั้งในปาเลสไตน์และประเทศใกล้เคียง เช่น จอร์แดนมากกว่า 2.3 ล้านคน (ค่ายอพยพ 10 แห่ง) 1.5 ล้านคนในกาซ่า (โดยมีผู้อพยพร้อยละ 70 อีกทั้งใช้ชีวิตในค่ายอพยพ 8 แห่งบริเวณฉนวนกาซ่า) 8.7 แสนคนในเวสต์แบงก์ (ค่ายอพยพ 19 แห่ง) 5.7 แสนคนในซีเรีย (ค่ายอพยพ 12 แห่ง) และ 4.8 แสนคนในเลบานอน (ค่ายอพยพ 12 แห่ง) (Mohammad Haddad, 2022)

🔸 ความตระหนักรู้ของเราเกี่ยวกับเรื่องราวของชาวปาเลสไตน์ที่ถูกขับไล่ออกจากบ้านเกิด” รวมถึง “ถูกทำให้สูญหายทั้งตัวตน ชีวิต และวัฒนธรรม” นั้นน้อยมาก
อีกทั้งไม่ (ค่อย) ถูกพูดถึงในพื้นที่สาธารณะและไม่ค่อยถูกเสนอ เพราะเกี่ยวข้องกับภัยความมั่นคง ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ และอื่นๆ มากมาย ทั้งที่ มันคือ “โศกนาฏกรรมครั้งใหญ่แห่งการทำลายล้าง”
แค่เฉพาะปี 1948-1956 มีชาวปาเลสไตน์ถูกบังคับให้ออกจากบ้านเกิดกว่า 300,000 คน อีกทั้งปี 1967-2000 ชาวปาเลสไตน์ถูกกวาดล้างในเวสต์แบงก์และกาซ่ามากถึง 250,000 คน

นอกจากนี้ Michael Prior (1999) ยังกล่าวใน “Zionism and the State of Israel: A moral inquiry” ซึ่งพิมพ์ใน London โดย Routledge นั้นได้นำเสนอว่า
“ชาวยิวนั้นได้ใช้วิธีการสารพัดเพื่อขับไล่ชาวปาเลสไตน์ออกจากพื้นที่ ไม่ว่าจะเป็นการทำสงครามทางเศรษฐกิจเพื่อทำลายระบบขนส่ง พาณิชย์ และการลำเลียงอาหาร รวมทั้งวัตถุดิบไปยังพื้นที่ชนบท ทำสงครามทางจิตวิทยา สร้างความหวาดกลัวด้วยขบวนการก่อการร้ายใต้ดิน ทำลายชุมชนและจัดส่งกองกำลังไปประจำการ “ถือเป็นการกระทำที่รุนแรงและใช้อาวุธในการสังหาร ซึ่งต่างจากการโฆษณาชวนเชื่อข้างต้นว่า “ปราศจากอาวุธ”
โดย Michael Prior สรุปว่า ข้อมูลจากชาวอิสราเอลเองได้ยืนยันว่า ชาวอาหรับในชนบทเกือบทุกชุมชนที่ถูกอิสราเอลยึดครองนั้นประสบชะตากรรมอันเหี้ยมโหด มีบ้างที่ถูกฆาตกรรม สังหารหมู่ รวมทั้งถูกข่มขืน” (Michael Prior, 1999: 195-196)

ส่วนนักวิชาการชาวยิวอย่าง Ilan Pappe (2017) ได้นำเสนอใน “Ten Myths about Israel” ซึ่งตีพิมพ์โดย Verso Books แห่ง New York สรุปว่า
“เหตุการณ์ในปี 1948 นั้น อิสราเอลมีการลงโทษหมู่บ้านชาวปาเลสไตน์ด้วยการรื้อถอนบ้านของพวกเขาในเวสต์แบงก์และฉนวนกาซา ซึ่งกองทัพอิสราเอลได้ระเบิดบ้านมากกว่า 100 หลังในทุก ๆ ปี เพื่อตอบโต้การกระทำต่าง ๆ อิสราเอลไม่รีรอที่จะส่งรถดันดินเข้าไป ซึ่งไม่ใช่เพื่อกำจัดตัวอาคารเชิงกายภาพเท่านั้น แต่เพื่อทำลายชีวิตและการดำรงอยู่
ในขณะที่อิสราเอลให้เหตุผลการรื้อถอนบ้านชาวปาเลสไตน์ในบริเวณเยรูซาเล็มนั้นคือ การลงโทษฐานต่อเติมบ้านโดยไม่ได้รับอนุญาตหรือไม่จ่ายค่าน้ำค่าไฟ ยิ่งไปกว่านั้น อิสราเอลเลือกทำลายล้างชาวปาเลสไตน์ด้วยการโบกปูนที่ประตูบ้านจนไม่สามารถเข้าไปในบ้านได้ รวมทั้ง การรังแกชาวปาเลสไตน์แบบวันต่อวันด้วยการถอนต้นไม้ ทำลายผลเพาะปลูก สุ่มยิงบ้านและยานพาหนะ
หนึ่งในกลยุทธ์ของชาวยิวไซออนิสต์ที่ใช้มาโดยตลอดคือ การสังหารโดย “ยิงนัดเดียว ฆ่าสองคน” (1 Shot 2 Kills) ซึ่งเน้นการสังหารเด็กปาเลสไตน์ด้วยการซุ่มยิงแม่ที่ตั้งครรภ์ โดย “เด็กถูกสังหารตลอดระยะเวลา 13 ปีสูงถึง 15,000 คน” ปรากฏการณ์เหล่านี้ ชาวยิวได้อธิบายว่า “สาเหตุที่พวกเขาต้องสังหารเด็ก เพราะเด็กคือ คนรุ่นใหม่ พวกเขาคือ ตัวแทนของอนาคต”

🔸 ข้อมูลได้ระบุว่า ตั้งแต่ปี 2000 นั้นมีการโจมตีอย่างน้อยเดือนละ 100 ครั้ง เห็นได้จากบันทึกของ Amnesty International ได้ระบุในปี 2015 และ Middle East Monitor ว่า
“ในเวสต์แบงก์ รวมถึงเยรูซาเล็มตะวันออก กองกำลังอิสราเอลสังหารพลเมืองและเด็กชาวปาเลสไตน์โดยมิชอบด้วยกฎหมาย และจับกุมชาวปาเลสไตน์นับ 1,000 ที่ประท้วงหรือต่อต้านการยึดครองทางการทหารของอิสราเอล โดยกักขังคนนับร้อยภายใต้การควบคุมตัว มีการทรมาน และการปฏิบัติอย่างทารุณอื่น ๆ เช่น การทุบตี การล่ามนักโทษไว้กับประตูหรือเก้าอี้เป็นเวลาหลายชั่วโมง การสาดน้ำเย็นและราดน้ำร้อน การดึงนิ้ว และการบิดอัณฑะ”

ซึ่งแน่นอน การสังหารที่มิชอบด้วยกฎหมายนั้น ในปี 1967 อิสราเอลได้สังหารชาวปาเลสไตน์จำนวน 15,000 คน ซึ่งจากจำนวนเหล่านั้นมีเด็กถูกสังหารจำนวน 2,000 คน (Ilan Pappe, 2563: 101-102)

🔸 เราอาจไม่เคยรู้เลยว่า ชะตากรรมของชาวปาเลสไตน์เป็นอย่างไร แต่ชีวิตที่ถูกพลัดพรากจากบ้านเกิดมันหดหู่ยิ่งนัก ซึ่งหนึ่งในครอบครัวที่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์นักบะห์ คือ…. ครอบครัวของตระกูลอะบูฆอลี (Abu Ghali)
โดยเรื่องราวดังกล่าว ถูกพูดถึงโดย Rafat Abu Ghal (2010) ในเรื่อง “Palestinian Arabs Should Be Returned to Their Homes’, in Myra Immell, Perspectives on Modern World History: The Creation of the State of Israel” นำเสนอที่ Detroit โดยสำนักพิมพ์ Gale and Greenhaven Press ระบุว่า

“ครอบครัวของเขานั้นสูญเสียทุกอย่าง ซึ่งเหตุการณ์นักบะห์นั้นเป็นความทรงจำที่โหดร้ายที่สุด พวกเราต้องย้ายที่นอนทุกคืน พวกเราเคยอาศัยบนแผ่นดินของเรา มีพืชพันธุ์ธัญญาหาร สิ่งเพาะปลูก และอาหารบริโภคด้วยตนเอง แต่ต่อมา เราต้องกลายเป็นผู้พลัดถิ่น และต้องคอยอาหารจากการช่วยเหลือของต่างชาติ พวกเราได้บอกเล่าให้บุตรหลานของเรารู้ถึงแผ่นดินเกิดของเราจนพวกเขารับรู้เป็นอย่างดี แต่น่าเสียดาย ทั้งหมดเหล่านั้นเหลือแค่เพียงความทรงจำที่ตราตรึงในหัวใจของเรา” (Rafat Abu Ghal, 2010: 145)

นอกจากนี้ เขายังกล่าวว่า
“แม้จะมีกระบวนการสันติภาพ แต่มันก็ไม่เกิดผลอะไรมากมาย แม้ชาวอิสราเอลออกจากกาซ่า แต่พวกเขาก็ยังวางระเบิดจากน่านฟ้าใส่พวกเรา พวกเราอาศัยในคุกที่เป็นบ้านเกิดของเราเอง ไม่สามารถออกไปไหนได้ ไม่มีความปลอดภัย ไม่มีอะไรสักอย่าง อีกทั้งพวกเราไม่รู้ว่าจะเกิดอะไรขึ้นกับตัวเราและลูกเมียของเรา อาวุธของพวกเราคือ การศึกษา แต่โชคไม่ดีที่สิ่งดังกล่าวกำลังเสื่อมสภาพ” (Rafat Abu Ghal, 2010: 147)

🔸เราไม่อยากให้เกิดการสูญเสีย และเสียใจกับผู้ที่สูญเสียบุคคลอันเป็นที่รัก
แต่เมื่อสมรภูมิประวัติศาสตร์แห่งนี้ มันมีความอยุติธรรม และการกดขี่ รวมทั้งการรุกล้ำและยึดครองดินแดนซึ่งเป็นบ้านเกิดชาวปาเลสไตน์ มันจึงเลี่ยงยาก
เมื่อหลับตาดูสมรภูมิแห่งนี้ ก็จะเห็นว่า…
การโต้กลับของฮามาส ถือ เป็นโศกนาฏกรรมเพียงหยิบมือเดียว หากเทียบกับการสูญเสียของชาวปาเลสไตน์มากกว่าร้อยปี ผู้อพยพหลายล้านคนพลัดถิ่น และปัญหาอีกมากมายที่เราต่างไม่ค่อยรู้กัน

อย่างไรก็ตาม สมรภูมินี้จะไม่มีวันสิ้นสุด หากผู้มีส่วนได้ส่วนเสียไม่เข้าไปคลี่คลาย
อีกทั้ง การคลี่คลายที่ดีที่สุดคือ…
“คืนดินแดนของผู้ถูกอธรรมกลับคืนเจ้าของ”
หากไม่เป็นเช่นนั้น…
ก็จะมีการหลั่งเลือดจนกระทั่งวันสิ้นโลก

เพราะ “ผู้ถูกกดขี่และรุกราน” ยอมพลีชีพเพื่อสงครามศักดิ์สิทธิ์ อีกทั้ง ทุกคนโหยหาและปรารถนาจะตายเพื่อเป็น “นักรบในสมรภูมิสงครามในนาม “ชะฮีด”

เพราะนักรบชาวปาเลสไตน์เหล่านี้เชื่อว่า
“การโต้กลับของพวกเขาเพื่อทวงดินแดนบ้านเกิดคือ ความชอบธรรม”

“ตั้งแต่วันนั้น พวกเขาไม่มีอะไรต้องเสียอีกแล้ว แม้แต่พลีชีพก็ถือว่า คุ้มค่าที่สุดเพื่อบ้านเกิด ครอบครัว และคนที่รัก”

เมื่อเป็นเช่นนั้น…
ผู้บริสุทธิ์อีกมากมายที่จะสังเวย!!!

เอ. อาร์. มูเก็ม
10 ตุลาคม 2566