อดีตหน.พรรคปชป. ห่วงแจกเงินดิจิทัล ซ้ำรอยจำนำข้าว ยิ่งแถลงก็ยังไม่เห็นความชัดเจน ทางด้าน ป.ป.ช. ตั้งทีมปราบโกงแจกเงินดิจิทัล อย่าให้ซ้ำจำนำข้าว ย้ำเตือนแล้วไม่ฟัง หากเสียหายต้องรับผิดชอบ
วันที่ 12 ต.ค.2566 ที่ รัฐสภา นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฐ์ สส.บัญชีรายชื่อ และ อดีตหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) ให้สัมภาษณ์ถึงนโยบายดิจิทัลวอลเล็ตของรัฐบาลว่า เรื่องนี้เป็นเรื่องที่รัฐบาลเป็นคนติดกระดุมเม็ดแรก ตั้งแต่ตอนหาเสียง ฉะนั้น หากไม่ทำคงไม่ได้ ซึ่งตนเคยพูดตอนที่รัฐบาลแถลงนโยบายแล้วว่า เป็นสิ่งที่ต้องทำตามที่พูดไว้ในตอนที่หาเสียง แต่ขณะเดียวกันต้องอยู่บนความรับผิดชอบต่อผลที่จะตามมาด้วย เพราะตอนที่หาเสียง ก็มีเสียงท้วงติงมาเยอะ มาถึงตอนนี้หากไม่ทำคงไม่ได้แล้ว
“อย่างไรก็ตาม สิ่งที่รัฐบาลต้องรับฟังคืออย่าให้นโยบายนี้ซ้ำรอยกับนโยบายจำนำข้าว เนื่องจากมีหลายฝ่ายเป็นห่วง จนถึงวันนี้ยังสะท้อนว่ารัฐบาลยังมะงุมมะงาหรา เพราะยังไม่มีความชัดเจนว่าจะทำอย่างไรและจะเอาเงินมาจากไหน แม้จะมีการแถลงเป็นระยะก็ตาม ยิ่งแถลงสะท้อนว่าความชัดเจนยังไม่เกิดขึ้น คิดว่าสิ่งนี้เป็นสิ่งที่รัฐบาลต้องเร่งทำ ไม่เช่นนั้นในระบบเศรษฐกิจก็จะขาดความเชื่อมั่น” นายจุรินทร์ กล่าวทั้งนี้ สิ่งที่ตนเตือนว่าอย่าให้ซ้ำกับจำนำข้าวนั้น เพราะจำนำข้าวก็เริ่มต้นแบบนี้ ท่ามกลางเสียงทักท้วง และ คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตประพฤติมิชอบ (ป.ป.ช.) รวมถึงหลายฝ่ายก็ติดตาม แต่อย่างน้อยแล้ววันนี้จะมีการประชุมคณะกรรมาธิการ (กมธ.) การพัฒนาเศรษฐกิจ ตนจะเสนอเรื่องนี้เข้าสู่ กมธ. เพื่อให้ติดตามเรื่องนี้ด้วย
ส่วนกรณีที่มีการรวบรวมรายชื่อเพื่อนำไปร้องผู้ตรวจการแผ่นดินเพื่อคัดค้านนโยบายดิจิทัลวอลเล็ตนั้น ตนขอไม่วิพากษ์วิจารณ์ เพราะเรื่องนี้มีความเห็นทั้งสองฝ่าย แต่สำหรับตนคิดว่าเมื่อรัฐบาลติดกระดุมเม็ดแรก ก็ต้องติดกระดุมเม็ดที่สองต่อ หากผิดก็ต้องรับผิดชอบ และเป็นเรื่องที่ต้องมีการติดตามกันต่อไป “อย่าให้เหมือนจำนำข้าว ซึ่งเป็นบทเรียนและอย่าให้เป็นบทเรียนซ้ำรอย” นายจุรินทร์ กล่าว
ต่อข้อถามว่า การประชุมพรรคร่วมฝ่ายค้านมีความคืบหน้าอย่างไรบ้าง นายจุรินทร์ กล่าวว่า วันนี้ตนจะได้หารือร่วมกับพรรคร่วมฝ่ายค้าน ซึ่งจะมีการประชุมกันในเวลา 13.30 น. เราพร้อมที่จะทำงานร่วมกับพรรคร่วมฝ่ายค้านทุกพรรค ในการตรวจสอบติดตามการทำงานของรัฐบาลแทนประชาชน ซึ่งเป็นเรื่องผลประโยชน์ของประชาชนไม่ใช่เราไปขัดขวางการทำงานของรัฐบาล.โดยก่อนหน้านี้ ในการประชุมสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เมื่อวันที่ 11 ต.ค.2566 ที่ประชุม มีมติให้ สำนักงานป.ป.ช.ตั้ง คณะกรรมการพิจารณาศึกษาโครงการดิจิทัลวอลเล็ต 10,000 บาท โดยให้เชิญนักวิชาการ ผู้เชี่ยวชาญ ผู้ทรงคุณวุฒิด้านการเงิน ด้านเศรษฐศาสตร์ และ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) มาร่วมเป็นคณะกรรมการ เพื่อศึกษารายละเอียดโครงการดังกล่าวว่า มีข้อน่าห่วงใย หรือ ความสุ่มเสี่ยงที่จะก่อให้เกิดปัญหาการทุจริต หรือ ผลกระทบด้านเศรษฐกิจในระยะยาวตามที่มีนักวิชาการ และ อดีตผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.)ท้วงติงมาหรือไม่ ขณะนี้อยู่ระหว่างการให้สำนักงานป.ป.ช.ไปพิจารณาจะเชิญบุคคลใดบ้าง มาร่วมเป็นคณะกรรมการชุดดังกล่าว เพื่อสรุปความเห็นโครงการ และให้ข้อเสนอแนะไปยังรัฐบาล แต่ยังไม่ได้ระบุกรอบเวลาชัดเจน จะใช้เวลาศึกษานานเท่าใด
นายนิวัติไชย เกษมมงคล เลขาธิการป.ป.ช. เปิดเผยว่า ตามมาตรา 32 พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ(ป.ป.ช.) ให้อำนาจ ป.ป.ช.ให้คำแนะนำหน่วยงานรัฐและรัฐบาล เพื่อให้วางมาตรการป้องกันการทุจริต หรือ ข้อห่วงใยที่อาจเกิดขึ้นกับการดำเนินโครงการต่างๆที่มีความสุ่มเสี่ยงได้ เบื้องต้นในโครงการดิจิทัลวอลเล็ต ป.ป.ช.จะรวบรวมประเด็นที่มีข้อถกเถียง และเชิญผู้มีความรู้ ผู้ทรงคุณวุฒิมาศึกษาร่วมกันว่า โครงการมีความสุ่มเสี่ยง หรือข้อควรระวังในการดำเนินการหรือไม่ จากนั้นถ้ามีข้อห่วงใยจะเสนอความเห็นไปยังครม.หรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้ปรับปรุงการปฏิบัติราชการ
“เหมือนกับโครงการจำนำข้าวที่ป.ป.ช.เคยตั้งคณะกรรมการขึ้นมาศึกษาก่อนหน้านี้ ทั้งนี้ หากป.ป.ช.มีข้อเสนอแนะ หรือ ข้อท้วงติงแจ้งไปยังครม.แล้ว หากครม.ไม่ปฏิบัติตามแล้วเกิดความเสียหายขึ้นมา ก็ต้องรับผิดชอบ เพราะถือว่าเตือนแล้ว แต่ไม่ฟัง เมื่อเกิดปัญหาต้องรับผิดชอบ” เลขาฯป.ป.ช.ระบุ