การเดินทางไปประกอบพิธีฮัจย์ของพี่น้องมุสลิมไทย เมื่อครั้งที่ผ่านมา ประสบปัญหาหลายประการ ทั้งจากการบริหารจัดการภาครัฐ การบริหารจัดการของเอกชน มีการขึ้นราคาจนฮุจยาตบางคนไม่สามารถเดินทางไปได้ และจำนวนมากประสบเหตุถูกลอยแพ เป็นปัญหาที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยคนใหม่ อนุทิน ชาญวีรกูล จะต้องจัดการให้เกิดความโปร่งใส
การเดินทางทางไปประกอบพิธีฮัจย์ของพี่น้องมุสลิมไทย ปี 2566 มีการลวงทะเบียนเกือบ 12,000 คน เกือบเต็มโควต้า แต่เดินทางไปไม่ถึงจำนวนที่ลงทะเบียน จากปัญหาการขอเก็บเงินเพิ่มในช่วงสุดท้ายก่อนเดินทางไปจำนวน 40,000 บาท/คน เป็น 1 ของความไม่โปร่งใสในการบริหารงาน ซึ่ง Mtoday ได้รับการร้องเรียนจากฮุจยาตจำนวนมาก สรุปปัญหาได้ ดังนี้
1.การขึ้นราคาค่าพักในทุ่งมีนา จำนวน 40,000 บาท ในช่วงก่อนการเดินทางไปไม่กี่วัน ทำให้ค่าเดินทางไปประกอบพิธีฮัจย์ของพี่น้องมุสลิมพุ่งสูง ต่ำสุด ราคา 265,000 บาท จากระดับ 220,000 บาท เมื่อปีก่อน
กรณีนี้ มีรายงานว่า ในช่วงของการเตรียมการเดินทาง คณะอามิรุ้ลฮัจย์ ได้ประชุมร่วมกับซาอุดิอาระเบีย ทางซาอุฯ ลดค่าพักที่ทุ่งมีนา จำนวน 20,000 บาท จาก 60,000 บาท เหลือ 40,000 บาท ซึ่งเงินก้อนนี้ ทางกระทรวงมหาดไทย จะเป็นผู้เก็บส่งให้ทางสถานเอกอัคราชทูตซาอุดิอาระเบีย เพื่อส่งต่อไปยังผู้จัดการฮัจย์ที่มักกะห์
การบริหารจัดการฮัจย์ ที่ฮุจยาตไทยเดินทางไปนั้น ในช่วงก่อนพิธีฮัจย์ จะเดินทางไปมาดีนะห์ จำนวน 8 วัน ที่เหลือพักที่มักกะห์ ซึ่งส่วนนี้เอกชนไทยผู้นำฮุจยาตไปจะเป็นผู้บริหารจัดการ ในการเช่าที่พัก อาหาร และการอำนวยความสะดวกด้านอื่น ในช่วงพิธีฮัจย์ ฮุจยาตทั้งหมดจะเข้าพักแรมที่ทุ่งมีนา ประมาณ 5 วัน ส่วนนี้ซาอุฯจะเป็นผู้บริหารจัดการ ในส่วนของที่พักและอาหาร ส่วนด้านพิธีการ จะมีตัวแทนผู้ประกอบการและเจ้าหน้าที่ของสำนักจุฬาฯ เป็นผู้ให้คำแนะนำ
ในส่วนของค่าบริการจัดการที่ทุ่งมีนา ที่มีการอ้างว่า ทางซาอุฯเรียกเก็บเงินเพิ่มจำนวน 40,000 บาท จากเดิมที่คณะอามิรุ้ลฮัจย์ไปประชุมกับทางซาอุฯ ลดราคาให้ 20,000 บาท ซึ่งจำนวน 40,000 บาท ในการพักที่มีนา จำนวน 4-5 วัน ก็ยังนับว่า แพงแล้ว เพราะที่พักเป็นเต้นท์ อาหาร 3 มื้อ ก็ส่งมาจากประเทศไทย และบางมื้อก็มี ‘มาม่า’ หากเพิ่มเป็น 80,000 บาท เป็นราคาของมหาเศรษฐีแล้ว ซึ่งสวนทางกับข้อเท็จจริงที่ฮุจยาตกินอาหารกล่อง นอนเต้นท์ นอนฟูกเก่าๆ
การเก็บเงินเพิ่มทางกระทรวงมหาดไทย เป็นฝ่ายแจ้งข้อมูลกับผู้ประกอบการมาเก็บจากฮุจยาต และส่งต่อให้สถานเอกอัคราชทูตซาอุฯ ซึ่งทางฮุจยาตบางส่วนได้ข้อเอกสาร การขอเงินเพิ่มจากซาอุฯ และขอสำเนาการส่งเงินให้สถานทูต แต่ทางสำนักงานการบริหารศาสนาอิสลาม กรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย ปฏิเสธที่จะให้ข้อมูล ทั้งที่เป็นผลประโยชน์ของฮุจยาต ที่เป็นประชาชนคนไทย
กรณีการขอเก็บเงินเพิ่มโดยกะทันหันก่อนการเดินทางไม่กี่วัน เพิ่งเกิดขึ้นเป็นครั้งแรก สร้างความโกลาหนให้กับผู้ประกอบการ และคณะฮุจยาตจำนวนมาก ที่จะต้องหาเงินมาเพิ่ม ซึ่งโดยปกติ ผู้จะได้ทางไปฮัจย์เก็บหอมรอมริบเงินจำนวนนี้มาเป็นเวลานาน การขอเพิ่มในช่วงเวลาไม่กี่วันหลายคน ไม่สามารถจัดหามาได้ ซึ่งทำให้มีฮุจยาจมากกว่า 1,000 คน ใน 3 จังหวัดชายแดนใต้ ไม่ได้เดินทางไป และมีจำนวนหนึ่งที่ได้เดินทางไป โดยไม่จ่ายเงินเพิ่ม และทำให้ถูกลดการดูแลที่มักกะห์ ที่มีข่าวว่า ฮุจยาตถูกลอยแพ ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากการเก็บเงินเพิ่ม
2.ค่าตั๋วเครื่องบิน ทำไมตั๋วเครื่องบินของฮุจญาตไทยแพงกว่าตํ่วเครื่องบินของฮุจยาตพม่า ที่เดินทางจากพม่ามาขึ้นเครื่องบินที่สุวรรณภูมิ
ค่าเครื่องบินของฮุจยาตไทย ในการเดินทางไปครั้งนี้จำนวน 70,000 กว่าบาท แต่ฮุจญาตพม่า 40,000 กว่าบาท แตกต่างกันเกือบเท่าตัว โดยของไทยทางกระทรวงมหาดไทย อ้างว่า ทางซาอุฯ ให้บินโดยสายการบินแห่งชาติ คือการบินไทย ซึ่งการบินไทยบินเหมาลำ เที่ยวเดียว คือ ไปส่งและไปรับ เมื่อไปส่งเสร็จแล้ว จะตีเครื่องเปล่ากลับ เมื่อถึงเวลาไปรับจะตีเครื่องเปล่าไปรับกลับ ทำให้ต้นทุนสูงขึ้น แต่โดยข้อเท็จจริง เมื่อถึงวันเดินทาง มีการนำเครื่องบินโลว์คอสต์มารับฮุจยาต
ในขณะที่พม่า ใช้เครื่องบินของกาตาร์แอร์ไลน์ บินจากสุวรรณภูมิ ราคาถูกกว่า เครื่องบินดีกว่า
กรณีนี้ ปัญหาเกิดจากอะไร มาจากระเบียบของทางซาอุฯ หรือมาจากการบริหารจัดการของไทย ที่มีข้อสงสัยว่า มีการกินส่วนต่างจากค่าเครื่องบินหรือไม่ จากจำนวนเงินที่สูงเกินจริงคนละ 30,000 บาท จำนวน 10,000 กว่าคน เป็นเงิน 300 ล้านบาท เมื่อรวมเงินที่บวมขึ้นจากการเรียกเก็บของซาอุฯ อีก 400 ล้านบาท รวมเป็น 700 ล้านบาท
เงินจำนวน 700 กว่าล้านบาท เป็นเงินที่ฮุจยาตจ่ายเกินความจำเป็น เป็นค่าใช้จ่ายจริงให้สายการบิน ให้ทางการซาอุฯ หรือ ตกหล่นอยู่ที่ใครหรือไม่ มีใครหากินกับความศรัทธา หากินกับการเดินทางไปประกอบพิธีฮัจย์ของพี่น้องมุสลิมหรือไม่
ก่อนหน้านี้ การบริหารจัดการฮัจย์ เป็นหน้าที่ของกรมการศาสนา ซึ่งทาง สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ได้เสนอแก้กฎหมายให้มาขึ้นกับกรมการปกครอง ด้วยเหตุผลว่า การบริหารจัดการของกรมการศาสนา มีปัญหามากมาย เพราะมีเจ้าหน้าที่น้อย ที่เป็นมุสลิมแค่ 2-3 คน แต่กรมการปกครอง มีหน้าที่บริหารจัดการองค์กรศาสนาอิสลาม ตามพ.ร.บ.การบริหารศาสนาอิสลาม ปี 2540 อยู่แล้ว และมีเจ้าหน้าที่ครอบคลุมทั่วประเทศ สามารถดูแลผู้จะเดินทางไปฮัจย์ได้ทั่วถึง
แต่ไม่กี่ปี ของการบริหารกิจการฮัจย์ ของกรมการปกครอง ก็มีปัญหาไม่แพ้กัน ยังมีปัญหาการลอยแพฮุจยาต มีปัญหาคนของสำนักงาน ไปแสดงตน เป็นอามิรุ้ลฮัจย์เสียเอง และประเด็นสำคัญคือ การถามหาความโปร่งใสในการจัดการที่เกี่ยวกับผลประโยชน์ของฮุจยาต
โดยข้อเท็จจริง การบริหารกิจการฮัจย์ ยังมีคณะกรรมการส่งเสริมกิจการฮัจย์ ที่มีข้าราชการระดับสูงจากหลายกระทรวงเป็นคณะกรรมการ และคณะอามิรุ้ลฮัจย์ ทำหน้าที่ดูแลฮุจยาต แต่ที่ผ่านมา 2 องค์กรนี้ ได้ทำหน้าที่ดูแลผลประโยชน์ของฮุจยาตอย่างจริงจังเท่าที่ควรจะเป็นหรือไม่ ทั้งที่มีข้อร้องเรียนจำนวนมาก โดยเฉพาะคณะอามิรุ้ลฮัจย์ ที่เป็นมุสลิม ดูเหมือนว่า ได้ดูแลผลประโยชน์ของฮุจยาตเท่าที่ควรจะเป็นหรือไม่หรือว่า ทำหน้าที่แค่พิธีการ เพราะถ้ามีการบริหารจัดการที่ดี คงไม่สร้างความเคลือบแคลงใจให้กับพี่น้องมุสลิม หากเงินจำนวนนี้ เป็นเงินที่ไม่ควรจะเสีย จะทำให้ฮุจยาตประหยัดเงินมากถึง 70,000 บาท ค่าเดินทางไปประกอบพิธีฮัจย์ ก็จะอยู่ในระดับ 200,000 บาท มุสลิมอีกจำนวนมากอาจจะมีโอกาสเดินทางไปประกอบพิธีฮัจย์ครั้งหนึ่งในชีวิต และอย่าให้ครั้งหนึ่งในชีวิตของมุสลิมที่ไปฮัจย์ต้องประสบกับชะตากรรมที่ไม่ดี
ขณะนี้ ทราบว่า มีบรรดาฮุจยาตที่รู้สึกว่า ตัวเองไม่ได้รับความเป็นธรรม กำลังรวบรวมรายชื่อให้ได้ 100 คน เพื่อฟ้องกระทรวงมหาดไทย คณะกรรมการส่งเสริมกิจการฮัจย์ และคณะอามิรุ้ลฮัจย์ให้รับผิดชอบต่อสิ่งที่เกิดขึ้น
ปัญหาความคลุมเครือในการบริหารกิจการฮัจย์ของกระทรวงมหาดไทย นายอนุทิน ชาญวีรกูล รมว.มหาดไทย จะต้องเข้ามาสังคายนาให้เกิดความโปร่งใสความมั่นใจกับพี่น้องมุสลิมให้ได้ หรือจะมอบหมายให้นายชาดา ไทยเศรษฐ์ รมช.มหาดไทย เข้ามาสะสาง ล้างความไม่โปร่งใสในการบริหารกิจการฮัจย์ เพื่อให้ความเป็นธรรมแก่บรรดาฮุจยาต จะได้ใจมุสลิมไทยทั่วประเทศทีเดียว