นโยบาย มหาดไทย ยุค “อนุทิน ชาญวีรกูล” ปราบผู้มีอิทธิพล ประปาดื่มได้ หนุนพลังงานสะอาด ดันเศรษฐกิจชุมชน ยึดหลัก “ทันโลก ทันสมัย ทันท่วงที”
วันที่ 18 กันยายน 2566 ที่โรงแรมรามาการ์เด้นส์ นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย พร้อมด้วย นายทรงศักดิ์ ทองศรี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย, นายชาดา ไทยเศรษฐ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย, นายเกรียง กัลป์ตินันท์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย, นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย รวมทั้ง ผู้บริหาร ข้าราชการ และบุคลากร ภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง ได้ร่วมประชุมเพื่อขับเคลื่อนนโยบายของกระทรวงมหาดไทยโอกาสนี้ นายอนุทิน ได้มอบนโยบายกระทรวงมหาดไทย ระบุว่า ทางกระทรวงฯ มีนโยบายสำคัญ 10 ประเด็น ซึ่งในจำนวนนี้เป็นประเด็นเน้นย้ำจำนวน 4 ประเด็น ได้แก่
1. การปกป้องและเทิดทูนสถาบันหลักของชาติ หมายถึงการดำเนินงานเพื่อส่งเสริมการ “พิทักษ์รักษาไว้ซึ่งสถาบันหลักของชาติ” คือ ชาติ ศาสนา และสถาบันพระมหากษัตริย์
2. น้ำดื่มสะอาดฟรี ลดค่าใช้จ่ายให้ประชาชน ให้บูรณาการความร่วมมือระหว่างองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น การประปานครหลวง การประปาส่วนภูมิภาค และหน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้อง เพื่อขับเคลื่อนให้ครัวเรือนสามารถเข้าถึงน้ำสะอาดเพื่อการอุปโภคบริโภคอย่างทั่วถึง
3. การลดค่าใช้จ่ายพลังงานไฟฟ้าและน้ำมันของทุกส่วนราชการ สร้างต้นแบบ ให้ประชาชนได้เห็นตัวอย่างของการใช้พลังงานทางเลือก ด้วยการส่งเสริมการติดตั้ง Solar Cell / Solar Rooftop ในสถานที่ราชการและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และใช้กับไฟฟ้าส่องสว่างสาธารณะ นอกจากนี้ยังต้องส่งเสริมสนับสนุนให้สถานที่ราชการและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ
4. การจัดระเบียบสังคม ปราบปรามผู้มีอิทธิพล หรือกลุ่มที่มีการใช้อำนาจเหล่านั้นในทางมิชอบ “หน้าที่ของกระทรวงมหาดไทยคือ มุ่งเน้นการจัดระเบียบสังคมเพื่อสร้างสังคมให้สงบสุข บ้านเมืองเป็นระเบียบเรียบร้อย ปลอดอบายมุข ประชาชนมีความมั่นคงปลอดภัย สิ่งใดที่ขัดกับความมุ่งหมายนี้ ก็คือสิ่งที่เราต้องใช้กลไกของรัฐในการกำจัดให้สิ้นไป”
นายอนุทิน กล่าวเพิ่มเติมว่า นอกจาก 4 นโยบายมุ่งเน้น ยังมีประเด็นนโยบายสำคัญเพิ่มเติม ในการขับเคลื่อน ประกอบด้วย5. พลังงานสะอาด มุ่งเน้นการใช้พลังงานสะอาด โดยสนับสนุนให้มีการติดตั้งพลังงานแสงอาทิตย์ (Solar Cell) ในที่อยู่อาศัย เพื่อเป็นการลดค่าใช้จ่ายกระแสไฟฟ้าให้กับประชาชน รวมไปถึงการเพิ่มรายได้ จากการจำหน่ายกระแสไฟฟ้าส่วนเกินที่ผลิตได้ให้แก่รัฐ ตลอดจนส่งเสริมให้ครัวเรือนและชุมชนสร้างรายได้จากพลังงานสะอาด โดยการจัดตั้งธนาคารคาร์บอนเครดิตในพื้นที่ทุกจังหวัด
6. การบริการประชาชนแบบ One Stop Service มุ่งหน้าสู่ระบบรัฐบาลดิจิทัลเป็นแนวทางสำคัญของรัฐบาล ที่ถือเป็นการสร้างโครงสร้างพื้นฐานให้ประเทศในอีกรูปแบบหนึ่ง กระทรวงมหาดไทย จะนำเทคโนโลยีดิจิทัล ที่ทันสมัยมาใช้ในการปฏิบัติราชการ การทำธุรกรรม เพิ่มประสิทธิภาพ และความโปร่งใส ซึ่งนอกจากจะอำนวยความสะดวกในการปฏิบัติราชการแล้ว ยังเพิ่มความสามารถในการให้บริการประชาชนมากยิ่งขึ้น พร้อมไปกับเป็นการลดการใช้ดุลพินิจของเจ้าหน้าที่ ขจัดช่องโหว่ที่เอื้อต่อการทุจริตอีกด้วย7. การอำนวยความสะดวกและดูแลความปลอดภัยนักท่องเที่ยว ส่งเสริมให้จังหวัด อำเภอ และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น วางแผนการพัฒนาแหล่งท่องเที่ยว บูรณาการจากทุกภาคส่วนในพื้นที่ เพื่อจัดระเบียบพื้นที่แหล่งท่องเที่ยว จัดให้มีสิ่งอำนวยความสะดวกต่าง ๆ สำหรับรองรับนักท่องเที่ยวทุกกลุ่ม ไปจนถึงดูแลความปลอดภัยให้แก่นักท่องเที่ยว
8. การส่งเสริมเศรษฐกิจฐานราก การผลิต การตลาด และการจำหน่าย เรื่องการพัฒนาผลิตภัณฑ์ชุมชนตามอัตลักษณ์ที่โดดเด่น (OTOP) ซึ่งสามารถทำได้ด้วยการประสานกับภาคเอกชน เพื่อให้เข้าใจแนวโน้มตลาดมากขึ้น การสร้างพลังสร้างสรรค์ หรือ Soft Power ซึ่งจะนำสู่การส่งออกสินค้าเชิงวัฒนธรรม และนำหลักการตลาดนำ นวัตกรรมเสริม เพิ่มรายได้ให้ผู้ประกอบการในชุมชนท้องถิ่นเป็นหน่วยธุรกิจในการสร้างงานสร้างรายได้ตามแนวทางเศรษฐกิจที่ยั่งยืนด้วย9.การแก้ไขปัญหายาเสพติด เสริมสร้างความเข้มแข็งของหมู่บ้าน ชุมชน ตามแนวทางหมู่บ้าน ชุมชนสีขาวปลอดยาเสพติด มุ่งเน้นการป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติดในระดับพื้นที่อย่างจริงจัง รวมทั้งการป้องกัน ปราบปรามและบังคับใช้กฎหมาย การบำบัดรักษา และการฟื้นฟูสภาพทางสังคม การสื่อสารเชิงรุก ให้มองผู้เสพ คือ ผู้ป่วยนำผู้เสพยาเสพติดไปเข้ารับการบำบัดรักษาและได้รับการฟื้นฟู เพื่อคืนคนดีสู่สังคม โดยบูรณาการการทำงานร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อแก้ปัญหายาเสพติด ให้หมดไปจากสังคมไทย10.สนับสนุนการพัฒนาระบบสาธารณสุขปฐมภูมิ และการเตรียมความพร้อมท้องถิ่นรองรับสังคมผู้สูงอายุ “ที่สุดแล้ว ขอให้บุคลากรทุกท่านยึดหลักการทำงาน ทันโลก ทันสมัย ทันท่วงที ขอให้ช่วยกันพิจารณาว่าระเบียบที่ใช้อยู่นั้น ยังส่งเสริมการทำงานอย่างมีประสิทธิภาพอยู่หรือไม่ อะไรไม่จำเป็นให้ตัดออก อะไรที่ยังทำงานได้ดี ก็ให้ปรับปรุงพัฒนาอย่างต่อเนื่อง โดยมีเป้าหมายเป็นการเติบโตของเศรษฐกิจ การพัฒนาทางสังคม รายได้ และมีความสุขและความพึงพอใจของประชาชน เป็นตัวชีวัดความสำเร็จ” นายอนุทิน กล่าวในที่สุด