“จาตุรนต์” ชงงัด อำนาจ สส. แก้รธน. ชี้หาก พท.ไม่ทำ “หมดหน้าตัก” ของจริง

‘จาตุรนต์’เสนอใช้อำนาจ สส. ผลักดันการแก้รัฐธรรมนูญคู่ขนานกับรัฐบาล ชี้หาก‘เพื่อไทย’ไม่ทำเรื่องนี้จริงจังจะ‘หมดหน้าตัก’ขณะ ‘จุรินทร์’ เย้ย การตั้งคณะกรรมการศึกษาแนวทาง ใครก็อ่านออก รัฐบาล “ยื้อเวลา” หรือไม่

วันที่ 17 ก.ย. 2566 นายจาตุรนต์ ฉายแสง สส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย (พท.) โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก Chaturon Chaisang ดังนี้… การแก้ไขรัฐธรรมนูญสามารถเสนอได้ทั้งโดยคณะรัฐมนตรี สส. และประชาชน การแก้ไขรัฐธรรมนูญ จะเป็นไปอย่างไรนั้น ขณะนี้ต้องดูความชัดเจนจากคณะกรรมการที่รัฐบาลจะจัดตั้งขึ้นว่าจะมีผลการศึกษาและพิจารณาดำเนินการอย่างไร นอกจากนี้ก็ต้องดูด้วยว่าพรรคฝ่ายค้านและภาคประชาชนดำเนินการอย่างไร

ในส่วนของสส. พรรคเพื่อไทยนั้น ผมคิดว่าคงต้องคำนึงถึงนโยบายของพรรคว่าด้วยการแก้ไขรัฐธรรมนูญและผลักดันให้เกิดการแก้ไขตามนโยบายของพรรคให้มากที่สุด

การแก้ไขรัฐธรรมนูญให้เป็นประชาธิปไตยเป็นเรื่องสำคัญที่พรรคเพื่อไทยตั้งแต่ไทยรักไทย พลังประชาชนและเพื่อไทยถือเป็นนโยบายหลักมาตลอด เราคัดค้านร่างรัฐธรรมนูญที่ยกร่างโดยคณะรัฐประหารในการลงประชามติทั้งสองครั้ง และเสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้งฉบับไม่ว่าขณะเป็นรัฐบาลหรือฝ่ายค้าน เราจึงต้องรักษาจุดยืนนี้ไว้

ที่มีการใช้คำพูดกันว่าพรรคเพื่อไทย ยอมเทหมดหน้าตักในการจัดตั้งรัฐบาลนั้น ความจริงแล้วก็ยังไม่หมดหน้าตักเสียทีเดียว คือ พรรคยังมีนโยบายแก้รัฐธรรมนูญและกฎหมายต่างๆที่จะทำให้บ้านเมืองเป็นประชาธิปไตยและกลับคืนสู่การยึดหลักนิติธรรม ถ้าเราไม่ทำเรื่องนี้อย่างจริงจังนั่นแหละจะหมดหน้าตักจริงๆ ดังนั้นจึงจำเป็นต้องทำให้เกิดขึ้นให้ได้ตามที่ประกาศไว้กับประชาชน

ผมจึงคิดว่าสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรของพรรค นอกจากสนับสนุนการแก้ไขรัฐธรรมนูญที่รัฐบาลกำลังจะทำแล้ว ยังสามารถที่จะผลักดันการแก้ไขรัฐธรรมนูญในขอบเขตอำนาจหน้าที่ของสส. คู่ขนานกันไปกับการทำงานของรัฐบาลได้ด้วยด้าน นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รักษาการหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) และ สส.บัญชีรายชื่อ ปชป. กล่าวถึงการแก้ไขรัฐธรรมนูญว่า พร้อมให้การสนับสนุนการแก้ไขรัฐธรรมนูญที่นำไปสู่ความเป็นประชาธิปไตยยิ่งขึ้น โดยมีข้อแม้ว่าต้องไม่แตะ หมวด 1 หมวด 2 และเมื่อรัฐบาลได้แถลงนโยบายต่อรัฐสภาว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญเป็นเรื่องเร่งด่วน ก็เป็นหน้าที่ของรัฐบาลที่จะต้องเร่งทำ ซึ่งศาลรัฐธรรมนูญเคยวินิจฉัยว่า การแก้ไขรัฐธรรมนูญในหลายประเด็นจำเป็นจะต้องมีการทำประชามติก่อน เพราะฉะนั้นก่อนการเสนอร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ รัฐบาลก็มีหน้าที่จะต้องเร่งเดินหน้าในเรื่องของการทำประชามติโดยเร็ว

“ส่วนประเด็นหลักของการที่จะถามในการทำประชามตินั้น เป็นเรื่องที่รัฐบาลควรมีแนวทาง ตั้งแต่ตอนหาเสียงหรือควรมีแนวทางที่ชัดเจนตั้งแต่ก่อนการแถลงนโยบายต่อรัฐสภาแล้ว เพราะแถลงเป็นนโยบายเร่งด่วนสำคัญ และจะไปโยนให้เป็นเรื่องสภาไม่ได้ ส่วนการที่ ครม. มีมติตั้งคณะกรรมการขึ้นมาศึกษาแนวทางจัดทำประชามติก่อนการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ถือเป็นการยื้อเวลาหรือไม่ ใครก็มองออกว่ายื้อเวลาหรือไม่ ซึ่งรัฐบาลอาจกลัวว่าถ้าเสร็จเร็ว อาจจะถูกทวงถามเรื่องการยุบสภาก็ได้” นายจุรินทร์ กล่าว