“หมอเอก” จี้ เร่งตั้งรัฐบาลใหม่ สานต่องานด้านสาธารณสุข ผ่าน รพ.สต.ทั่วไทย

คณะทำงานด้านสาธารณสุข พรรคภูมิใจไทย ชี้ เหตุจำเป็นต้องรีบมีรัฐบาลใหม่ เพื่อทำงานต่อเนื่อง การถ่ายโอนงาน รพ.สต.ให้ท้องถิ่นทั้งประเทศ ราวช่วงเดือน ก.ย.-ต.ค. นี้ โดยจะต้อง เชื่อมโยงระบบสาธารณสุขทุติยภูมิ และตติยภูมิ ด้วยเทคโนโลยีการแพทย์ทางไกลที่ทำได้ในปัจจุบัน เผย 4 ปีที่ผ่านมา พลิกโฉมโครงสร้างพื้นฐานด้านสาธารณสุขไว้เพียบ ให้รัฐบาลใหม่มาสานต่อ

นพ.เอกภพ เพียรพิเศษ คณะทำงานด้านสาธารณสุข พรรคภูมิใจไทย (ภท.) โพสต์เฟซบุ๊กส่วนตัว “หมอเอก Ekkapob Pianpises” ระบุถึงการสานงานต่อของรัฐบาลชุดใหม่ ที่จะต้องรีบดำเนินการ และทำงานต่อเนื่อง โดยในช่วงกันยายน-ตุลาคม จะต้องมีการถ่ายโอน โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล รพ.สต. จากกระทรวงสาธารณสุข ไปสังกัด อบจ.ทั่วประเทศ ซึ่งเริ่มต้นอย่างจริงจังในปีที่ผ่านมา และ จะมีการถ่ายโอน รพ.สต. ชุดใหญ่ในปีนี้ เชื่อ หากมีรัฐบาลใหม่เร็วเท่าไหร่ก็จะช่วยบริหารจัดการให้การถ่ายโอนราบรื่น และแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นอย่างทันท่วงที โดยการปรับโฉมหน้าระบบการสาธารณสุขปฐมภูมิโดยท้องถิ่น ยังต้องให้เชื่อมโยงกับระบบสาธารณสุขทุติยภูมิ และตติยภูมิ ด้วยเทคโนโลยีการแพทย์ทางไกลที่ทำได้ในปัจจุบัน

ทั้งนี้ นพ.เอกภพ ยังระบุว่าช่วง 4 ปีที่ผ่านมา งานด้านสาธารณสุข ได้มีพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานหลายอย่าง ทั้งเรื่อง ศูนย์เพาะเลี้ยงสัตว์สำหรับงานวิจัย , โรงงานผลิตวัคซีน , โรงงานผลิตหน้ากากอนามัย , แอลกอฮอล์ทางการแพทย์ , บรรจุข้าราชการกระทรวงสาธารณสุข 4 หมื่นกว่าตำแหน่ง , โดยที่ประชาชน ได้รับสิทธิประโยชน์เพิ่มเติมจากการปรับปรุงความครอบคลุมของสิทธิหลักประกันสุขภาพ สามสิบบาทรักษาทุกที่ ที่กำลังจะกลายเป็นสามสิบบาทรักษาถึงที่ , มะเร็งรักษาทุกที่ , ฟอกไตฟรีทางเส้นเลือด , ผ้าอ้อม/แผ่นรอง ฟรี สำหรับผู้สูงอายุ-ผู้ป่วยติดเตียง , เจ็บป่วยเล็กน้อย รับยาฟรีที่ร้านขายยาใกล้บ้าน ซึ่งควรจะต้องมีรัฐบาลใหม่เพื่อสานต่องาน โดยมีรายละเอียด ดังนี้

เรื่องสำคัญต่อสุขภาพของประชาชนทั่วประเทศที่กำลังจะเกิดขึ้นในเดือนกันยายน-ตุลาคมนี้ คือ การถ่ายโอน รพ.สต. จากกระทรวงสาธารณสุขไปสังกัด อบจ. ทั่วประเทศ ต่อเนื่องจากงานของรัฐบาลเดิม ซึ่งหากมีรัฐบาลใหม่เร็วเท่าไหร่ก็จะช่วยบริหารจัดการให้การถ่ายโอนราบรื่น และแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นอย่างทันท่วงที

จากสี่ปีที่ผ่านมาในภาวะโรคระบาด สาธารณสุขไทยได้มีการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานหลายอย่าง ไม่ว่าจะเป็น ศูนย์เพาะเลี้ยงสัตว์สำหรับงานวิจัย – ที่ในช่วงทุกประเทศต้องการสัตว์ทดลองเพื่อพัฒนาวัคซีน และยาพร้อมกันทำให้ประเทศเราขาดสัตว์ทดลองมาใช้ทดลองในขั้นตอนสำคัญก่อนจะนำมาทดสอบในคน โรงงานผลิตวัคซีน – ได้รับการพัฒนาให้สามารถผลิตวัคซีนได้เองในประเทศจากหลายเทคนิค วิธีการผลิต จากแต่เดิมเราซื้อวัคซีนจากต่างประเทศแทบทั้งหมด โรงงานผลิตหน้ากากอนามัย แอลกอฮอล์ทางการแพทย์ – มีการลงทุนที่เพิ่มซัพพลายในประเทศได้

และในระบบการรักษาผู้ป่วย ได้มีการบรรจุข้าราชการกระทรวงสาธารณสุขไปถึง สี่หมื่นกว่าตำแหน่ง ทำให้ผู้ปฏิบัติงานมีความมั่นคงในอาชีพ สำหรับประชาชน ได้ประโยชน์เพิ่มเติมจากการปรับปรุงความครอบคลุมของสิทธิหลักประกันสุขภาพ ไม่ว่าจะเป็น

– สามสิบบาทรักษาทุกที่ ที่กำลังจะกลายเป็นสามสิบบาทรักษาถึงที่ในรัฐบาลชุดใหม่

– มะเร็งรักษาทุกที่ เพิ่มความสะดวกในการรับบริการของผู้ป่วยมะเร็ง และยังมีการขยายศูนย์รักษามะเร็งให้ครอบคลุมโรงพยาบาลจังหวัดในแต่ละเขตสุขภาพมากขึ้น เพื่อผู้ป่วยไม่ต้องเดินทางไปรักษาไกลบ้านข้ามจังหวัด

– ฟอกไตทางเส้นเลือดฟรี และ ขยายศูนย์ฟอกไตในระดับอำเภอมากขึ้น

– ผ้าอ้อม/แผ่นรอง ฟรี สำหรับผู้สูงอายุ-ผู้ป่วยติดเตียง เพื่อลดภาระค่าใช้จ่ายของประชาชน

– เจ็บป่วยเล็กน้อย รับยาฟรีที่ร้านขายยาใกล้บ้านที่เริ่มเข้าร่วมโครงการกับ สปสช. มากขึ้นเรื่อยๆ

จนมาถึงการปรับโฉมหน้าระบบการสาธารณสุขปฐมภูมิ ที่มีการถ่ายโอนจากสังกัดกระทรวงสาธารณสุขสู่ท้องถิ่น ซึ่งเริ่มต้นอย่างจริงจังในปีที่ผ่านมา และ จะมีการถ่ายโอน รพ.สต. ชุดใหญ่ในปีนี้

ซึ่งต้องมีการติดตามแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นเพื่อให้ประชาชนไม่ได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น และ ต้องมีการวางรากฐานระบบการแพทย์ปฐมภูมิที่ดูแลโดยท้องถิ่น และยังต้องเชื่อมโยงกับระบบสาธารณสุขทุติยภูมิ ตติยภูมิให้ได้เหมือนเดิม และต้องดีกว่าเดิมด้วยเทคโนโลยีการแพทย์ทางไกลที่ทำได้ในปัจจุบัน

นี่คืองานที่ท้าทายรอให้รัฐบาลชุดใหม่ได้เข้ามาบริหารจัดการเพื่อยกระดับระบบสาธารณสุขไทยไปอีกขั้นให้ประชาชนได้มีสุขภาพดี และมีการรักษาพยาบาลที่ต่อเนื่อง เชื่อมโยง