ครม.‘เศรษฐา 1’ 315 เสียง ไร้เงา‘บิ๊กป้อม’ส่ง‘พัชรวาท’นั่งรองนายกฯแทน สูตร ส.ส.9 คนได้ 1 เก้าอี้ ‘เพื่อไทย’ได้ 16 เก้าอี้ กินรวบกระทรวงเศรษฐกิจ ส่วน‘ภูมิใจไทย’แนวโน้มงานด้านสังคม– สธ.ได้ 8 เก้าอี้รมต. ด้าน‘พลังประชารัฐ’ได้ 2 รมว.+3 รมช. คาด‘ธรรมนัส’นั่งรมช.มหาดไทย ส่วน‘สันติ’เบียด‘ท็อป’ที่ทส. ด้าน‘รวมไทยสร้างชาติ’ 4 เก้าอี้ เล็งก.พลังงาน หึ่งอดีตปลัดพลังงาน นั่งแท่นเสนาบดี
ผู้สื่อข่าวรายงานความเคลื่อนไหวในการจัดตั้งรัฐบาล โดยล่าสุดเมื่อ 11 ส.ค.ที่ผ่านมา การเจรจาร่วมรัฐบาลที่มีพรรคเพื่อไทยเป็นแกนนำ จะปิดดีล ที่พรรครวมไทยสร้างชาติ (รทสช.) เป็นพรรคสุดท้าย รวม 315 เสียง โดยจะไม่มีพรรคประชาธิปัตย์เข้าร่วมรัฐบาล ซึ่งเสียง 315 เสียงประกอบด้วย พรรคเพื่อไทย 141 เสียง พรรคภูมิใจไทย (ภท.) 71 เสียง พรรคพลังประชารัฐ 40 เสียง พรรครวมไทยสร้างชาติ 36 เสียง พรรคชาติไทยพัฒนา (ชทพ.) 10 เสียง พรรคประชาชาติ (ปช.) 9 เสียง พรรคเพื่อไทรวมพลัง (พทล.) 2 เสียง พรรคชาติพัฒนากล้า (ชพก.) 2 เสียง ส่วนพรรคเสรีรวมไทย (สร.) 1 เสียง พรรคพลังสังคมใหม่ 1 เสียง พรรคท้องที่ไทย 1 เสียง พรรคประชาธิปไตยใหม่ 1 เสียง ซึ่งทั้ง 315 เสียง จะร่วมโหวตสนับสนุนนายเศรษฐา ทวีสิน แคนดิเดตนายกรัฐมนตรีจากพรรคเพื่อไทย เป็นนายกรัฐมนตรี ซึ่งถือว่ามีเสียงเกินครึ่งหนึ่งของสภาผู้แทนราษฎร และจะต้องหาเสียง สว.มาสนับสนุนอีก 59 เสียง จะเกินกึ่งหนึ่งของรัฐสภาคือ 374 เสียง ในการโหวตนายกรัฐมนตรี
สำหรับในการเจรจาแบ่งสัดส่วน ครม. คือนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรี 35 คน ขณะนี้ยังเป็นเพียงการแบ่งสัดส่วนโควตาตามจำนวน ส.ส.ของแต่ละพรรคเท่านั้น ยังไม่ได้มีการระบุกระทรวง โดยภาพรวมพรรคเพื่อไทยจะดูแลกระทรวงเศรษฐกิจทั้งหมด อาทิ กระทรวงการคลัง คมนาคม พาณิชย์ เกษตรและสหกรณ์ พลังงาน รวมถึงกระทรวงด้านสังคม คือ กระทรวงมหาดไทย กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ส่วนการแบ่งตำแหน่งรัฐมนตรีนั้น ในเบื้องต้นจะเป็นสัดส่วนดังนี้ พรรคเพื่อไทย 16 เก้าอี้ พรรคภูมิใจไทย ได้รองนายกรัฐมนตรี และรมว. 4 เก้าอี้ รมช. 4 เก้าอี้ ขณะที่พรรคพลังประชารัฐจะได้รองนายกรัฐมนตรี รวมถึงรมว. 2 เก้าอี้ รมช.3 เก้าอี้ ด้านพรรครวมไทยสร้างชาติจะได้ตำแหน่งรมว.2 เก้าอี้ รมช.2 เก้าอี้ ขณะที่พรรคชาติไทยพัฒนา และพรรคประชาชาติ จะได้ รมว.พรรคละ 1 เก้าอี้ โดยใช้สูตร สส. 9 คนได้ 1 เก้าอี้
รายงานข่าวแจ้งว่า ในการตั้งบุคคลที่จะเข้ามาดำรงตำแหน่ง ในส่วนพรรคภูมิใจไทย คาดว่า จะดูแลงานสังคม และแนวโน้มจะได้ดูกระทรวงสาธารณสุขเช่นเดิม และอาจได้เก้าอี้ รมว.พัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) รมว.การอุดมศึกษา วิจัย และนวัตกรรม (อว.) และวัฒนธรรม ขณะที่พรรค ชทพ.ยังยืนยันจะขอดูกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) ส่วนพรรคประชาชาติ คาดว่าพ.ต.อ.ทวี สอดส่อง เลขาธิการพรรค เป็นรมว.ยุติธรรมเช่นเดิม แต่การต่อรองตัวกระทรวงยังไม่ลงตัวนัก โดยพรรค รทสช.ต้องการกระทรวงพลังงานที่พรรคเพื่อไทยเองก็ต้องการ ซึ่งแคนดิเดต รมว.พลังงานของพรรค รทสช. คือ นายณอคุณ สิทธิพงศ์ อดีตปลัดกระทรวงพลังงาน
รายงานข่าวแจ้งว่า สำหรับพรรคพลังประชารัฐนั้น ได้ตำแหน่ง 3 รมช. โดยคาดว่า 1 ในนั้นคือ รมช.มหาดไทย ซึ่งแนวโน้มจะเป็น ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า สส.พะเยา เลขาธิการพรรค ขณะที่นายสันติ พร้อมพัฒน์ รองหัวหน้าพรรค พปชร.คาดว่าจะได้ดำรงตำแหน่ง รมว.ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) แม้พรรคชทพ.ต้องการเก้าอี้ รมว.กระทรวงนี้ และ น.ส.ตรีนุช เทียนทอง จะดำรงตำแหน่ง รมว.ศึกษาธิการเช่นเดิม ส่วน พล.ต.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณ ประธานที่ปรึกษาพรรค พปชร. จะดำรงตำแหน่งรองนายกรัฐมนตรี แต่ยังไม่ชัดเจนว่าจะควบตำแหน่งอะไรหรือไม่ โดยรายชื่อกระทรวงจะมีความชัดเจนหลังจากโหวตนายกรัฐมนตรีเสร็จสิ้นลง ซึ่งแต่ละพรรคก็ต้องไปจัดตามความเหมาะสมและเงื่อนไขปัจจัยของและพรรคต่อไป
“จากการพูดคุยเป็นที่แน่นอนว่าบุคคลที่มาดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีจะไม่มีชื่อของ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รวมถึงจะไม่มีบรรดาแกนนำกปปส. เข้าร่วมเป็นรัฐมนตรีในครม.‘เศรษฐา 1’ด้วย” รายงานข่าว ระบุ.