“มีการให้องค์ประชุมออกจากห้องประชุม มีการให้องค์ประชุมไม่ลงชื่อในการประชุม มีการให้องค์ประชุมไปเที่ยวประเทศลาว เพื่อไม่ต้องมาประชุม ผมถือว่าพฤติกรรมเหล่านี้เป็นพฤติกรรมที่เลวทรามมาก มันไม่ควรจะเกิดขึ้นในพรรคประชาธิปัตย์ที่เป็นสถาบันทางการเมือง”
“เฉลิมชัย ศรีอ่อน” เลขาฯ ปชป. แถลงซัดหนักเลยหลังการประชุมวิสามัญพรรคประชาธิปัตย์ครั้งที่ 2 ล่มอีก ด้วยเหตุไม่ครบองค์ประชุม
สาเหตุจากองค์ประชุมไม่ถึง 250 คน ตามข้อบังคับพรรค โดยมีองค์ประชุมมาลงชื่อร่วมประชุมเพียง 223 คน ขาดอีก 27 คน โดย นายเฉลิมชัย กล่าวประณามว่าเป็นพฤติกรรมเลวร้ายที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน โดยเฉพาะคำประกาศอุดมการณ์ของพรรค ข้อที่ 1 พรรคจะดำเนินการโดยวิถีทางบริสุทธิ์ แต่ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นสร้างความเสียหายกับพรรคเป็นอย่างมากมีการถามกันมาก ถึงเบื้องหน้าเบื้องหลังที่ทำให้องค์ประชุมประชุมไม่ครบ ไม่สามารถประชุมต่อเพื่อเลือกหัวหน้าพรรคคนใหม่ได้ ซึ่งการประชุมแต่ละครั้ง ต้องใช้งบประมาณถึง 3-4 ล้านบาท ทั้งค่าสถานที่ ค่าอาหาร ค่าเดินทาง ค่าที่พักขององค์ประชุม
จากการตรวจสอบในเชิงลึกของ “นายหัวไทร” พบว่า องค์ประชุมที่เข้าร่วมลงชื่อ 233 คน ส่วนใหญ่เป็น ส.ส./อดีต ส.ส./รัฐมนตรี /อดีตรัฐมนตรี /แต่ที่น่าจะขาดหายไปคือ ตัวแทนพรรคในแต่ละจังหวัด และ ตัวแทนสาขาพรรค ที่ชัดเจนคือตัวแทนจากภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ที่ออกแถลงการณ์หลังการประชุมล่ม ยืนยันว่า เป็นมาตรการ “อารยะขัดขืน” และ ตอกย้ำว่าเป็นมาตรการสากล ที่ฝ่ายไม่เห็นด้วยใช้กัน เพราะไม่อาจสู้ในห้องประชุมได้ “ทำนองเสียงข้างมากลากไป” จึงต้องใช้มาตรการ “ไม่เข้าเป็นองค์ประชุม” หรือ “วอล์คเอาท์”
ในการประชุมวิสามัญพรรคประชาธิปัตย์ครั้งที่ 2 เราถึงได้เห็น “มาตรการไม่เข้าร่วมเป็นองค์ประชุม” ซึ่งจากจำนวนองค์ประชุมที่ลงชื่อ 223 คน มี 70 คน ที่พร้อม “วอล์คเอาท์” หากองค์ประชุมเฉียดครบ 250 คน ก็จะทำให้องค์ประชุมไม่ครบอีกเช่นเดิมถามว่า เบื้องหน้าเบื้องหลังของเกมนี้ใครกำหนด ใครเดินเกม หาคำตอบไม่ยาก เช็คเสียงโหวตเตอร์ดูว่า ส่วนใหญ่เป็นของขั้วไหน ขั้วจะร่วมรัฐบาล (เฉลิมชัย /นายกฯชาย) หรือ ขั้วไม่ร่วมรัฐบาล (ชวน /บัญญัติ) ขั้วไหนที่คิดว่า “แพ้” ฝ่ายนั่นแหละคือ คนกำหนดเกม
ข้อเท็จจริงคือ เมื่อคืนก่อนการประชุมโหวตเตอร์มากันพร้อมหมด ส่วนที่บอกว่าไปเที่ยว สปป.ลาว เป็นเพียงส่วนน้อย แต่คืนก่อนประชุมทั้งคืน เช็คกระแสโหวตเตอร์กันละเอียดยิบ การไม่ลงชื่อเข้าร่วมประชุม จึงเป็นมาตรการที่ถูกกำหนดขึ้นจากฝ่ายที่มีแนวโน้มว่าจะแพ้การโหวต และ ถือเป็นมาตรการสากล “อารยะขัดขืน” จากเสียงข้างน้อย ที่เสียงข้างมากต้องเงี่ยหูฟัง
ทำไม “เฉลิมชัย” ถึงออกมาโวยวายแบบไม่ไว้หน้าอินทร์หน้าพรหม ฟาดงวงฟาดงาถึงผู้อาวุโสว่า ขวางทุกเรื่อง ไม่เปิดทางให้คนรุ่นใหม่ เพราะคืนก่อนประชุม เช็คเสียงโหวตเตอร์กันชัดเจน และ “จัดการ” กันหมดทุกคนแล้ว ทั้ง สส.และ โหวตเตอร์อื่น แบบ “สมน้ำ-สมเนื้อ” สส.21 คน โหวตเตอร์อื่นอีก 200 กว่าคน อิ่มหมีพีมัน และโซซัดโซเซออกจากร้านอาหารย่านวิภาวดีรังสิต ก่อนกลับไปพักผ่อน แต่สุดท้ายหมากไม่เป็นไปตามเกม แต่เงินที่ใช้ในการจัดการส่วนตัวต่อครั้งน่าจะมากกว่านี้ จึงมีน้ำเสียงไม่พอใจต่อผลที่ออกมาเลือดเนื้อเชื้อไขของประชาธิปัตย์ ต้องเกิดจากเบ้าหลอม ที่มาจากคำประกาศเจตนารมณ์ และ อุดมการณ์ 10 ข้อของพรรคประชาธิปัตย์ ตั้งแต่แรกเริ่มก่อตั้งพรรค โดย ควง อภัยวงค์ แต่ผู้สืบทอดเจตนารมณ์รุ่นหลัง ไม่รู้ว่าได้ซึมซับเจตนารมณ์ และอุดมการณ์ของพรรคประชาธิปัตย์ไปมากน้อยแค่ได้ หรือ ได้แค่ว่า “เป็นสมาชิกพรรคประชาธิปัตย์” และท่องจำว่า พรรคประชาธิปัตย์พรรคของเรา แต่จิตวิญญาณของความเป็นประชาธิปัตย์ไม่ได้ซึมลึกเข้าไปในจิตสำนึกรับผิดชอบ จิตวิญญาณ เจตนารมณ์ อุดมการณ์ของประชาธิปัตย์ ไม่อาจจะออสโมซีสเข้าไปในสมองได้ครับ เป็นเรื่องของการศึกษา เรียนรู้ สะสม บ่มเพาะจนสุกงอม กลายเป็น “จิตวิญญาณประชาธิปัตย์”
หลับตานึกไปไม่ต้องไกลมาก ให้นึกถึง สุรินทร์ มาสดิตถ์, สัมพันธ์ ทองสมัคร, ชวน หลีกภัย, บัญญัติ บรรทัดฐาน, สุทัศน์ เงินหมื่น, สุรินทร์ พิศสุวรรณ, ขุนทอง ภูผิวเดือน, ไพฑูรย์ แก้วทอง, เทอดพงศ์ ไชยนันท์, ชำนิ ศักดิเศรษฐ์ วิทยา แก้วภราดัย, สุพัตรา มาสดิตถ์, ไสว พัฒโน, อาคม เอ่งฉ้วน, สมบูรณ์ สิทธิมนตร์, วีระ มุสิกพงศ์ และ อีกหลายๆคน
ผู้นำพาประชาธิปัตย์ไปสู่ความเจริญ รุ่งโรจน์ แต่วันนี้หลับตานึกดูครับว่า จะมีใครนำพาประชาธิปัตย์ กลับฟื้นคืนชีพมา นึกถึง เฉลิมชัย ศรีอ่อน, เดชอิศม์ ขาวทอง , มาดามเดียร์ -วทันยา บุนนาค, ดร.เอ้-สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์, นราพัฒน์ แก้วทอง, ติ่ง-มัลลิกา บุญมีตระกูล มหาสุข เป็นต้นบอกตามตรงว่า “มืดมน” มองไม่เห็นทางออกของพรรคประชาธิปัตย์ ยิ่งมีกลุ่มก้อนทางการเมืองบางกลุ่ม ที่ไม่แยแส ไม่สนใจว่า ประชาธิปัตย์จะเป็นจะตาย ไม่นึกถึงพรรคในตำนาน ไม่นำพาต่อพรรคที่เป็นสถาบันทางการเมือง อันเป็นที่พึ่งที่หวังของประชาชน ยิ่งกว่า “มืดมน”อีก
เชื่อเหลือเกินว่า ถึงวันหนึ่งกลุ่มก้อนทางการเมือง ที่ไม่ได้แยแสต่อชะตากรรมของพรรค เมื่อพรรคตกต่ำถึงที่สุดแล้ว เขาก็ถีบหัวเรือส่ง และ กระโดดขึ้นฝั่ง หาเรือลำใหม่ที่จอดทอดสมอรออยู่แล้ว
หรือว่าถึงเวลาจัดประชุมหน้าเมรุตามที่ “เดชม์อิศ” กล่าวไว้ จบประชุมก็เผาเลย หรือ กางเต็นท์ จัดประชุมจะได้ประหยัดงบประมาณตาม “เฉลิมชัย” เสนอ วุฒิภาวะคิดได้แค่นี้เหรอ !
#นายหัวไทร #ทำเฒ่าเรื่องเพื่อน #เลือกหัวหน้าประชาธิปัตย์