ม.เกริก ประสพความสำเร็จ ผลิตนักศึกษารุ่นแรก “ไทย – ซาอุฯ” เพื่อปฏิบัติงานดูแล ฮุจญาจ หรือ ผู้แสวงบุญ ในการร่วมมือยกศักยภาพ Gen Z สู่เส้นทาง Hajj & Umrah Services Management ตามนโยบาย Vision 2030
ผลจากการฟื้นความสัมพันธ์ไทย-ซาอุ โดย บริษัทมาชาริก (Mashariq) เพื่อกิจการฮัจย์แห่งราชอาณาจักรซาอุดีอาระเบีย ร่วมกับ วิทยาลัยนานาชาติอิสลามกรุงเทพ มหาวิทยาลัยเกริก จัดงานเลี้ยงมอบรางวัลและเกียรติบัตรให้กับนักศึกษาที่ได้รับคัดเลือกมาฝึกปฏิบัติงานจริงในภาคสนามเพื่อการดูแลฮุจญาจ (ผู้แสวงบุญ) ชาวไทยกว่า 12,000 คนที่เดินทางมาประกอบพิธีฮัจย์ในปี พ.ศ. 2566 เมื่อวันที่ 17 กรกฎาคม 2566 ที่ผ่านมาโดยมี เชค อาลี บิน ฮุเซ็น อาลี บันดักญีย์ ประธานกรรมการบริหาร เชค มะห์มูด บิน อากี้ล ดะมันฮูรีย์ เชค ดร.อุสมาน บิน ฮะซัน อิดรีส และ กรรมการบริหารบริษัทระดับสูงร่วม ให้การต้อนรับนักศึกษาและคณาจารย์จากมหาวิทยาลัยเกริกที่มากำกับดูแล โดยได้กล่าวใจความสำคัญตอนหนึ่งว่า “นักศึกษาจากไทยสร้างความประทับใจ และปฏิบัติงานเกินความคาดหมาย มีความขยัน ตั้งใจ ช่วยเหลือทั้งที่อยู่ในศูนย์ปฎิบัติงานและภาคสนาม จนทำให้ผู้ร่วมงานและฮุจญาจไทยกล่าวชื่นชม แม้ว่าการดูแลคนหมู่มาก จะไม่ใช่เรื่องง่าย ต้องแก้ไขสถานการณ์เฉพาะหน้าอยู่ตลอด ผมขอแสดงความยินดีที่นักศึกษาทุกคนผ่านการฝึกปฎิติงานจริง ที่สำคัญ ผมต้องขอขอบคุณคณาจารย์จากมหาวิทยาลัยเกริกที่ทุ่มเท เสียสละ กำกับดูแลนักศึกษามาตั้งแต่ต้นจนเสร็จสิ้นภารกิจ”ในขณะที่เชค ดร.อุสมาน บิน ฮะซัน อิดรีส กรรมการบริหารบริษัทระดับสูง ได้กล่าวชื่นชมนักศึกษาฝึกงาน ม.เกริก ทุกคนว่า มีความกระตือรือร้นพร้อมที่จะเรียนรู้สิ่งใหม่ ๆ และประสบการณ์ที่ได้รับครั้งนี้ถือเป็นคุณค่าในช่วงชีวิต หวังว่านักศึกษาทุกคนจะนำประสบการณ์เหล่านี้ไปประยุกต์กับการเรียนในวิชาการบริหารการจัดการฮัจย์และอุมเราะห์ และพัฒนาศักยภาพตนเองต่อไป ทั้งนี้บริษัทมาชาริกได้เชิญ นายประสาท ศรแดง ผู้แทนกงสุลใหญ่ ณ เมืองเจดดาห์ อาจารย์สราวุธ และซัน รองคณบดีฝ่ายบริหารและวิเทศสัมพันธ์ ดร.ปริญญา ประหยัดทรัพย์ ผู้อำนวยการหลักสูตรปรัชญาดุษฎีบัณฑิตสาขาวิชาบริหารธุรกิจอิสลาม และ อาจารย์ศรสวรรค์ มะหะหมัด จากมหาวิทยาลัยเกริกเข้าร่วมงานด้วย โดยนายประสาท ศรแดง ได้ขึ้นกล่าวบนเวทีว่า ” การฟื้นความสัมพันธ์ไทย-ซาอุดีอาระเบีย มี 2 ระดับด้วยกัน ระดับแรกเป็นการฟื้นความสัมพันธ์ระดับประเทศ โดยในช่วงเวลาที่ผ่านมา นายกรัฐมนตรีและคณะรัฐมนตรีหลายท่านได้เดินทางหารือและฟื้นความสัมพันธ์ระหว่างกันในหลายมิติ เกิดการเปลี่ยนแปลงในทางที่ดีขึ้นทั้งในด้านการค้าและการลงทุน
ระดับที่สองเป็นการฟื้นความสัมพันธ์ระดับประชาชนและองค์กรต่าง ๆ ซึ่งโครงการฝึกงานพัฒนาบุคลากรด้านฮัจย์ในครั้งนี้ ถือเป็นหนึ่งในการสร้างความร่วมมืออย่างเป็นรูปธรรมที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนหน้านี้ นับเป็นความร่วมมือระหว่างบริษัทในซาอุดีอาระเบียและมหาวิทยาลัยในไทยแห่งแรก และเราหวังว่าโครงการความร่วมมือเช่นนี้จะมีต่อไปเรื่อย ๆ เพื่อเป็นการพัฒนาการศักยภาพบุคลากรด้านกิจการฮัจย์ร่วมกัน”ขณะที่ ดร.ปริญญา ประหยัดทรัพย์ ผู้อำนวยการหลักสูตรปรัชญาดุษฎีบัณฑิตสาขาวิชาบริหารธุรกิจอิสลาม ได้กล่าวขอบคุณผู้บริหารบริษัทมาชาริกและผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องทุกคนที่ได้มอบโอกาสอันล้ำค่าให้กับนักศึกษาของวิทยาลัยฯ มาฝึกงานปฎิบัติงานจริง ซึ่งถือว่าเป็นความฝันของบรรดาคณาจารย์ตั้งแต่ต้นของการเปิดหลักสูตรการเรียนการสอนในเอกการจัดการบริการฮัจย์และอุมเราะห์ วันนี้เราภาคภูมิใจที่ได้เติมเต็มความฝันของพวกเราด้วยกับการหยิบยื่นโอกาสของบริษัทมาชาริกและผลของรัฐบาลที่สานความสัมพันธ์ระหว่างไทย-ซาอุดีอาระเบีย เราหวังว่า จะมีการสานต่อโครงการดี ๆ แบบนี้ให้นักศึกษาต่อไปในทุก ๆ ปีในช่วงท้ายของงานเชคอาลี บิน ฮุเซ็น อาลี บันดักญีย์ ประธานกรรมการบริหารได้มอบของรางวัลและประกาศนียบัตร พร้อมกับกล่าวในช่วงท้ายว่า “การฝึกปฏิบัติงานจริงถือเป็นการเรียนรู้ที่ไม่สามารถหาได้จากตำรา โดยเฉพาะการปฏิบัติงานในช่วงเทศกาลฮัจย์ ซึ่งในแต่ละปี เราจะพบเรื่องราวและปัญหาให้คิดแก้ไขและจัดการแบบไม่ซ้ำกัน การปฏิบัติงานเกี่ยวกับกิจการฮัจย์เป็นงานเฉพาะกิจที่ต้องเข้าใจบริบทของฮัจย์ ไม่เหมือนกับงานอื่น ๆ ทำงานไม่มีเวลาประจำใครที่ผ่านงานนี้แล้วจะรับรู้และสัมผัสได้ว่า แม้พวกเราจะรู้สึกเหนื่อยล้าเพียงใด ทำงานกันดึกดื่นแค่ไหน ก็ต้องสู้ ต้องอดทน ดูแลฮุจญาจให้ดีที่สุดเท่าที่จะทำได้ ทำให้นักศึกษาผู้ผ่านงานมีจิตใจที่เข้มแข็ง ผมดีใจที่ทุกคนเป็นส่วนหนึ่งของงานนี้ และผมพร้อมจะส่งเสริมและสานต่อโครงการนี้ในทุก ๆ ปี และมี้เป้าหมายจะเพิ่มจำนวนนักศึกษาที่ได้รับทุนให้มากขึ้นด้วย บริษัทฯ ยังได้ทาบทามนักศึกษาดังกล่าวเพื่อมาฝึกงานด้านการจัดการอุมเราะห์ในอันใกล้นี้ เนื่องจากสาขาที่ทางมหาวิทยาลัยเปิดสอนตรงกับบริบทของบริษัทที่ดูแลและบริหารเกี่ยวกับการจัดการกิจการฮัจย์และอุมเราะห์ และในเมื่อนักศึกษาได้รับการฝึกงานในกิจการฮัจย์แล้ว ควรได้ร้บการฝึกงานทางด้านการจัดการอุมเราะห์ด้วยเช่นกัน