‘พิธา’ ห่วงคว่ำญัตติเพื่อสกัดนั่งนายกฯ ดึงสติ จะกระทบทั้งระบบ ย้ำ หากโหวตรอบ 2 ไม่ผ่าน พร้อมถอยเพื่อให้ประเทศเดินหน้าต่อ แต่ 8 พรรคต้องลงเรือลำเดียวกันเพื่อตั้งรัฐบาล ไม่ตอบชัดปมถอยแก้มาตรา 112 บอกคำอภิปราย ส.ว. ส่อยืดหยุ่น คุยกันได้
วันที่ 18 ก.ค.2566 ที่รัฐสภา ก่อนการประชุม ส.ส.พรรคก้าวไกล นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกลและแคนดิเดตนายรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์ก่อนเข้าร่วมประชุม ส.ส.ของพรรค ภายหลังวิป 3 ฝ่ายยังไม่มีข้อสรุปว่าจะเสนอชื่อนายพิธา เพื่อโหวตนายกรัฐมนตรีครั้งที่สองได้หรือไม่ ว่า ตนยังไม่ได้อัพเดทหลังจากเดินสายให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนตลอดช่วงเช้า จะมาฟังผลการประชุมพรรคในช่วงบ่าย ทั้งเรื่องข้อบังคับการประชุม รวมถึงเรื่องต่างๆ โดยจะใช้เวลานี้คุยกับ ส.ส.ภายในพรรค ทำให้ยังไม่ทราบรายละเอียด
ส่วนกังวลหรือไม่ เพราะขณะนี้ยังไม่แน่ชัดว่าจะเสนอชื่อนายพิธาได้หรือไม่นั้น นายพิธา ย้ำว่าตนยังไม่ทราบรายละเอียด ทำให้ไม่รู้ว่าควรจะต้องกังวลหรือไม่ต้องกังวล แต่เมื่อวานที่ประชุม 8 พรรคร่วมได้อธิบายในแง่กฏหมายของทุกพรรค ฝ่ายกฎหมายหลายพรรคได้มาคุยกันว่าการโหวตนายกรัฐมนตรีเป็นเรื่องของรัฐธรรมนูญ การอ้างระเบียบข้อบังคับนั้นไม่เกี่ยว หรือหากเป็นญัตติก็ต้องพูดให้ชัด แต่เรื่องนี้ไม่ใช่ และก็มีหลายมุม ซึ่งต้องขอรอฟังที่ประชุม ส.ส.ให้อัพเดทให้ตนฟังก่อน
เมื่อถามว่าหากมีการโหวตได้เสียงที่เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยยะสำคัญ เป็นตัวเลขเท่าไรนั้น นายพิธา ระบุว่า เป็นไปตามที่สื่อสารคือเพิ่มขึ้น กว่า10% ประมาณ 340-350 กว่าเสียง ก็จะเห็นว่าเป็นทิศทางที่ดี ที่เข้าใกล้เป้าหมาย รวมถึงเรื่อง ม.272 ที่ดำเนินการโดยพรรคก้าวไกลเองก็ได้ให้สัมภาษณ์ไปแล้วว่า ไม่ได้ตัดสินใจด้วยอารมณ์ หรือถ่วงเวลาใดๆ ทั้งสิ้น แต่ตัดสินใจด้วยสถิติในการโหวต ปิดสวิตซ์ ส.ว.เมื่อเดือน พ.ย.ปี 63 ,เดือน พ.ค.ปี 64 และเดือน ก.ย.ปี 65
เมื่อถามว่าพรรคเพื่อไทยพูดถึงความพร้อมในการจัดตั้งรัฐบาลแต่ต้องมีการเปิดทางจากพรรคก้าวไกลก่อน นายพิธา พยักหน้ารับ และกล่าวว่า “ครับ เมื่อถึงเวลาก็เป็นแบบนั้น”
ส่วนจะต้องเตรียมแผนสำรองและเสนอชื่อคนที่จะมาโหวตเป็นนายกรัฐมนตรีแทนหรือไม่นั้น นายพิธา กล่าวว่า ยังไม่เห็นสถานการณ์ที่จำเป็นจะต้องทำแบบนั้น ตนอยากฟังสถานการณ์ก่อน ไม่ว่าจะเป็นการยื่นกฎหมาย หรือที่ประชุมวิป 3 ฝ่าย
ส่วนการเสนอปรับ MOU ใหม่ จะมีแผนหรือกรอบอย่างไรหรือไม่นั้น นายพิธา กล่าวว่า MOU ยังเหมือนเดิมอยู่ และยังไม่ได้รับการติดต่อจากพรรคไหนว่าจะมีการเปลี่ยนแปลง วันนี้ตนยังไม่มีโอกาสได้ฟังข้อเท็จจริง มีเพียงฟังผู้สื่อข่าว ซึ่งจะต้องขอไปคุยกับพรรคร่วมทั้ง 8 พรรคก่อนหากมีการปรับเปลี่ยน พร้อมยืนยันว่า หากได้รับผลลัพธ์ ก็สามารถปรับยุทธศาสตร์ไปได้เรื่อยๆ เพื่อให้ได้ผลลัพธ์ตามที่ต้องการ
กรณีที่ ส.ว.ระบุว่าหากพรรคก้าวไกลไม่แก้ ม.112 ก็จะโหวตให้นั้น นายพิธา กล่าวว่า จากการอภิปรายเมื่อวันที่ 13 ก.ค.เป็นโอกาสที่ทำให้เห็นภาพได้มากขึ้น ตนเห็นว่าบางคนคิดว่าเป็นเรื่องความยืดหยุ่นมากกว่า ว่าใครจะเป็นคนฟ้องผู้กระทำผิด เพื่อที่จะให้ไปสู่เป้าหมายเดียวกัน คือ เป้าหมายที่ไม่ให้ใครเอากฎหมายมาตรานี้มารังแกกัน ไม่ใช่ใครก็ได้ที่จะเป็นคนฟ้อง บางคนบอกว่าต้องเป็นนายก บางคนก็บอกว่าต้องเป็นคณะกรรมการ ซึ่งที่จริงแล้วการอภิปรายเมื่อวันที่ 13 ก.ค.ทำให้เราเข้าใกล้กันมากขึ้น ไม่ใช่แค่เรื่องแก้หรือไม่แก้ตนรู้สึกว่ามีความคืบหน้าเหมือนกันในเรื่องแบบนี้ จากที่ไม่เคยคุยกันก่อน
“แสดงว่ายังมีรายละเอียดที่ยืดหยุ่นและพูดคุยกันได้ ไม่ใช่แค่เป็นเส้นกั้นเท่านั้น แต่มันกลายเป็นความเป็นไปได้ที่มีการพูดคุยกันมากขึ้น ถือเป็นเรื่องที่น่าสนใจ ไม่ใช่แค่ว่ากันในสภา แต่พูดถึงกันในสังคมไทยจริงๆ”
ส่วนที่กลุ่ม ส.ว.พยายามคว่ำการโหวตรอบ 2 ก่อนที่จะมีการอภิปรายนั้น นายพิธา กล่าวว่า หากทำเพื่อสกัดกั้นตนคนเดียวแล้ว จะกลายเป็นเรื่องของระบบทั้งหมด
“อีกหน่อยถ้ามันมัดผม มัดพรรคผม มันก็จะมัดพรรคที่สอง พรรคที่สาม พรรคที่สี่ และผมเข้าใจว่าถ้าเป็นในเชิงรัฐศาสตร์ การเสนอชื่อแคนดิเดตนายกรัฐมนตรี กับญัตติ ต่อไปนี้ ถ้ามีคนที่มาดำรงตำแหน่งทางการเมืองที่ต้องมีการเสนอชื่อ ก็จะกลายเป็นญัตติหมด ไม่ว่าจะเป็นศาลหรือสภาแล้วโดนแบบนี้มันจะกลายเป็นการผูกที่แก้ยากมากๆ และจะเป็นปัญหาต่อไปในอนาคตของคนที่เข้ามาดำรงตำแหน่งทางการเมือง มันเรื่องใหญ่ วันนี้ต้องดึงสติกันให้ชัด มันคือความแตกต่างระหว่างเสนอชื่อกับญัตติ และถ้าอันไหนที่เป็นมาตราที่ต้องเป็นญัตติในรัฐธรรมนูญเขียนไว้ชัด ว่าอย่างงี้ต้องเข้าชื่อแล้วยื่นญัตติ กับอีกอันที่อยู่กันละหมวดแล้วไม่มีการพูดถึง ผมคิดว่าถ้าไปตีความสกัดไม่ให้เป็นผม ผมว่าแบบนี้น่ากลัว”
เมื่อถามว่า เป็นเพราะความพยายามสลับขั้วการตั้งรัฐบาลหรือไม่ นายพิธา กล่าวว่า ไม่สามารถฟันธงได้ แต่หากสกัดกั้นตน ก็เป็นสิ่งที่ไม่น่าจะทำ
เมื่อถามว่ายืนยันหรือไม่ว่าหากเพื่อไทยเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาลพรรคก้าวไกลจะอยู่ในสมการเดียวกัน นายพิธากล่าวว่า นั่นเป็นสิ่งที่ประชาชนต้องการ เพราะเป็นรัฐบาลที่ร่วมกันจัดตั้ง 8 พรรคมี MOU กันมาอย่างชัดเจน และทำงานมาถึงขั้นนี้แล้ว ตนก็คิดว่าหากตนในฐานะพรรคอันดับ 1 ไปต่อไม่ได้ ก็ส่งไม้ให้พรรคอันดับ 2 ก็คิดว่าคงจะอยู่ในเรือลำเดียวกัน ร่วมกันมา และตั้งรัฐบาลแห่งความหวังของประชาชน
ส่วนจะมีเงื่อนไขอะไรที่จะดึงพรรคอื่นมาร่วมรัฐบาลหากมีการปรับ MOU นั้นนายพิธา ระบุว่า ยังไม่มี และให้ยึดตามแถลงเมื่อวานนี้
นายพิธา ยังกล่าวถึงกรณีที่แกนนำพรรคภูมิใจไทย บอกให้ลดเพดานแล้วพร้อมจะโหวตให้นั้นว่า ตนไม่แน่ใจว่าข้อเสนอนี้ยังอยู่หรือจบไปแล้ว เพราะเห็นจากสื่อว่าจบไปแล้ว จึงไม่ใช่เรื่องที่จะต้องนำมาวิเคราะห์กัน